เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย และดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ รวมพลังประชาชนปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ที่เขาขยาย ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท โดยมีประชาชนชาวชัยนาท ร่วมกิจกรรม จำนวนมาก
จากนั้น อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ และคณะ ได้เดินทางต่อไปยัง โรงเรียนวัดสิงห์ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท เพื่อมอบถุงยังชีพจำนวน 300 ชุด ให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดชัยนาท ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ตามโครงการ “เติมความสุข บรรเทาความทุกข์ ด้วยการแบ่งปัน” ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2563 โดยมี นายนที มนตริวัต รองผวจ.ชัยนาท นายวีระศักดิ์ ศรีโสภา รองผวจ.ชัยนาท นางบำเพ็ญ ศรีโสภา รองนายกเหล่ากาชาด จ.ชัยนาท นางเสริมศรี ศรีวงษ์ญาติดี รองนายก อบจ. ชัยนาท นายวัฒนา เดียวสุรินทร์ พัฒนาการจังหวัดชัยนาท นายยุทธนา แรกขึ้น นายอำเภอวัดสิงห์ นายรชต ปานสมบูรณ์ ผอ.รร. วัดสิงห์ นางนภัสกรณ์ ธูปแก้ว ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี จ.ชัยนาท ผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน ร่วมต้อนรับ
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กิจกรรมปลูกป่าครั้งนี้เป็นการต่อยอดโครงการ “รวมพลังสตรีอาสาพัฒนา ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี” ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย.2563 เป็นการร่วมแสดงพลังสตรีอาสาพัฒนาทุกระดับในการขับเคลื่อนโครงการฯ ในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 22 แห่งทั่วประเทศ และมีพื้นที่ เขาขยาย จ.ชัยนาท เป็นพื้นที่ต้นแบบ
อย่างไรก็ตาม กิจกรรมครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีฯ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ที่ทรงสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
“การปลูกต้นไม้ในโครงการนี้ ไม่ได้มีความหมายเพียงการร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น เพราะเป็นการต่อยอดฟื้นฟูและพลิกฟื้นผืนดินของเขาขยาย ให้กลับคืนสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ มีพืชพันธุ์ไม้ทั้งประจำถิ่นและพันธุ์ไม้นานาชาติ ที่ระดมกำลังทั้งงบประมาณภาครัฐและเอกชนมาปลูกไว้ที่เขาขยาย และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยผมได้ริเริ่มโครงการมาตั้งแต่สมัยที่รับราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท เมื่อพ.ศ. 2557 และน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ประชาชนชาวชัยนาททุกคน รวมถึงภาครัฐ และภาคเอกชน ยังคงสืบสานต่อยอดเพื่อรักษาผืนป่านี้ไว้ให้แก่ลูกหลานและแผ่นดิน
สำหรับ การปลูกต้นไม้ในในสวนเฉลิมพระเกียรติฯ จะมีจำนวน 1,042 ต้น 10 สื่อความหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และ 42 คือพระชนมายุของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะปลูกต้นไม้สีม่วง 3 ชนิด คือ ต้นตะแบก ต้นอินทนิล และต้นเสลา ต้องปลูก 3 ชนิดคือ ปลูกตามวันคล้ายวันพระราชสมภพวันที่ 3 มิ.ย.ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี” นายสุทธิพงษ์กล่าว
นายสุทธิพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ตนมีความผูกพันรักใคร่กับคน จ.ชัยนาทมายาวนาน ดีใจมีโอกาสมาปลูกต้นไม้เพิ่ม และมามอบถุงยังชีพให้กับตัวแทนของคน จ.ชัยนาทที่ได้รับคัดเลือกให้มารับสิ่งของจากผลกระทบของสถานการณ์ระบาดไวรัสโควิด -19 จ.ชัยนาท ถือเป็น 1 ใน 9 จังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เลยถือว่าให้ความร่วมมืออย่างดีกับรัฐบาล แต่ทุกคนอย่าเพิ่มประมาทการ์ดอย่าตก ยังต้องสวมหน้ากากอนามัยดูแลตัวเองใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง อย่าสร้างความเสี่ยงให้ตัวเองติดเชื้อโควิด อย่าทำให้จ.ชัยนาทเสียชื่อเสียงหลุดจาก 1 ใน 9 จังหวัดที่ไม่มียอดผู้ติดเชื้อ
นอกจากนั้นต้องรู้จักออกกำลังกาย โดยเฉพาะออกกำลังด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับครอบครัวและสังคม โดยแต่ละบ้านควรปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย 10 ชนิดประจำบ้าน เช่น กล้วย กะเพรา ตะไคร้ เป็นต้น
อธิบดี พช. ยังเชิญชวนให้คนชัยนาทสวมใส่ผ้าไทยเพื่อเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทยให้คงอยู่ตลอดไป และทำให้คนชุมชนต่างๆ ที่ผลิตผ้าไทยได้มีรายได้ โดยเฉพาะ จ.ชัยนาทมีผ้าไทยเนินขามที่ใช้ใบมะขามใส่ในลายผ้า จนกลายเป็นผ้าประจำถิ่นที่มีชื่อเสียงเพิ่มมาอีก 1 ชนิด ทำให้ผ้าเนินขามมีราคมสูงขึ้นและทำให้ จ.ชัยนาทมีผ้าไทยที่คนรู้จัก
ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีฯ กล่าวว่า สภาสมาคมสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เข้าใจและตระหนักถึงโรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ โดยวิกฤติดังกล่าว ได้ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องหยุดดำเนินการ ประชาชนต้องร่วมกันอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนขาดรายได้ สภาสตรีฯ ได้ดำเนินโครงการหลายโครงการ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือการร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน แจกจ่ายถุงยังชีพ ไม่น้อยกว่า 5,000 ถุงทั่วประเทศ ซึ่งได้เดินทางไปมอบแล้วหลายจังหวัด อาทิ จ.นครปฐม พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ อุดรธานี หนองคาย สมุทรสาคร ร้อยเอ็ด และในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและเติมกำลังใจให้กันในยามวิกฤติ จนกว่าสถานการณ์ทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนจะคลี่คลาย