เตรียมพร้อมดูแลสุขภาพประชาชน – ป้องกันโรคติดต่อในช่วงฤดูฝน

นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข แจ้งเตือนโรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน มักเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, ไข้ไวรัส RSV, ปอดบวม, หลอดลมอักเสบ และโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการได้รับเชื้อมาจากคนและสัตว์ รวมถึงโรคไข้เลือดออกที่มีสาเหตุจากยุงลายเป็นพาหะนำโรคว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพประชาชนในช่วงฤดูฝน ประกอบด้วย การเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากรายงานของสถานพยาบาลต่าง ๆ เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์

รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 68 แห่ง จัดทีมสอบ สวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อให้บริการสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรคและภัยสุขภาพในช่วงฤดูฝน สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ เช่นโปสเตอร์ แผ่นพับ แผ่นปลิว สื่ออินเทอร์เน็ต ให้กับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนเวชภัณฑ์ ได้แก่ ยาน้ำกัดเท้า ตลอดจนมีมาตรการคัดกรองเด็กนักเรียนก่อนที่จะเข้าสถานศึกษา หากพบเด็กป่วยให้ผู้ปกครองพากลับบ้านไปพบแพทย์ทันที และแนะนำให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ

ขณะเดียวกันได้มีแนวทางส่งเสริมความรู้การดูแลรักษาสุขภาพแก่ประชาชน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อในช่วงฤดูฝน เช่น โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคติดต่อทางระบบทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ได้แก่ โรคมือเท้าปาก โรคที่เกิดจากยุงและสัตว์ต่าง ๆ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา โรคไข้สมองอักเสบ โรคฉี่หนู โรคหรือภัยที่เกิดจากน้ำท่วม ได้แก่ โรคตาแดง และโรคน้ำกัดเท้า รวมถึงภัยอันตรายที่มากับน้ำ ได้แก่ ไฟดูด จมน้ำ เหยียบของมีคม อันตรายจากสัตว์มีพิษ

นอกจากนั้น ได้มีหนังสือแจ้งเตือนมาตรการป้องกันโรคและภัยในช่วงฤดูฝน รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทุกแห่ง รวมทั้ง สำนักการศึกษา กทม. สำนักพัฒนาสังคม กทม. และสำนักงานเขต เพื่อประชา สัมพันธ์ให้ความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพแก่ประชาชน เพื่อป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ประชาชนผู้มารับบริการ ผู้ปกครองและนักเรียนในสถานศึกษา