วัดฝีมือ “บิ๊กตู่” บนเก้าอี้นายกฯคนที่ 29

เข้าสู่โรดแม็ประยะที่ 2 อย่างเต็มตัว ตามยุทธศาสตร์ “รีเซ็ทประเทศไทย” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตามเป้าหมายที่ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้าคสช. วางเอาไว้

หลังมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นรองประธานสนช. คนที่ 1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธานสนช. คนที่ 2 ซึ่งทั้งหมดล้วนถูกวางตัวกำกับบทโดยคสช.มาแล้วตั้งแต่ต้น จึงเป็นไปตามโผที่สื่อมวลชนนำเสนอมาตั้งแต่ต้นจนจบ แบบเป๊ะๆ

ถือว่าวันนี้ประเทศไทย เข้าสู่โหมดระบบนิติรัฐแบบเต็มตัว โดยมีฝ่ายนิติบัญญัติคือสนช.คอยขับเคลื่อน ซึ่งก็แน่นอนว่าภารกิจเร่งด่วนคือการทำคลอดกฎหมาย ที่ทางคสช.เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะใช้การปกครองตามระบบอบประชาธิปไตยปกติทำไม่มีทางสำเร็จ

ลัดคิวมาก่อนเลยก็คือ การเร่รัดผลักดันพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ที่ใช้เวลาแค่ 5 ชั่วโมงเศษ ก็ผ่านวาระแรกไปอย่างฉลุย ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็นำเข้าสู่ที่ประชุมสนช. วาระ 2  และวาระ3  ภายในวันที่  2 ก.ย. เพื่อให้สนช.เห็นชอบ ก่อนประกาศใช้ให้ทันปีงบประมาณ 1 ต.ค. นี้

ถัดไปก็วางคิวกันแล้ว ต้องเร่งดันกฎหมายที่ คสช.กลั่นกรองมาแล้วเบื้องต้น กว่า 40 ฉบับ หยิบยกขึ้นมาพิจารณาเรียงไปตามลำดับความสำคัญเร่งด่วน เป็นล็อตแรกก่อน 10 ฉบับ  อาทิ ร่างพ.ร.บ.ถวายความปลอดภัย พ.ศ….. ร่างพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ เป็นต้น

นั่นเป็นภารกิจของแม่น้ำอีกสายที่แตกสาขาออกไปจาก คสช. คือการเดินเครื่องในด้านนิติบัญญัติ

ขณะที่สายน้ำอีกเส้น ก็คือฝ่ายบริหาร ไม่มีพลิกล็อกเมื่อ สนช. พากันตบเท้าเข้าประชุมกันพรึบพรั่บโหวตเลือก “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ 29 ของประเทศไทย แบบไม่มีแตกแถว จากนั้นจึงจะถึงคิวการฟอร์มคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งก็จัดวางตัวบุคคลเอาไว้เกือบหมดแล้ว ไม่ต้องไปเฟ้นหาให้เสียเวลา

เรียกได้ว่าเส้นทางสาย นี้แทบจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ไร้ซึ่งอุปสรรคขวากหนาม เพราะมีการปล่อยโพลออกมาเป็นระยะ ทุกสำนักล้วนแต่เชียร์ “บิ๊กตู่”ให้ขึ้นเป็นท่านผู้นำกันท่วมท้น และโฉมหน้า “ครม.ตู่ 1” จะออกมาไฉไลสวยงามขนาดไหน ก็คงได้เห็นกันไปแล้ว ดังนั้นทุกองคาพยพจึงเดินตามรอยที่ คสช.ขีดเส้นเอาไว้

ยังเหลือสายน้ำอีกสาย คือ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ก็ใกล้จะคลอดตามกันมาติดๆ หลังจากที่ คสช. ออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิก สปช. เป็นที่เรียบร้อย ประกอบด้วย คณะกรรมการสรรหาสมาชิก สปช. 11 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ด้านพลังงาน ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ด้านสื่อสารมวลชน ด้านสังคม และด้านอื่นๆ รวมไปถึงคณะกรรมการสรรหาสมาชิก สปช.ประจำจังหวัดอีก 77 ชุด

ทุกชุดถูกกำกับและ ควบคุมโดยบรรดาที่ปรึกษาของคสช. วิธีการสรรหาสปช.ด้วยการเปิดรับสมัครสมาชิก สปช. แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. รายชื่อที่มาจากองค์กรนิติบุคคล หน่วยราชการ กระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ซึ่งเมื่อมีการสมัครครบแล้ว คณะกรรมการสรรหาก็จะทำการคัดเลือกให้เหลือ 550 คนจากนั้น คสช.ก็จะคัดเลือกต่อให้เหลือ 173 คน เพื่อให้ได้ตัวแทนจากทุกสาขาอาชีพเพื่อไปรวมกับส่วนที่ 2 เป็นการสรรหาของคณะกรรมการประจำจังหวัดให้ได้ 5 คน และ คสช.จะทำการคัดเลือกผู้แทนให้เหลือ 77 คนรวมเป็นจำนวน 250 คน

ทั้งหมดนี้จะได้เห็น ตัวตนกันไม่เกิน 2 ต.ค.นี้  แต่แค่เริ่มต้นก็ถูกครหาว่ามีการล็อกสเป็กในระดับจังหวัดกันซะแล้ว และคนที่ออกมาปูดก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นคนที่รู้จักมักคุ้นกันทั้งนั้น ทั้งจากพลพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะกับข้อมูลของนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. ที่คสช.ตั้งมาเองกับซึ่งก็น่าเป็นห่วงว่า สมาชิกสปช.ที่ได้มา อาจเป็นแค่ร่างทรงของกลุ่มการเมือง หรือนอมินีฝ่ายการเมือง ที่ไม่ใช่ตัวแทนกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และกลุ่มวิชาชีพที่จะต้องมีความหลากหลายอย่างแท้จริง

ตามสเป็กที่คสช.ตั้ง ความหวังเอาไว้ซะสูง ว่าจะต้องมีความหลากหลาย กระจายไปยังทุกกลุ่ม ทุกขั้วขัดแย้ง เพื่อมาปฏิรูปประเทศร่วมกัน ซึ่งตรงนี้ทำท่าว่าขึ้นต้นก็เป็นลำไม้ไผ่ แต่ไม่รู้ว่าเหลาลงไปแล้วจะกลายเป็นอะไร…

ขณะเดียวกันกลุ่มต่อ ต้านแม้ดูเหมือนต่อต้านยังมีอยู่ แต่นั่นก็เป็นเพียงภาพที่คนทั่วไปมองเห็น แต่สิ่งที่เป็นอยู่มันใช่หรือไม่ เพราะขนาดทุกวันนี้ คสช.ยังคงใช้ยาแรงอย่างกฎอัยการศึก และอำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยังมีพวกลองของ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ล่าสุดมือมืดขับรถจักรยานยนต์โปรยใบปลิว กระตุกหนวดเสือถึงหน้าถ้ำ กองบัญชาการกองทัพบก เป็นใบปลิวขนาด เอ 4 จำนวนกว่า 100 แผ่น มีเนื้อหามุ่งโจมตีการทำงานของ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จึงพอทำให้เห็นคลื่นใต้น้ำว่า กลุ่มต้านเพียงแค่รอคอยวัน ว. เวลา น. ที่เหมาะเจาะเท่านั้น ซึ่งคสช.ก็คงไม่ได้วางใจ

ดังนั้นไฮไลท์ฉาก การเมืองนับจากนี้ ต้องเกาะติดการขับเคลื่อนบ้านเมืองภายใต้อุ้งมือของ “บิ๊กตู่” โดยเฉพาะกับภารกิจสำคัญคือการวางแนวทางปฏิรูปบ้านเมือง ไปพร้อมกับการร่างกฎกติกาขึ้นมาใหม่ตามที่คสช.เห็นสมควร คือ การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งต้องเริ่มเดินเครื่องไม่เกินเดือนต.ค.นี้ เพื่อปูทางไปสู่การปฏิรูปประเทศ

นอกจากนี้ยังมีภารกิจ จัดวางขุมกำลังฝ่ายข้าราชการ ที่ผ่านมาก็จัดแถวล้างบางกันไปล็อตใหญ่แล้ว แต่ที่ทุกสายตาจับจ้องคือ การปรับย้ายในกองทัพ เพราะต้องปรับเปลี่ยนกันใหม่หมดยกแผง ไล่ตั้งแต่ ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. และผบ.ตร.

ไม่มีปัญหาอยู่ภายใต้การบัญชาของ“บิ๊กตู่” อีกเช่นกัน

แต่ที่น่าสนใจก็คือภาพ รวมทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง ภายใต้การบริหารงานของนายกฯคนที่ 29 “บิ๊กตู่”จะต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจภายในที่ค่อนข้างชะลอตัว จากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดไม่น่าจะเกินร้อยละ 2 บวกกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่ถาโถมเข้าใส่ ซึ่งไม่ได้เป็นไปอย่างที่สถาบันต่างๆพยายามวาดภาพให้ทุกคนสบายใจ

จึงเป็นโจทย์ยากที่รัฐบาลอำนาจพิเศษ จะต้องบริหารจัดการให้ได้ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่จะกำหนดทิศทางประเทศ

ที่สำคัญจะเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือ “ครม.ตู่ 1”ว่าพอตื่นมาเจอของจริง จะคืนความสุขให้คนทั้งชาติได้จริงหรือไม่???