หลังการตอบรับดีจากสาขายะลา ฟู้ดแพนด้าได้ขยายพื้นที่สู่ปัตตานี สร้างงานสร้างรายได้งามแก่ร้านค้าและไรเดอร์ เอื้อโอกาสต่อชีวิตคนยุคใหม่ทั้งความสะดวกและอาชีพที่เลือกได้ สาขาปัตตานีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 และให้บริการตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น.
นาย ณัฐวุฒิ ชัยนิลพันธุ์ Head of Expension บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฟู้ดแพนด้า foodpanda (foodpanda.co.th) บริหารงานโดย บริษัท เดลิเวอรี ฮีโร่ (ประเทศไทย) จํากัด ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2555 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน เริ่มต้นครั้งแรกในไทยโดยการจัดส่งอาหารจากร้านอาหารที่ดีที่สุดในกรงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และครอบคลุมอีกกว่า 21 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านบริการสั่งอาหารดิลิเวอรี่ออนไลน์ที่ดีที่สุดที่มีการรวบรวมร้านอาหารอร่อยมากมาย ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ภูเก็ต, ขอนแก่น, พัทยา, หาดใหญ่, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช และทุกภาคในประเทศไทย รวมทั้งยะลาและปัตตานี ตั้งเป้าหมาย 67 สาขาในกลางปีนี้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น ชวนร้านค้ามีหน้าร้านให้มาอยู่ในแพลตฟอร์มขายออนไลน์โดยไม่ต้องลงทุน มีโอกาสขายมากขึ้นและบริการจัดส่งถึงบ้าน
ปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมจำนวน 40,000 ร้านทั่วประเทศ เช่นในเชียงใหม่มีจำนวน 8,000 ร้าน มีไรเดอร์(พนักงานส่งอาหาร)จำนวน 3,000 คน วันละประมาณ 100,000 ออเดอร์
ฟู้ดแพนด้า อยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของชายแดนใต้ให้เติบโตไปพร้อมกันกับธุรกิจการจัดส่งอาหาร จึงได้ริเริ่มมาเปิดให้บริการที่จังหวัดยะลาเป็นสาขาแรกในสามจังหวัด และสาขา 2 คือปัตตานี เป็นสาขาที่ 47 ของไทย ด้วยปัตตานีเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ การศึกษา ความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ศาสนาและภาษา ที่มีการผสมผสานวิถีชีวิตชาวพุทธและชาวมุสลิมได้อย่างลงตัว เพื่อให้พี่น้องชาวจังหวัดปัตตานีและนักท่องเที่ยว ได้ลิ้มลองความอร่อยของอาหารหลากหลายเมนูได้ง่ายๆ แม้จะนั่งอยู่ที่บ้าน ผ่านบริการของฟู้ดแพนด้า
นายมูฮัมหมัดอาลี หมัดหมัน City Manager สาขาปัตตานี กล่าวว่า “ฟู้ดแพนด้า สาขาปัตตานี” มาจากความสำเร็จของฟู้ดแพนด้า สาขายะลา ที่เป็นสาขาแรกที่ฟู้ดแพนด้ามาเปิดบริการเดลี่เวอรี่ส่งอาหารใน 3 จังหวัด ด้วยมุมมองว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นตลาดขนาดใหญ่ ยังมีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้ใช้ยะลาเป็นพื้นที่ทดลองตลาด เมื่อมีผลตอบรับดี จึงขยายเฟสสองมาที่ปัตตานี ตั้งใจเข้ามาสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ ให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วยการจ้างงานคนในพื้นที่มากขึ้น และเตรียมขยายไปยังนราธิวาสต่อไป
“สำหรับโจทย์ใหญ่ของที่นี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่พิเศษ การจัดส่งอาหารจะพิเศษกว่าจังหวัดอื่น เช่น เรื่องความปลอดภัยของไรเดอร์ที่เป็นคนขับรถส่งอาหารด้วย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ความมั่นคงต้องการข้อมูลประวัติคนขับ ทางฟู้ดแพนด้าก็ต้องให้ โดยไรเดอร์ต้องมีข้อมูลหลักฐานชัดเจนที่สามารถยืนยันตัวตนได้ว่า เป็นคนที่ไหนและอย่างไร
การเติบโตของสาขายะลาจากไรเดอร์ 50 คนเพิ่มเป็น 192 คน ร้านค้าเข้าร่วมจำนวน 400 ร้าน ออเดอร์สูงสุดถึงวันละ 2,500 ออเดอร์ ไรเดอร์มาจากคนว่างงาน ชาวสวน ชาวนา ข้าราชการ เมื่อเสร็จงานประจำก็มาขี่รถส่งอาหารเป็นรายได้อีกทาง โดยสาขายะลาบริการตั้งแต่ 06.00-23.00 น.”
สำหรับการจัดส่งอาหารในพื้นที่นี้ฟู้ดแพนด้าทำถูกต้องตามหลักศาสนาคือ แยกอาหารฮาลาลลงกล่อง อาหารไม่ฮาลาลลงกระเป๋าเล็ก ขณะนี้กำลังพัฒนาระบบให้ไรเดอร์มุสลิมรับเฉพาะอาหารฮาลาลขณะนี้มีร้านอาหารในปัตตานีเข้าร่วมจำนวน 130 ร้าน มีพนักงานไรเดอร์ขับรถส่งอาหารของปัตตานีจำนวน 68 คน ต้องการไรเดอร์ขับส่งอาหารที่เป็นพี่น้องไทยพุทธจำนวนมากและผู้หญิงที่ไม่มีงานทำรวม 100 คนภายในสิ้นเดือนนี้ โดยไม่กำหนดอายุ ศาสนา วุฒิการศึกษา ถ้ามีใจรักอยากทำงานบริการก็สามารถเข้ามาทำได้ บริการตั้งแต่ 08.00-20.00 น. ส่งฟรีสำหรับลูกค้าที่สั่งอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่ขั้นต่ำ 50 บาท มาตรฐานการส่งภายใน 25 นาที
“เราภูมิใจคือการสร้างงานสร้างรายได้ในท้องถิ่น ให้โอกาสกับคนทุกระดับที่อายุเกิน 18 ปี ไม่มีประวัติอาชญากรรม การลักขโมยและปลอดยาเสพติด ทั้งเป็นงานประจำและงานพาร์ทไทม์ เลือกเวลาทำงานได้ รายได้ 1-3 หมื่นบาทต่อเดือน เพิ่มช่องทางการขายให้ร้านค้ามียอดการขายเติบโต 2-8 เท่าของการขายหน้าร้าน ลูกค้าไม่ต้องเสี่ยงออกจากบ้านด้วยภาวะอากาศและโรคต่างๆ และได้ทานอาหารราคาเท่ากับหน้าร้าน”
ดา หรือ ฟารีดา บาซอ วัย 38 ปี มุสลิมะฮฺชาวยะลาและแม่เลี้ยงเดี่ยวลูก 4 คน ตั้งใจมาทำงานในอาชีพนี้ด้วยต้องการมีรานได้สามารถเลี้ยงดูลูกๆ และพ่อแม่ได้ ทำให้การทำงานในหน้าที่ไรเดอร์ของเธอสร้างความสุขและรายได้อย่างงามในแต่ละเดือน เดือนที่มีรายได้สูงสุดที่ทำมา 5 เดือนคือ 14,000 บาท ดาเคยทำงานซักรีดแต่รายได้ไม่พอกับรายจ่าย จึงตัดสินใจไปทำงานซักแห้งที่มีรายได้ดีกว่าที่กรุงเทพฯ แต่ต้องขึ้น-ลงยะลา-กรุงเทพฯ ทุกเดือนเพื่อดูแลครอบครัว รายได้ก็ไม่พอเช่นเดิม เมื่อแม่ขอให้กลับมาหางานทำที่ยะลา เธอจึงตัดสินใจกลับมาโดยยังไม่มีงานรองรับ เมื่อเพื่อนที่เป็นไรเดอร์ชวนมาสมัคร จึงเป็นที่มาของอาชีพไรเดอร์ของดา
“ตอนนั้นคิดว่าเขาจะรับมั้ยเพราะเราอายุมากและเป็นผู้หญิง สมัครแล้วรอ 3 วัน เขาเรียกไปอบรมและทำงานเลย ทำมา 5 เดือนรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้สบาย ได้เปลี่ยนอะไหล่รถมอเตอร์ไซค์เป็นของแท้หมด เลือกเวลาทำงานได้ เป็นอาชีพที่รักและชอบ ต้องซื่อสัตย์ เมื่อรับเงินจากลูกค้ามา ทุกเย็นจะเอาไปเข้าบัญชีบริษํทแล้วเราจะรู้รายได้ในแต่ละวัน”
ในความเป็นมุสลิมะฮฺที่อาจขัดสายตาใครเมื่อมาขี่รถส่งอาหาร ดาบอกว่าแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน ส่วนตัวคิดว่าเป็นอาชีพสุจริต ได้ปฏิบัติศาสนกิจครบ ทำเต็มที่เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ไม่ทำให้สังคมเดือดร้อน เปิดโอกาสให้คนไม่มีงานทำ ผู้หญิง เข้ามาทำ เห็นการปรับตัว คำพูดและพัฒนาการที่ดีของเพื่อนร่วมงาน
ไรเดอร์หนุ่มวัย 26 ปี อย่าง รอศิกีนส์ เฮงบารู มีมุมมองที่ดีต่ออาชีพและสมัครเข้ามาทำได้เดือนกว่าๆ มีรายได้ที่พอใจ เป็นงานอิสระที่ได้เปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตของเขา รอศิกีนส์บอกว่างานนี้ได้เปิดโลกทัศน์ทั้งการพบเจอลูกค้าและร้านค้า เห็นโมเดลธุรกิจที่ไม่เหมือนกันในแต่ละร้าน ทำงานกันเป็นทีมเหมือนครอบครัว ลดปัญหาอาชญากรรมไปได้มาก เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ทำให้อยากทำงานตลอดวัน “มีลูกค้าเป็นพยาบาลที่มีลูกเล็กต้องจ้างคนดูแล ก่อนนี้เขาบอกว่าต้องเตรียมอาหารไว้ให้ลูกได้ทานทั้งวัน เมื่อฟู้ดแพนด้ามาที่ยะลาได้เลือกเมนูที่ลูกชอบ สะดวกและปลอดภัย เป็นเรื่องดีๆ ที่เราทำให้เขาได้”
นิอาฟีฟะห์ นิและ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ม.อ.ปัตตานี คืออีกคนที่ตัดสินใจมาร่วมเป็นไรเดอร์ ด้วยเวลาว่างจากการเรียนทำให้เธอมองหารายได้ระหว่างเรียน เพราะสามารถเลือกเวลาทำงานได้และเตรียมพร้อมในการทำงานเมื่อเรียนจบ เธอมองว่าไรเดอร์คืองานสุจริต เป็นตัวกลางระหว่างร้านค้าและลูกค้า
ส่วน มัสตูรอ เปาะเฮง ที่มีร้านร่วมกับฟู้ดแพนด้าและเป็นไรเดอร์ด้วย มองว่าเป็นการสร้างโอกาสให้ตัวเองและร้าน สามารถทำงานตามเลือกได้ สำคัญคือได้รับการอนุญาตจากสามีให้ทำงานนี้ได้
กองบรรณาธิการ, โต๊ะข่าวชายแดนใต้