เป็นเพราะเรื่องที่ว่ารัฐบาลจะอนุมัติงบซื้อเรือดำน้ำให้กองทัพเรือไว้ใช้ เลยนึกไปถึงเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน ที่ได้รับเชิญจากกงสุลเวียดนามประจำประเทศไทยให้ไปทำข่าวการประชุมเชิงปฎิบัติการนานาชาติ ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ในประเด็น “ความจริงทางประวัติศาสตร์ กรณีหมู่เกาะพาราเซล และสแปรตลีย์” ซึ่งเป็นประเด็นร้อนที่เกี่ยวพันกับความมั่นคงหลายด้านของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนหลายๆ ประเทศ
การประชุมครั้งนั้นมีนักวิชาการด้านเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักทั่วโลกมาร่วมงานนี้ด้วย แต่ที่ไม่มีตัวแทนผู้หลักผู้ใหญ่จากไทย ก็อาจเป็นเพราะว่ากรณีพิพาทหมู่เกาะพาราเซล และสแปรตลีย์ นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศเราโดยตรง กระนั้นที่เวียดนามก็อยากจะให้ไทยช่วยเป็นสักขีพยาน และได้รับรู้ถึงหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆ ไว้ด้วยในฐานะมิตรประเทศที่คบหากันมายาวนาน
เวียดนามมีหลักฐานชี้ชัดในการครอบครองหมู่เกาะทั้งสองแห่งนี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ยักษ์ใหญ่อย่าง จีน อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะทั้งหมดดื้อๆ เนียนๆ โดยใช้หลักฐานที่แต่งขึ้นลอยๆ แล้วนำเรือรบเข้ารุกล้ำในน่านน้ำเจ้าปัญหานี้รวมถึงการเข้าไปสร้างสิ่งปลูกสร้างบนเกาะ จนนำมาซึ่งข้อพิพาทยาวนานหลายทศวรรษกับหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม
จำได้ว่าก่อนหน้าไม่กี่สัปดาห์ที่ไปถึงดานังนั้น เรือของจีนพุ่งเข้าชนเรือประมงของเวียดนามจนล่มกลางทะเล แล้วทิ้งให้ชาวประมงนับสิบชีวิตลอยคออยู่อย่างนั้นโดยไม่ช่วยเหลือ เรื่องนี้คนเวียดนามเขาโกรธแค้นกันมาก หลังเหตุการณ์นี้มีการกู้ซากเรือลากขึ้นฝั่งเอามาเก็บไว้ที่เมืองดานัง (ประจานความโหดของจีน) เขายังพาสื่อมวลชนไปดูซากเรือลำนี้ด้วย
ปัจจุบันข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ระหว่างจีน มีบรรดาประเทศในอาเซียนร่วมวงพิพาทนี้แทบล้อมรอบไทย นอกจากเวียดนามแล้วก็มี ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน นั่นทำให้หลายประเทศในอาเซียน “จำเป็นอย่างยิ่ง” ที่จะต้องจัดหาเรือดำน้ำอย่างเร่งด่วนเพื่อใช้ในการปกป้องตนเอง
จีน ไต้หวัน และ เวียดนาม อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ทั้งหมด ส่วนมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน อ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์เพียงบางส่วน นอกจากนี้เวียดนามยังอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะพาราเซลที่จีนเคยยึดไปในปี พ.ศ.2517 ด้วย ปัจจุบันเวียดนามมีการจัดซื้ออาวุธเป็นจำนวนมาก ทั้งเรือรบ จรวดต่อต้านเรือรบผิวน้ำและใต้น้ำ และซื้อเรือดำน้ำจากรัสเซียเพิ่มเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลของตน
ฟิลิปปินส์เองก็เตรียมซ่อมแซมเรือรบลำเก่า และมีแผนที่จะซื้อเรือดำน้ำเพื่อปกป้องตนเองจากการถูกคุกคามโดยเรือรบจีนที่คอยมาลอยลำสอดส่องอยู่ในหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ โชล ที่ถูกจีนยึดไว้ ซึ่งอยู่ใกล้ฟิลิปปินส์มาก นั่นทำให้ฟิลิปปินส์ต้องเร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพกองทัพโดยเร็ว ครั้นมาดูฝั่งมาเลเซีย ก็จำเป็นต้องใช้เรือดำน้ำเพื่อควบคุมช่องแคบมะละกา อันเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะเรือบรรทุกน้ำมันใช้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งทางทะเลระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ส่วนสิงคโปร์ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ระหว่างช่องแคบมะละกา ก็จำเป็นต้องมีเรือรบที่ทรงประสิทธิภาพเข้ามาประจำการเพื่อดูแลอธิปไตยเหนือน่านน้ำสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน สำหรับอินโดนีเซีย ประเทศที่ประกอบไปด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่นับพันเกาะ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องมีเรือดำน้ำไว้ใช้
ศาสตราจารย์ Tran Van Doan ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาการเมือง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ซึ่งติดตามกรณีพิพาททางทะเลระหว่างจีนกับเวียดนามมายาวนาน ให้ความเห็นว่า “ถ้าประเทศต่างๆ ที่มีปัญหากับจีน ไม่มียุทธศาสตร์ที่ดีพอ ในที่สุดก็จะถูกจีนยึดครองไปหมด ที่สำคัญการจะรอดพ้นจากเงื้อมมือของจีนได้ มีทางเดียวเท่านั้นคือ ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ต้องสามัคคีกัน รวมทั้งจับมือกับอินเดีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จึงจะสกัดกั้นการรุกรานของจีนได้”
“แต่สิ่งที่ยากก็คือ ประเทศในอาเซียนเวลานี้ ยังไม่ค่อยสามัคคีกันนัก โดยเฉพาะผู้นำบางประเทศในอาเซียน โดนจีนใช้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจซื้อตัวไปเป็นมิตรประเทศ นี่ต่างหากคือปัญหา”
ศาสตราจารย์ท่านจะหมายถึงผู้นำชาติไหนเราไม่รู้หรอก ผู้เขียนก็ไม่ได้ถามท่านต่อ เกรงว่าจะเป็นประเด็นใหม่ในวงสนทนาเสียเปล่าๆ แต่มาคิดๆ ดู ที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ท่านบอกว่า ไทยควรมีเรือดำน้ำไว้ให้คนอื่นเขาเกรงใจบ้าง มันก็น่าคิดนะ
น่าคิดที่ว่า เพื่อนบ้านรอบๆ เราส่วนใหญ่มีปัญหากับจีนทั้งนั้น ทุกประเทศที่กล่าวมามีเรือดำน้ำใช้ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกรุกรานดังกล่าวมา ไม่ได้หวังว่าให้มิตรประเทศในอาเซียนด้วยกันมาเกรงใจ ว่าไปจีนเองก็คงจะไม่เกรงใจเรือดำน้ำของชาติไหนๆ ทั้งนั้น ในงานที่ดานังเห็นได้ชัดว่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน บรูไน มาเลเซีย เขาแทคทีมกันมาก เพราะเขาถือว่ายังไง 5 ประเทศนี้ก็คุยกันรู้เรื่อง สามารถแบ่งสรรปันส่วนผลประโยชน์กันลงตัวได้ไม่ยาก
แต่พอวกมาเรื่อง “เรือดำน้ำ” ถามว่าไทยควรมีมั้ย….แน่นอนว่ามันก็ควรจะมี เพราะเรามีเรือดำน้ำใช้งานครั้งสุดท้ายก็สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โน่น แต่ต้องถามต่อว่า ควรซื้อตอนนี้ไหม ขณะที่เรากำลังจนกรอบเศรษฐกิจติดลบอยู่นี้!
……ระหว่างปากท้องประชาชนตอนนี้กับการแสดงแสนยานุภาพ
ระหว่างที่มิตรประเทศรอบๆ จับมือกันฉันท์มิตรเพื่อก้าวสู่ AEC และสกัดการรุกรานของจีน
ระหว่างการสร้างมิตรภาพกับความ (อยากให้มีคน) เกรงใจ
ประเทศไทยอยู่ตรงจุดไหน?
อภิรดี จูฑะศร เป็นอดีตผู้สื่อข่าวภูมิภาค (ภาคใต้) นสพ.ผู้จัดการรายวัน อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และครีเอทีฟบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ 2 ค่ายดังของเมืองไทย ก่อนมารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสารในเครือจีเอ็ม กรุ๊ป เป็นอดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2546-2548 มีบทบาทร่วมเคลื่อนไหวและรณรงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผืนป่าตะวันตก และต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและการทารุณกรรมสัตว์ ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เคยเป็นเลขาธิการมูลนิธิ Wildlife และ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มีผลงานเขียนทั้งบทความ สารคดี บทกวี เรื่องสั้น และบทสัมภาษณ์คนดังหลายวงการในหน้านสพ.และนิตยสารหลายเล่มตลอดกว่า 25 ปีในแวดวงสื่อสารมวลชน ปัจจุบันเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ บ.มีเดีย โร้ด , บรรณาธิการ/ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ. The Public Post