นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวในระหว่างการประชุมในครั้งนี้ว่า การขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแนวทางสำคัญแนวหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเชื่อมโยงสังคม คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศอ.บต.” เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลักในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมา ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ขาดการประสานการทำงานที่ดีและต่อเนื่อง ไม่มีการเชื่อมโยงการผลิตและการค้าแบบครบวงจร ส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ศอ.บต. ได้เริ่มจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเป้าหมายเพื่อให้เกษตรกร 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มองภาพอนาคตที่ชัดเจนร่วมกัน เพื่อที่จะนำไปสู่การวางแผนการทำงานทั้งระบบได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการยกระดับการทำเกษตรกรรมของพี่น้องเกษตรกรไปสู่ “เกษตรอุตสาหกรรม” เพื่อการส่งออกทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจฐานราก โดยประชากรในพื้นที่กว่า 1 ล้านคน ล้วนแต่ประกอบอาชีพเป็นการเกษตรกร อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเกษตรฐานรากยังขาดทิศทาง การพัฒนาที่ชัดเจนเป็นระบบ ต่อเนื่องขาดการหนุนเสริมการทำงานของทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามศักยภาพของพื้นที่ตามเป้าหมายการทำงานที่กำหนด จึงต้องสร้างแนวทางและเชื่อมทุกองค์กรเข้ามาทำงานร่วมกัน
นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ยังได้กล่าวอีกว่า การเชื่อมโยงเกษตรอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญในพื้นที่วันนี้ เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเข้มแข็งทางการทำเกษตรกรรมอย่างมาก มีพื้นที่ที่มีศักยภาพ แต่เนื่องจากยังขาดเกษตรอุตสาหกรรมที่รองรับผลผลิตของเกษตรกรทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงผลผลิตของเกษตรกรเข้าสู่ช่องทางการจำหน่ายและแปรรูปในพื้นที่ได้ จึงให้มีการวางแผนการทำงานโดยมีประเด็นการทำงาน 5 ส่วนได้แก่ 1. การจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรในพื้นที่เพื่อให้สามารถทำเกษตรกรรมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 2. การวางโครง สร้างพื้นที่ฐานทางการเกษตร เช่น ระบบชลประทาน ระบบโครงสร้างดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูก วิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร การจัดพื้นที่การเพาะปลูก หรือ การ Zoning เป็นต้น 3. การแก้ไขปัญหาโครงสร้างหนี้ของเกษตรกรไปพร้อมกับการวางระบบการเงินของประชาชน โดยให้มีกองทุนเกษตรกรมระดับหมู่บ้านเชื่อมโยงกองทุนหมู่บ้านตามแนวนโยบายของรัฐบาล 4. การเชื่อมโยงภาคการเกษตรไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม การสร้างวิสาหกิจ ทาง การเกษตรอย่างหลากหลาย การตลาดที่เชื่อมโยงความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ การท่องเที่ยวเกษตรกรรม
และนวัตกรรมทางการเกษตร และ 5. การเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ทางการเกษตร โดย 5 แนวทางข้างต้น จะต้องให้สภาเกษตรกรได้ช่วยกันวางแผนการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้เชื่อมประสานการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการยกระดับเกษตรกรรมในพื้นที่กับอุตสาหกรรมไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งพื้นที่อำเภอหนอง จิก จังหวัดปัตตานี, อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตที่มีเป้าหมายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข อุตสาหกรรมระบบรางและระบบไฟฟ้า โดยทุกอุตสาหกรรมจะเป็นการดำเนินการตามแนวคิดอุตสาหกรรมสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีงานทำและมีครอบครัวที่สมบูรณ์
ด้าน นายธีระยุทธ วานิชชัง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวในการประชุมด้วยว่า “ณ วันนี้ประเทศไทยของเราพร้อมที่จะขับเคลื่อนเข้าไปสู่การเป็นฐานการผลิตภาคเกษตรที่สำคัญของโลก เมื่อเกิดสถานการณ์ที่สำคัญ ๆ เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา ประเทศไทยจะเกิดความเด่นขึ้นมาในเรื่องของอาหาร เช่น ข้าว สินค้าที่แปรรูปมาเป็นอาหาร โดยเฉพาะภาคใต้ มีศักยภาพที่จะผลิตสินค้าทางการเกษตรเลี้ยงคนภายในประเทศและต่างประเทศได้ ทั้งนี้เชื่อว่า อนาคตภาคการเกษตรจะเป็นคำตอบให้กับทุกภาคส่วน”
ทางด้าน นายมะเสาวดี ไสสากา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยะลา กล่าวว่า เกษตรอุตสาหกรรมคือปลายทางภาคการเกษตรที่จะนำพาความมั่นคงและมั่งคั่งในอาชีพของเกษตรกรในอนาคต ที่ผ่านมาภาคเกษตรเป็นภาควิชาชีพเดียวที่ขาดการวางแบบแผนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการเกษตรต้นทาง หรือภาคการผลิตที่เน้นการผลิตแบบเก่า ๆ ขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาหนุนเสริมเพื่อพัฒนาด้านคุณภาพและปริมาณ อีกทั้งไม่สามารถเชื่อมโยงกับกลางทางที่เน้นการสร้างมูลค่าและคุณค่าเป็นหลัก เช่นปลูกข้าวแล้วพัฒนาผลผลิตเป็นอาหารเพื่อสุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ แทนที่จะเน้นจำหน่ายข้าวเปลือกเชกเช่นในอดีต เป็นต้น ที่สำคัญภาคการผลิตที่ผ่านมาขาดการเชื่อมโยงกับตลาดปลายทาง ดังนั้นเกษตรอุตสาหกรรมคือจิกซอที่ภาคการเกษตรขาดหายไป หากรัฐบาลได้หนุนเสริมภาคอุตสาหกรรม และจัดแผนพัฒนาการผลิตที่เป็นระบบ ภายใต้กลไกองค์กรเข้มแข็งทั้งในรูปแบบเกษตรวิสาหกิจ เกษตรอุตสาหกรรม ตลอดจนการพัฒนาสินค้าเกษตรรายสินค้าอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตลอดทั้ง Supply Chain และดำเนินการอยู่ภายใต้เกษตรวิถีธรรม หรือความเป็นธรรมตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่า นี้คือคำตอบสำคัญเพื่อการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต
ด้าน นายอับดุลอาซิ เบ็ญดือราแม ตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดยะลา มีความเห็นว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีอุตสาหกรรมการเกษตรเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำเป็นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ลดลง หากมีภาคการแปรรูปในพื้นที่ ก็หวังว่าสินค้าการเกษตรจะมีราคาที่สูงขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเราให้สามารถลืมตาอ้าปากได้มากกว่านี้ในอนาคต