เห็นภาพข่าวชาวฝรั่งเศสที่ออกมาประท้วงเรียกร้องเรื่องเสรีภาพในการแสดงความ คิดเห็น ในกรณีของนิตยสาร Charlie Hebdo อยากจะกล่าวว่า หากจะมองในเรื่องของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมอย่างเดียว (ยังมิต้องพูดถึงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ) คงต้องย้อนไปถึงศตวรรษที่ 16 ที่สังคมตะวันตกเดินออกจากความเชื่อทางศาสนา(คริสต์) มุ่งเข้าสู่แนวความคิดมนุษย์นิยมที่ว่ามนุษย์ควรจะเป็นผู้กำหนดและควบคุม ชะตาชีวิตของตนเองและใช้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในการวางกฎเกณฑ์ทางสังคม (ในขณะที่สังคมอื่นบนโลกในขณะนั้นยังมีความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย)
จากนั้นมีความพยายามเปลี่ยนความเชื่อเหล่านี้ให้เหมือนกับสังคมตะวันตกผ่าน ยุคการล่าอาณานิคม ซึ่งต่อมาจึงได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนรูปแบบ มีกระบวนการ วิธีการการใช้อิทธิพลเข้าแทรกแซงครอบงำสังคม และวัฒนธรรมอื่น(ที่ต่างจากสังคมตะวันตก) ผ่านกลไกขององค์กรระดับโลกและอำนาจรัฐในประเทศต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน
หากมองในมุมสังคมและวัฒนธรรม ในเมื่อ(คนในสังคมตะวันตก) ละทิ้ง ลดทอนความสำคัญของศาสนาไปตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 16 แล้ว จึงไม่สามารถเอาบรรทัดฐานทางสังคม ความเชื่อและวัฒนธรรมตะวันตกที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงไปใช้กับสังคม อื่นได้ทั้งหมด
เพราะ การกระทำหนึ่ง เมื่อปฏิบัติกับสังคมหนึ่ง อาจไม่กระทบกับความรู้สึกของคนในสังคมมากมายนัก แต่ด้วยสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อที่ต่างกัน การกระทำเดียวกันนั้นเอง อาจส่งผลกระทบกับความรู้สึกที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุดได้
อาจมีบางคนให้ความเห็นแย้งว่า ในสังคมประชาธิปไตย ไม่ควรจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ควรสร้างความกลัวให้เกิดขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ (ตั้งแต่ตัวบุคคลไปจนถึงเรื่องความเชื่อ ความศรัทธา) ไม่ควรถูกยกเว้นในเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการใช้คำว่าเสรีภาพ และการใช้สิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์แบบเกินขอบเขต โดยการไปละเมิดสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่น ความอิสระเสรีเช่นนี้ มิได้แสดงออกถึงความคิดที่ก้าวหน้าในการกล้าแสดงออกโดยปราศจากความกลัว หรือมีความเป็นปัญญาชนหัวสมัยใหม่ขึ้นมาแม้แต่น้อย
เพราะบริบทของปัญหาที่เป็นเรื่อง “มหภาค” มิอาจนำมาเปรียบเทียบกับปัญหาระดับ “จุลภาค” ได้
เช่นเดียวกับประเด็นการดูหมิ่นศาสนากับการดูหมิ่นตัวบุคคลก็เช่นกัน ที่มีองค์ประกอบภายในแตกต่างกันชัดเจน
การดูหมิ่นศาสนามักจะมีเรื่องของการเหยียดผิว เหยียดชนชั้น มีการแบ่งแยกพวกเขาพวกเรา มีการจำกัดเสรีภาพการดำรงชีวิตในสังคม (เช่น การออกกฎหมายห้ามแสดงสัญลักษณ์ของทุกศาสนาในสถานที่ราชการในฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งอย่างมาก ในขณะที่วันนี้ชาวฝรั่งเศสกำลังเรียกร้องเสรีภาพแต่ก็มีการจำกัดเสรีภาพใน ประเด็นดังที่กล่าวมา) มีปัญหาเกี่ยวกับความต้องการลดบทบาท ลดอัตราการขยายตัวของแนวความคิดที่แตกต่างกันไม่ให้กระจายออกไป และปัญหาผลประโยชน์อื่นๆอีกมากมายซ้อนทับกันอยู่
นับว่าเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมิใช่น้อยที่วันนี้ได้เห็นกลุ่มคนออกมาเรียกร้องเสรีภาพในการดูหมิ่นความเชื่อ ความศรัทธาของคน 1,500 ล้านคน ทั้งๆ ที่สิ่งที่ควรทำคือ ร่วมกันประณามการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจ ลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภายใต้วัฒนธรรม ความเชื่อที่แตกต่าง!!