ตลาดอาหารฮาลาลทั่วโลกเนื้อหอม พุ่งแรงจนฉุดไม่อยู่


หลายประเทศเร่งเจาะตลาดอาหารฮาลาลกันอย่างดุเดือดเพื่อหวังยึดครองส่วนแบ่งตลาดให้มากที่สุด

กลุ่มอาหารหารฮาลาลในตลาดอาหารฮาลาลกำลังขยายตัวไปข้างหน้าอย่างแรงจนฉุดไม่อยู่แล้วเพราะจำนวนมุสลิมทั่วโลกขยายตัวมากขึ้นและมีรายได้ที่สูงขึ้น จากปัจจุบันนี้ชาวมุสลิมทั่วโลกมีจำนวนเกือบ 1,600 ล้านคน และคาดว่าภายในปี พ.ศ. 2568 ชาวมุสลิมจะมีสัดส่วนเท่ากับ 30% ของประชากรโลก เนื่องจากประชากรมุสลิมมีอัตราขยายตัวที่สูงมาก

ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ชาวมุสลิมในยุโรปมีประชากรเพิ่มขึ้น 140% มาอยู่ที่ 25 ล้านคน ในขณะที่ประเทศออสเตรเลีย มีประชากรชาวมุสลิมเพิ่มขึ้น 250% ในส่วนตลาดใหญ่สำหรับสินค้าฮาลาล คือ ประเทศมุสลิมได้แก่ แอลจีเรีย อิรัก โมร็อกโก  ตูนีเซีย บาห์เรน จอร์แดน โอมาน ตุรกี อียิปต์ คูเวต กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินโดนีเซีย เลบานอน ซาอุดีอารเบีย เยเมน อิหร่าน มาเลเซีย ปากีสถาน ซีเรีย

ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงมาก และที่สำคัญมิได้จำกัดเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปด้วย จึงเป็นตลาดอาหารที่มีเม็ดเงินไหลเข้า-ออก หมุนเวียนมหาศาล ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกหลายประเทศ ทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลาง เพื่อเจาะตลาดฮาลาลกันอย่างจริงจังและดุเดือด ตลาดอาหารฮาลาลสามารถดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลมาก ขึ้นทุกปี แม้ไม่ใช่ประเทศมุสลิมยังขอเข้ามาร่วมด้วย เช่น จีน ซึ่งต้องการแย่งชิงตลาดและกำไรจากการลงทุน แม้แต่ประเทศแคนาดา ก็ยังประกาศตัวเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลของโลกมุสลิม แม้จะมีมุสลิมอาศัยเพียง 300,000 คนเท่านั้น

ส่วนประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม แต่เป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าฮาลาลเช่นกัน คือ อินเดีย ซึ่งมีชาวมุสลิม อาศัยอยู่ 140 ล้านคน จีน มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ 40 ล้านคน สหรัฐอเมริกา มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ 8 ล้านคน ฟิลิปปินส์ มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ 6 ล้านคน ฝรั่งเศสมี ชาวมุสลิมอาศัยอยู่ 6 ล้านคน เยอรมนี มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ 3 ล้านคน อังกฤษ  มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ 1.5 ล้านคน และแคนาดา มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ 800,000 คน เพราะประชากรชาวมุสลิมจำนวนมหาศาลแบบนี้ จึงทำให้กลุ่มสินค้าฮาลาล ทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร ตั้งแต่เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ซอสปรุงรส น้ำผลไม้ เสื้อผ้ากลายเป็นตลาดเนื้อหอมที่หลายประเทศจ้องจะยึดครองโดยพยายามจะทำทุก วิถีทางเพื่อให้ได้ครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าฮาลาลนี้ให้ได้มากที่สุด

บทบัญญัติเกี่ยวกับอาหารฮาลาล

อาหารที่มุสลิมทานหรือสิ่งบริโภคนั้น หากแบ่งตามพระบัญญัติใช้และห้ามที่ปรากฏในอัลกุรอานและซุนนะห์สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

(1) อาหารฮาลาล-หมายถึง-อาหารที่ศาสนาอนุมัติ

(2) อาหารหะรอม หมายถึง อาหารที่ศาสนาไม่อนุมัติ ทั้งสองประการชัดเจนตามที่ปรากฏในบทบัญญัติ

(3) อาหารมัชบูฮฺ หรือ ชุบฮาต หมายถึง อาหารที่ยังมีข้อเคลือบแคลงหรือน่าสงสัย ที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าฮาลาลหรือหะรอมต้องรอจนกว่าจะผ่านการตรวจสอบ พิสูจน์ และวินิจฉัย ช่วงรอตรวจสอบให้หลีกเลี่ยงรับประทานไว้ก่อน เช่น อาจจะผ่านกระบวนการเชือดไม่ถูกต้อง หรือปนเปื้อนนะยีส หรือปะปน/มีส่วนผสมกับเนื้อสัตว์และสิ่งต้องห้ามบางชนิด   (แต่ละข้อมีรายละเอียดค่อนข้างมากควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้)

การตรวจสอบ

สมัยก่อนการตรวจสอบว่าอาหารฮาลาลหรือไม่ ผู้รู้ทางศาสนาได้ทำหน้าที่ติดต่อสอบถามก่อนจะมาวินิจฉัยตามข้อมูลที่ได้มาจากผู้ผลิตเท่านั้น โดยยึดหลักพื้นฐานฮาลาลและฮารอม แต่ไม่ได้มุ่งเข้าไปพิสูจน์ค้นหาความจริงในตัวสินค้า ผลิตภัณฑ์ และตัวอาหาร เนื่องจาก-ขาดเครื่องมือและความรู้ทางวิทยาศาสตร์เมื่อกระบวนการผลิตผ่านระบบเทคโนโลยีมีความซับซ้อนมากขึ้น

world-halal2

ตลาดฮาลาลเป็นของใคร?

ขนาดของตลาดสินค้าฮาลาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารฮาลาลนั้น จากรายงานของรัฐบาลแคนาดาประเมินว่า น่าจะมีมูลค่าอย่างต่ำ 500,000 ล้านดอลลาร์/ปี (ประมาณ 17 ล้านล้านบาท) หากว่าสัดส่วนประชากรชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นเป็น 30 % ของประชากรโลกในระยะเวลา 18 ปีต่อจากนี้ไป ตามที่คาดแล้ว มูลค่าการค้าขายอาหารฮาลาลจะมีสัดส่วนถึง20%ของการค้าโลกทีเดียว

นิตยสารไฟแนนเชียลไทม์ทำนายว่า ตลาดสินค้าฮาลาลโลกจะมีมูลค่าเกินหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ สหรัฐภายในปีค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) คืออีกสามปีข้างหน้า

ผู้ส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลรายใหญ่ที่สุดของโลก คือออสเตรเลีย ตามด้วยบราซิล อาร์เจนตินา แคนาดา อินเดีย นิวซีแลนด์ อังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดย      ประเทศออสเตรเลีย ส่งสินค้าฮาลาลไปขายกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่บราซิลครองตลาดตะวันออกกลาง ตุรกีและยุโรป  และออสเตรเลียเป็นประเทศไม่ใช่มุสลิมประเทศแรกที่มีข้อกฎหมายเกี่ยวกับการรับรองตราฮาลาลในกฎหมายของประเทศ
ข่าวจากสำนักข่าวBernamaของมาเลเซียระบุว่า ในปัจจุบันประเทศอินเดียเป็นผู้ส่งออกไก่ฮาลาลใหญ่ที่สุดในโลก ประเทศออสเตรเลียส่งออกเนื้อแดง นิวซีแลนด์ส่งออกเนื้อแกะ ส่วนบราซิลส่งออกเนื้อวัว

กลุ่มประเทศในตะวันออกกลางจัดเป็นตลาดซึ่งมีอำนาจการซี้อสูงมาก เนื่องจากมีรายได้จากน้ำมัน และประเทศต่างๆ ในแถบนี้ต้องนำเข้าอาหารถึง80% ของความต้องการบริโภคทั้งหมด ส่วนประเทศที่ครองตลาดอาหารฮาลาลในตะวันออกกลางคือ ประเทศบราซิล ตามด้วยสมาชิกประชาคมยุโรปและสหรัฐอเมริกา

ตลาดฮาลาลในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงเช่นกัน เพราะชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในยุโรปกว่า10ล้านคนมีรายได้สูงเฉพาะที่ประเทศฝรั่งเศสประเทศเดียวมีความต้องการสินค้าฮาลาลในแต่ละปี สูงกว่า13,000  ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 429,000 ล้านบาท)

ผู้ที่ครองตลาดฮาลาลในยุโรปส่วนมาก เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารในยุโรปเอง อาทิ บริษัท Tahira Foods ในอังกฤษ บริษัท Mecca Foods ในเยอรมนี บริษัท Isla ในฝรั่งเศส โดยมียักษ์ใหญ่ คือ บริษัทเนสท์เล่

สินค้าฮาลาลในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของเนสท์เล่มีสัดส่วนถึง 35% โดยขณะนี้เนสท์เล่มีสินค้าฮาลาล อยู่มากกว่า 100 ชนิดและมีโรงงานผลิตสินค้าที่ได้รับการรับรองตราฮาลาล 75 โรงงานทั่วโลก โดยมีโรงงานที่ประเทศมาเลเซียเป็นศูนย์กลางของความเป็นเลิศในสินค้าฮาลาล

ตลาดฮาลาลในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าถึง 12,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 396,000 ล้านบาท) เชื่อว่าเป็นตลาดที่มีการขยายตัวสูงมาก ประมาณว่าในช่วงระยะปีค.ศ. 1995 – 2006 มูลค่าตลาดสินค้าฮาลาลเพิ่มขึ้นมากว่า 70%

ส่วนตลาดฮาลาลในเอเชีย น่าจะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลกเพราะมีประชากรชาวมุสลิมอยู่มากกว่าในทวีปอื่นๆแต่รายได้ประชากรต่อหัวยังไม่สูง จึงเป็นตลาดที่ยังไม่มีใครบุกอย่างจริงจัง แต่ประเทศที่เคลื่อนไหวเพื่อแย่งชิงตลาดฮาลาลในเอเชียและพื้นที่อื่นของโลกที่ไปได้ไกลที่สุดคือประเทศมาเลเซีย

กลุ่มประเทศเอเชียก็เริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจังในการเจาะตลาดสินค้าฮาลาลในตลาดเอเชียและตลาดโลก

ประเทศมาเลเซียตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางฮาลาลนานาชาติ สิงคโปร์ประกาศวิสัยทัศน์เป็นศูนย์กลางผลิตอาหารฮาลาล ในขณะที่ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์และการตรวจสอบ บรูไนเซ็นต์สัญญาร่วมกับออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตอาหารให้โลกมุสลิม

ประเทศจีนตั้งเป้าเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาล โดยได้เซ็นสัญญากับประชาคมยุโรปเพื่อจัดทำระบบการตรวจสอบเพื่ออนุมัติให้บริษัทของจีนสามารถส่งสินค้าอาหารฮาลาลไปขายในยุโรปได้ ส่วน ผู้ส่งออกของประเทศอินเดีย กำลังเร่งเพื่อให้ได้ตรารับรองฮาลาลและใบรับรองมาตรฐาน HACCP และ ISO เพื่อเป็นใบเบิกทางในการส่งออกสินค้าฮาลาล

ประเทศไทยกับตลาดฮาลาล

ประเทศไทยที่มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามใน5จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากกว่าร้อยละ80 และมีผู้ประกอบการผลิตอาหาร สินค้า และบริการฮาลาลมากกว่า400 ราย ตลาดสินค้าฮาลาล5จังหวัดชายแดนภาคใต้โตขึ้นเป็น5,000-10,000ล้านบาท ตัวเลขสินค้าฮาลาลส่งออกไทยปีละเกือบ25,000 ล้านบาท ขณะที่ส่งออกมาเลเซียมีมูลค่าเพียง600-700 ล้านบาท จะเห็นได้ชัดว่าแตกต่างกันมาก แต่ประเทศมาเลเซียมีความตั้งใจตั้งเป้าให้ประเทศของตนเองเป็นศูนย์กลางฮาลาลนานาชาติ

เศรษฐกิจฮาลาลที่ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง มีอยู่ 2 เรื่อง คือ

1.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

2.และระบบการธนาคารและการเงินอิสลาม-ซึ่งต้องไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ฮารอม-เช่น ดอกเบี้ย สิ่งมึนเมา การพนัน การผูกขาด การกักตุนสินค้า การทำลายสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมอื่นๆ ที่แสดงออกถึงการเอารัดเอาเปรียบและสร้างความเสียหายแก่สังคมส่วนรวม

ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกอาหารไปยังประเทศรอบอ่าวเปอร์เชีย มูลค่าส่งออกรวมเกือบ40,000 ล้านบาท คิดเป็น3.28% แนวโน้มมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้านำเข้าที่สำคัญจากไทย ได้แก่ ข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิ ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง น้ำตาลทราย ข้าวโพดหวานแปรรูป ไก่แช่แข็ง ปลาน้ำจืดแช่แข็ง ครีมเทียม อีก1ประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทย อิรัก สัดส่วน52.7% ของมูลค่าการส่งออกไป ประเทศรองลงมาคือ ซาอุดิอาระเบีย 21.8% และ ยูเออี 17.8%

นอกจากนั้น ยังพบความพยายามของคณะกรรมการอิสลามในเขตพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ที่พยายามผลักดันให้เขตพื้นที่  6 จังหวัดภาคใต้ตอนบนเป็นเขตเศรษฐกิจฮาลาล โดยเฉพาะในส่วนการสนับสนุนด้านแปรรูปสินค้าประเภทสัตว์น้ำ และการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากหลายส่วนงาน  ทั้งจากภาครัฐ ทั้งภาคเอกชน นักวิชาการศาสนา และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลายๆ ส่วน ที่เล็งเห็นความสำคัญของกลุ่มตลาดสินค้าฮาลาล เหมือนที่ประเทศต่างๆ    ทั่วโลกให้ความสำคัญจนพยายามทุกวิธี เพื่อให้ได้ครอบครองส่วนแบ่งตลาดสินค้าฮาลาลให้มากที่สุด

และในขณะเดียวกัน ประเทศไทยของเรา มีศักยภาพเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน จึงเป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม ที่จะใช้ศักยภาพที่ไทยมีอยู่ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางฮาลาลนานาชาติให้เกิดขึ้นให้ได้

 

——
เขียนและเรียบเรียงจาก
http://www.halalthailand.com
http://www.islammore.com
คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, พฤษภาคม 2548