อดีตปธน.สหรัฐ “จิมมี คาร์เตอร์” ชี้ แผนตะวันออกกลางของทรัมป์ “ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ”

จิมมี่ คาร์เตอร์ /แฟ้มภาพ/เครดิต whitehouse.gov

จิมมี่ คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (30 ม.ค.) ว่า แผนตะวันออกกลางของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้สหประชาชาติหยุดยั้งอิสราเอลจากการยึดดินแดนปาเลสไตน์ เอเอฟพีรายงาน

“ แผนใหม่ของสหรัฐฯ ทำลายโอกาสในการสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์

“ หากดำเนินการแล้ว แผนนี้รังแต่ทำลายหนทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระยะยาว ซึ่งก็คือการแก้ปัญหาด้วยสองรัฐ” คาร์เตอร์กล่าว เขาเป็นประธานาธาธิบดีในยุคที่สหรัฐเป็นคนกลางนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพแคมป์เดวิด (Camp David Accords) ปี 1978 ระหว่างอิสราเอลและอียิปต์

เขาเรียกร้องให้รัฐสมาชิกของสหประชาชาติ “ปฏิบัติตามมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และปฏิเสธการดำเนินการตามข้อเสนอของฝ่ายอิสราเอลโดยการยึดดินแดนปาเลสไตน์มากขึ้น”

สำนักงานของเขากล่าวในแถลงการณ์ว่า แผนของทรัมป์ที่เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (28 ม.ค.) “ฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง (self-determination) การครอบครองที่ดินโดยการใช้กำลัง และการผนวกดินแดนที่ถูกยึดครอง”

“ด้วยการเรียกประเทศอิสราเอลว่า ‘รัฐชาติของชาวยิว’ (the nation-state of the Jewish people) เท่ากับว่าแผนดังกล่าวยังสนับสนุนการปฏิเสธสิทธิที่เท่าเทียมกันต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ของอิสราเอลด้วย” แถลงการณ์ระบุ

ทรัมป์เสนอแผนการที่รอมานานของเขาในวันอังคารพร้อมกับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของเขา ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเนทันยาฮูก็ส่งสัญญาณว่าเขาจะพยายามยึดดินแดนส่วนใหญ่ของฝั่งเวสแบงก์

แผนของทรัมป์รับรองถึงอำนาจอธิปไตยของอิสราเอลในเรื่องการตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่ส่วนใหญ่ของฝั่งเวสแบงก์และหุบเขาจอร์แดน รวมถึงกรุงเยรูซาเล็มทั้งหมด

แผนดังกล่าวยังหนุนหลังรัฐปาเลสไตน์โดยมีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่ชานเมืองของกรุงเยรูซาเล็ม แต่ระบุว่าผู้นำปาเลสไตน์จะต้องยอมรับว่าอิสราเอลเป็นมาตุภูมิของชาวยิว และตกลงที่จะเป็นรัฐที่ปลอดทหาร

คาร์เตอร์อายุ 95 ปี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพสำหรับงานด้านมนุษยธรรมของเขา

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเขาได้เผชิญหน้ากับคำวิจารณ์จากผู้สนับสนุนชาวอิสราเอลต่อมุมมองของเขาเกี่ยวกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้คำของเขาว่า “การแบ่งแยกสีผิว” (apartheid) เพื่ออธิบายรัฐยิวในอนาคตที่ปราศจากข้อตกลงสันติภาพ