เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการจัดกิจกรรม คนนครนายก สร้างฝายมีชีวิต “สามัคคี สร้างสรรค์ แบ่งปัน” โดยมี นายชาตรี ศรีวิชาฐา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม นายพงษ์สวัสดิ์ ธีระวัฒนกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพระพัฒนาการจังหวัดนครนายก ศูนย์ป่าไม้นครนายก ค่ายปืนใหญ่ ป พัน 102 รอ ปราจีนบุรี ทีมคนสร้างฝายอำเภอบ้านนา บริษัทประชารัฐรักสามัคคีนครนายกจำกัด ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ธนาคารน้ำใต้ดิน อบต.เก่าขาม จังหวัดอุบลราชธานี เครือข่ายและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ณ บริเวณลำรางแนวเขตกันชนกรมป่าไม้ บ้านกุดตะเคียน หมู่ที่ 8 ต.เขาพระ อ. เมืองนครนายก จ.นครนายก
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนกิจกรรมสู่ประชาชน ด้วยการส่งเสริมกระบวน การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเพื่อให้เป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน จากสถานการณ์โควิด – 19 กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำศาสตร์พระราชา มาปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ เพื่อนำพาพี่น้องประชาชนให้มีการพึ่งพาตนเองและพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการน้อมนำศาสตร์พระราชา ในเรื่องของทฤษฎีการเก็บรักษาน้ำ การดูแลน้ำให้อยู่คู่กับแผ่นดินไทย เช่น การทำฝายที่ทำในวันนี้ เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างให้ธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ และสามารถทำให้พี่น้องประชาชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
การน้อมนําศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การปฏิบัติจำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง พร้อมที่จะนำมาลงมือปฏิบัติ เพื่อขยายผลและสร้างตัวอย่างของความสำเร็จ ที่เป็นจริงได้ ซึ่งการสร้างฝายมีชีวิตในวันนี้เป็นการผสมผสานหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านพระราชปณิธานที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด ตามรอยพระยุคลบาท เช่นการระเบิดจากข้างใน การปลูกป่าในใจคนการใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติไปจนถึงการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงภูมิศาสตร์ภูมิศาสตร์สังคมภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรม เพื่อให้คนอยู่กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน และสำหรับการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ก็มาจากหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่มีการปรับแนวความคิดใหม่ ไม่ได้มุ่งที่จะต้องหาเงินทองจำนวนมาก เป็น การสร้าง 4 อย่าง คือ พอมี พอกิน พออยู่ และพอใช้ เมื่อเหลือจึงแบ่งปันกัน เป็นบุญเป็นทาน สร้างความเอื้อเฟื้อแก่กันในสังคม ก็จะทำให้สังคมแห่งการช่วยเหลือนี้ ช่วยลดช่วยผ่อนคลายปัญหาที่กำลังประสบอยู่ลงไปได้
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ ที่เราทุกคน มาร่วมแรงร่วมใจกัน ในการสร้างฝายมีชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ เพราะเราทุกคนเห็นว่า ฝายมีชีวิตเป็นทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการมีส่วนร่วม เป็นการระเบิดจากภายใน เป็นการใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย ที่เป็นกระบวนการเปลี่ยนวิธีคิด จากการพัฒนาที่ไม่เอาเงินนำ มาเป็นการสร้างปัญญาด้วยการสื่อสารสร้างความเข้าใจ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งกระบวน การนี้ เริ่มต้นจากความต้องการ ความคิดที่จะแก้ไขปัญหาน้ำของชุมชนเอง โดยมีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ภายใต้หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเห็นได้ว่า ฝายมีชีวิตนี้ มีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นในช่วงที่น้ำหลาก ฝายมีชีวิตก็จะชะลอน้ำ กักเก็บน้ำ ไม่ให้ไหลไปท่วมในพื้นที่ของชุมชนเมือง ในช่วงน้ำแล้ง ฝายมีชีวิตก็จะช่วยระบายน้ำออกมาให้ชาวบ้านได้ใช้ตลอดช่วงหน้าแล้ง โดยไม่ได้มีการตัดวงจรทางระบบนิเวศใดๆทั้งสิ้น และที่สำคัญ ฝายมีชีวิตนี้ ได้เสริมสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืน เพราะเมื่อ ดิน น้ำ ป่า มีความสมบูรณ์แล้ว เศรษฐกิจของชุมชนก็จะเข้มแข็งไปด้วยนั่นเอง
ก็ต้องขอขอบคุณ และขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องทุกๆ คน ทั้งพัฒนาการจังหวัด ท่าน นายก อบต. และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งตัวแทนบริษัทประชารัฐสามัคคี จังหวัดนครนายก รวมถึงกำลังสำคัญของเราในวันนี้ คือ ‘ครูฝาย’ เป็นการทำดีด้วยหัวใจ ด้วยการเสียสละ มีทั้งการเสียสละเงินซื้อของอุปกรณ์ต่าง ๆและเสียสละกำลังแรงงาน กำลังกาย กำลังสติปัญญา ในการทำโครงสร้างของฝาย ด้วยไม้ไผ่ และเชือก การสร้างฝายในวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้น สร้างหมุดจำ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครนายก ในเรื่องของฝายมีชีวิต เพราะปกติเราจะได้ยินในชื่อว่าฝายแม้วซึ่งทำคล้าย ๆ แบบนี้ แต่แบบนั้นจะผุพังได้ง่ายกว่า แต่ฝายมีชีวิตนี้ เป็นฝายที่คงทนถาวร เพราะเราอาศัยธรรมชาติ คือ ต้นไทร หรือต้นไม้ที่อยู่กับน้ำและมีรากที่ยึดเหนี่ยวดิน หิน ทรายให้อยู่กับลำต้นได้ โดยอาศัยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผมได้ตั้งชมรม อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จังหวัดนครนายกขึ้นด้วย และขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมในชมรมนี้ นายสุทธิพงษ์กล่าวในตอนท้าย