เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยวาจา เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ณ โรงเรียนจะนะวิทยา ต.สะกอม อ.จะนะ ท่ามกลางการจัดกำลังเจ้าหน้า ที่ตำรวจหลายร่วมพันนาย เข้าเตรียมการตั้งจุดสกัดหลายด่าน ตรึงกำลังเฝ้าป้องกันระมัดระวังอย่างเข้มงวด เพราะมีข่าวลือว่างานนี้อาจมีมือที่ 3 เข้ามาสร้างความปั่นป่วนในงาน
การดำเนินการดังกล่าวเป็นการขยายผลจากโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่ ศอ.บต. ขับเคลื่อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ซึ่งเป็นพี่น้องประชาชนที่มีส่วนได้เสียในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมก้าวหน้า เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครง การดังกล่าว
บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก พี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างสนใจเข้ามาร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยเป็นคนในสามตำบลเท่านั้น
สำหรับการเปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยวาจา เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา บรรยากาศบนเวที เป็นการนำเสนอข้อมูลจากภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมนำเสนอทิศทางการพัฒนาตามกรอบแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ และนำเสนอแผนการลงทุนและนำเสนอผังการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนการลงทุนของภาคเอกชน โดยมี นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายวรวิทย์ เลิศบุษราคาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายโรงงาน บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ นายกันต์ภัทร แสงจันทร์ ที่ปรึกษา ไออาร์พีซี นอกจากนี้มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของประชาชน เกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการฯ อย่างเปิดกว้างในครั้งนี้อีกด้วย
ด้าน นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. เผยว่า ก่อนสร้างอุตสาหกรรมต่างๆ ภาคเอกชนจะต้องศึกษา EIA หรือผลกระทบที่จะขึ้นกับสิ่งแวดล้อมตามกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายธรรมชาติโดยเจตนาและไม่เจตนา ทั้งนี้ภาคเอกชนจะไม่เข้ารุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำกิน เนื่องจากดำเนินโครงการในเขตที่ดินของเอกชนทั้งสิ้น ทั้งนี้ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เผยอีกว่า ศอ.บต. ไม่เคยมีเจตจำนงของการทำลายความสุขของประชาชนแม้แต่เพียงเล็กน้อย หากทำแล้วประชาชนอยู่ไม่ดี กินอยู่ไม่ได้ ไม่มีความสุขก็อย่าทำ
“วันนี้เราต้องพิจารณาปัญหาเรื่องแรงงานว่างงาน พัฒนาพืชผลทางการเกษตร ก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อยกระดับพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพ รายได้ การศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดี
ความคิดเห็นและข้อเสนอบางส่วนจากชาวบ้านในชุมชนที่เข้าร่วมเวทีนี้
“ไม่ขอคิดค้นหรือทำอะไรทั้งสิ้น แต่จะมั่นใจว่าจะได้ประโยชน์อย่างไรจากโครงการนี้จริง ผลกระทบเกิดขึ้นกับทุกคนอย่างแน่นอน อย่างเมื่อคราวท่อแก๊สเขาไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เมื่อเกิดเหตุแล้วเขาบอกจะช่วยเหลือ เขารู้อยู่แล้วว่าเมื่อมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นต้องมีน้ำเสียตามมา ชุมชนเดือดร้อน หากโครงการนี้เกิดขึ้นควรเอาแผนนั้นมาปรับปรุง ให้นิคมแก้ที่ต้นเหตุก่อน อย่ามาแก้ไขทีหลัง เขาพูดได้ว่าจะเป็นอย่างนั้น สบายอย่างนี้เพราะอยู่ในแผนงานเขาทั้งหมด
อย่างคนทำงานที่โรงงานไฟฟ้าจะนะมาจากที่อื่นทั้งนั้น ประชาชนรากหญ้าจริงๆ ไม่เคยได้อะไร”
อัญชลี หลีเสาะ ผู้ประกอบการจาก ต. นาทับ ให้เอาบทเรียนจากโรงไฟฟ้าจะนะมาปรับปรุงและขอคำตอบชัดเจนเรื่องการมีงานทำของคนในพื้นที่
“ใครๆ ก็อยากได้ความเจริญ เพื่อให้ลูกหลานมีความก้าวหน้า ไม่ว่าจะสร้างอะไร ขอให้เกิดประโยชน์แท้จริงต่อประชา ชนและคนในชุมชนนั้นมากที่สุด ชาวบ้านเท่านั้นที่จะตัดสินว่าให้สร้างหรือไม่สร้าง ไม่ใช่อบต.หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน เมื่อเราเดือดร้อนจากนิคมฯ จะไปขอความช่วยเหลือและเรียกร้องสิทธิ์จากใคร อบต. ผู้ใหญ่บ้าน หรือใคร ถ้าอย่างตอนท่อแก๊สหรือโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะมีการต่อต้านอย่างไรก็ยังเกิดขึ้น จะให้สัญญาอย่างไร ตรงไหนที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเราอย่างจริงใจ ให้ลูกหลานเราได้ทำงานกี่เปอร์เซ็นต์ ขอให้มีความขัดเจนในเรื่องนี้ด้วย”
อีกด้านหนึ่ง นางจุฑารัตน มโนมัยเสถียร ตัวแทนชาวบ้านสะกอม ม.2 ต.สะกอม บอกว่า
“เราเป็นคนสะกอมโดยกำเนิด แต่ต้องย้ายลูกหลานไปเรียนไปทำงานที่ปัตตานี ทั้งๆ ที่กลัวเรื่องความปลอดภัย แต่ก็ต้องอยู่ที่นั่นเพราะจะนะไม่มีงานทำ ต้องการให้จะนะเป็นเมืองเศรษฐกิจ ลูกหลานและประชาชนจะได้กลับมามีงานทำในชุมชนที่ปลอดภัยกว่าที่อื่น ส่วนใหญ่ในชุมชนมีคนเห็นด้วยกับโครงการมากกว่าไม่เห็นด้วย อยากได้โรงงานอุตสาหกรรมที่สะอาด ให้ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดให้ยั่งยืน และให้มีการรับปากยืนยัน ต้องการคำสัญญาที่เป็นความจริง ไม่หลอกลวง”
การขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นการต่อยอดการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปสู่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยให้อำเภจะนะ จังหวัดสงขลา ยกระดับการพัฒนาเชิงพื้นที่ทั้งระบบและครบวงจร
งานนี้จบลงอย่างสงบ…
กองบรรณาธิการ, โต๊ะข่าวชายแดนใต้