นิทานเรื่อง กองไฟศักดิ์สิทธิ์

ณ เมืองแห่งหนึ่งอันไกลโพ้นและแปลกแยก กองไฟได้ถูกจุดขึ้นกลางจัตุรัสศักดิ์สิทธิ์ มันมีไว้เผาทั้งเป็นมนุษย์ที่ขัดขืนไม่เชื่อฟัง ผู้คนถูกจับโยนลงกองเพลิงรายแล้วรายเล่า โดยคนที่เหลือได้แต่ยืนดู บางคนก้มหน้า 
..กับหลายคนที่ยิ้มเยาะสะใจ

ไฟกองนี้ไม่เคยมอดดับ มันสุกสว่างข้ามห้วงรัตติกาล และประจันหน้ากับแสงอาทิตย์ในโมงยามที่กลางวันเดินทางมาถึง ประหนึ่งประกาศจุดยืนท้าทายความนิรันดรของเวลา กองไฟมิเพียงลุกโชนผลาญร่างกบฏเท่านั้น แต่ลมหายใจของเปลวเพลิงยังแทรกเร้นเข้าไปเผาไหม้ดวงวิญญาณมนุษย์แทบทุกคนในเมืองนี้จนแห้งเหือดซึ่งหัวใจแห่งเสรี เหลือเพียงกายอันสยบยอมและทานทน

มนุษย์ในเมืองนี้เป็นมนุษย์แต่เพียงนาม พวกเขาไม่เคยสามารถใช้สมการเหตุผลอย่างซับซ้อน เพราะเมื่อใดที่เริ่มทำเช่นนั้น มันจะลวงลากเขาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ให้ไปสู่คำถามพื้นฐานที่สุด แต่น่าหวาดกลัวที่สุดที่ว่า ชีวิตเราเป็นของใคร ชะตาอนาคตเราใครกำหนด เสรีภาพคืออะไร เสมอภาคคืออะไร รัฐที่ดีควรเป็นอย่างไร และอื่นๆ มันเป็นบรรดาคำถามที่นำไปสู่ความเป็นมนุษย์โดยแท้ พร้อมกับเป็นคำถามที่อาจพาไปสู่ความตายด้วยเช่นกัน และสำหรับคนปกติ มันง่ายกว่ามากที่จะเลือกการดำรงอยู่ของร่างกายมากกว่าวิญญาณเสรีอันไร้กายา

ความหวาดกลัว ความไม่มั่นใจในตนเองและคนอื่น เป็นคุณสมบัติหลักของมนุษย์ในเมืองนี้ กองไฟไม่เคยเปิดพื้นที่ให้กับความสงสัย และความทะเยอทะยานใดที่จะตัดสินชะตากรรมตนเอง พวกเขาเป็นเจ้าชีวิตตนเองตราบเท่าที่เจ้าชีวิตตัวจริงอนุญาต มนุษย์ในเมืองนี้จึงเป็นมนุษย์แต่เพียงนาม เพราะโดยแก่นแท้ที่ถูกซุกซ่อน และกระอักกระอ่วนจะยอมรับ พวกเขาเป็นวัตถุแห่งการกระทำ (object) มิใช่ผู้กระทำการทางสังคม (subject)

อาจนานจนใครหลงลืมไปแล้ว แต่ในอดีตพวกเขาเคยมีหวังมากกว่านี้ มีความมั่นใจมากกว่านี้ และเชื่อใจกันมากกว่านี้ มันกร่อนพังลงหลังจากรัฐปั่นหัวด้วยเครื่องมือต่างๆ ทั้งระบบการศึกษา ระบบการรับเข้าทำงานและเลื่อนตำแหน่ง ภาพยนตร์ ละคร การสร้างสัญลักษณ์ร่วมแห่งความกลัวความเกลียดชังความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย กิจกรรมทางวัฒนธรรม พิธีกรรมทางศาสนา ฯลฯ ทุกมาตรการรวมศูนย์เป้าหมายอยู่ที่การทำให้ผู้คนค้อมหัวลง และสำเหนียกถึงความต่ำต้อยด้อยค่าของตน มันคือลัทธิเดียวกับเยอรมันยุคการขึ้นมาของฮิตเลอร์ มันคือลัทธิเดียวกับประเทศโอชันเนียในวรรณกรรม 1984 และมันไม่ต่างจากยุคของเพื่อนในการ์ตูนเรื่องทเวนตี้เซนจูรี่บอย
สภาพการณ์เป็นไปโดยขัดกับข้อเท็จจริงตามธรรมชาติที่ว่า มนุษย์เป็นสิ่งประดิษฐ์ของพระเจ้า เสรีภาพในลมหายใจและความคิดของมนุษย์จึงเป็นของเขาเองโดยสมบูรณ์และเท่าเทียมกันทุกคน ไม่อาจมีใครอื่นใดพรากมันไปได้ เว้นเสียแต่พระเจ้า ความไม่สมบูรณ์แบบเองก็เป็นคุณสมบัติของมนุษย์เช่นกัน เพราะหากมนุษย์ไร้ที่ติ เขาย่อมมีสถานะเทียบเท่ากับพระเจ้า และก็ย่อมไม่ใช่มนุษย์ มนุษย์จึงเต็มไปด้วยความขาดๆ เกินๆ และขาดแคลนสภาวะอนันต์

… แต่ระบอบการปกครองแบบใดกันที่มนุษย์คนหนึ่งกลุ่มหนึ่งเผยอตัวว่าเหนือกว่าคนอื่น และกล่าวอ้างว่าสามารถเลือกทางเดิน(ที่ดี)ให้กับมนุษย์คนอื่นๆ ได้ ?

… ระบอบการปกครองแบบใดกันที่ไม่ยอมรับให้มีกลไกตรวจสอบความบกพร่องของมนุษย์ด้วยกัน ?

… ระบอบการปกครองแบบใดกันที่มนุษย์คนหนึ่งกลุ่มหนึ่งสามารถตัดสินพรากชีวิตและกำจัดความคิดคนอื่น ?

… ระบอบการปกครองแบบใดกันที่มนุษย์คนหนึ่งกลุ่มหนึ่งชูสถานะตัวเองว่าสมบูรณ์แบบ ไม่เคยผิด ?

เหล่านี้เป็นคำถามที่นำมาสู่การจุดกองไฟ และไฟนั้นไม่เคยมอดดับลงนับแต่วันนั้น พร้อมกับที่มนุษย์ในเมืองนี้ค่อยๆ เลิกตั้งคำถามดังกล่าว ความหวาดกลัวที่ปกคลุมหัวใจ และเปลวไฟที่เร้นซึมเข้ามอดไหม้ถึงแก่นดวงวิญญาณความเป็นคน มันง่ายมากที่พวกเขาจะถูกชะล้างความทรงจำเดิม แล้วบรรจุลงไปซึ่งความหมายใหม่ในห้วงคำนึง … “บรรดาผู้ตั้งคำถามคือศัตรูผู้ทำลายความสงบสันติ” … รัฐทำสำเร็จในที่สุด แม้ไม่ทั้งหมด 
แต่ครอบคลุมจำนวนคนมากพอที่จะสนับสนุนการเผาคนในกองเพลิง

วันผ่านนานเนิ่น เข็มเวลาเสียดแทงทำลายตัวตนของหลายคนจนเหลือเพียงร่างทรงของรัฐ ที่ไร้ความคิดเป็นของตนเอง กระทั่งวันหนึ่ง คนรุ่นใหม่อีกกลุ่มเริ่มตั้งคำถามที่ควรถามอีกครั้ง มันเป็นคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ และไม่ดูก็คาดเดาได้ว่ามันย่อมจบลงในแบบเดิมๆ

ตามคาด … พวกเขาถูกก่นด่า ใส่ร้าย  กล่าวหา เติมแต่ง แต่ยิ่งมากเท่าไหร่ นั่นยิ่งแสดงว่าพวกเขาได้กระทุ้งโดนจุดที่อ่อนไหวในจิตใจผู้คนเมืองนี้เข้าอย่างจัง น่าเสียดายที่กองไฟและการครอบงำของรัฐตลอดมาทำให้ผู้คนไม่อาจคิดถึงวิธีจัดการกับคำถามเหล่านั้นในแบบวิธีที่มนุษย์ควรทำได้

วันที่เด็กเหล่านั้นถูกจับ มันเป็นวันร้อนระอุวันหนึ่งในฤดูที่ควรชุ่มฉ่ำไปด้วยฝน พวกเขาส่งยิ้มให้กับทุกคนที่มาเป็นสักขีพยานการลงโทษของรัฐ รวมทั้งบรรดาคนที่สบถด่าพวกเขา เด็กๆ เตรียมพร้อมจะเดินเข้ากองไฟลงไปด้วยตนเองอย่างไม่ยี่หระ ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าประหลาดนักในสายตาคนทั่วไป

มันคือการฆ่าตัวตายชัดๆ – ข้าพเจ้าคิด … เพราะหลังวันนี้ไปทุกอย่างก็เหมือนเดิม ไฟยังคงลุกโชนข้ามวันคืน รัฐยังทรงอำนาจ และมนุษย์ยังสยบยอม

ทว่าอีกเสียงหนึ่งของข้าพเจ้ากลับดังขึ้นเรื่อยๆ ว่าแม้จะเป็นเช่นนั้น หากแต่สารที่พวกเขาสื่อออกมาโดยตลอดมันชัดเจน เด็กเหล่านี้ถามในสิ่งที่พวกเราคิดแต่ไม่กล้าถาม และทำตัวอย่างให้ผู้ใหญ่ดู ไม่ใช่เพื่อหักหน้า ไม่ใช่เพื่อทำลายเกียรติ แต่เพราะพวกเขาเชื่อมั่นในเหตุผล เชื่อมั่นความเป็นมนุษย์ของพวกเรา อย่างที่ตัวเรายังไม่เชื่อมั่นไว้ใจตัวเอง และหวังว่าคนอื่นจะลุกขึ้นช่วยกันดับกองไฟที่มันไม่ควรตั้งอยู่กลางจัตุรัสเมืองเพื่อเผาใครต่อใคร

ด้วยความหมายที่พวกเขาเชื่อมั่นแบบนั้น เด็กเหล่านี้จึงเลือกเป็นไม้ขีดไฟที่จุดขึ้นเพียงครู่เพื่อปลุกสติ เหตุผลของผู้คนให้หวนตื่น

แม้จะมีคำถามอีกมากมาย เช่น ทำไมพวกเขาเลือกทางนี้ มันได้คุ้มเสียหรือไม่ ฯลฯ แต่คำถามหนึ่งที่โผล่แหลมขึ้นมามากที่สุด คือ คำถามในฐานะมนุษย์

… เราควรยื่นมือไปฉุดดึงเขาขึ้นจากกองไฟหรือไม่ ?

… ถึงเวลาหรือยังที่มนุษย์จะเชื่อมั่นในมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่แขวนวิญญาณไว้กับอำนาจเบ็ดเสร็จและกองไฟอเวจี ?