หา “พันธมิตรร่วมทุน” ภารกิจ “กู้ชีพ” ธนาคารอิสลามฯ !!

“ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” หรือ “ไอแบงก์” ติดหล่ม “หนี้เสีย” (NPFs) จำนวนมหาศาลจนประสบปัญหาอย่างหนัก เป็นหนึ่งใน 7 รัฐวิสาหกิจที่ต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการ ส่งให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” พิจารณา

แผนฟื้นฟูฯ ที่ทำกันมาเป็นระยะ ปรับแผนกันไปหลายรอบ จนล่าสุด ธนาคารได้รับแจ้งมติซูเปอร์บอร์ด เคาะแนวทางการฟื้นฟูกิจการ โดยให้ธนาคารอิสลามฯ ต้อง แยกสินทรัพย์ดี-หนี้เสีย และ หา “พันธมิตร” มาร่วมทุน

ในการแถลงข่าวกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 58 ที่ผ่านมา นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานคณะกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูฯ ว่า จากมติซูเปอร์บอร์ดที่ผ่านมา ได้ให้ธนาคารแยกสินทรัพย์ดี (GoodBank) และหนี้เสีย (Bad bank) ให้ชัดเจน และเร่งหาพันธมิตรร่วมทุน

นอกจากนั้นให้ตรวจสอบฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดและทำให้ธนาคารได้รับความเสีย หายจากการปล่อยสินเชื่อโดยมุ่งเน้นในรายที่มีความเสียหายจำนวนมากก่อน

11836827_1153089438041169_1846418488426283159_nนายชัยวัฒน์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำนเนินการว่า ธนาคารได้ว่าจ้าง บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ และ บริษัท หลักทรัพย์ แมคควอรี (Macquarie) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน โดยเข้ามาดำเนินการแยกสินทรัพย์ดี และ หนี้เสีย รวมทั้งช่วยหาพันธมิตรร่วมทุนให้เข้ามาซื้อหุ้นของธนาคาร

“เบื้องต้นหลังจากปรับโครงสร้างทางการเงิน ในส่วน “สินทรัพย์ดี” จะดำเนินการโดยให้ที่ปรึกษาทางการเงินหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนที่ต้องเข้ามาดำเนินธุรกิจอิสลาม เช่น Islamic Trade Finance, Islamic Merchant & Investment และ Islamic Finance“

“ส่วน หนี้เสีย ที่คาดว่าจะมีอยู่ประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาทจากยอดหนี้เอ็นพีแอลทั้งหมด 4.8 หมื่นล้านบาท จะดำเนินการโดยตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ “เอเอ็มซี” เข้าบริหารหนี้ดังกล่าวต่อไป“

“นอกจากนี้ ธนาคารยังจ้าง บริษัท เบเคอร์แอนด์แมคเคนซี่ (Baker & McKenzie) เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพื่อดำเนินการในการตรวจสอบฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดและทำให้ธนาคารได้รับความเสีย หายจากการปล่อยสินเชื่อ“

“รวมทั้งจะเข้ามาดูเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากสถาบันการเงินที่จะเข้ามาร่วมทุนด้วยต้องการมีสิทธิ์ในการบริหาร จัดการ หรือต้องถือหุ้นสูงกว่า 50% จึงต้องมีการแก้ไขในส่วนของกฎหมาย คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 3 เดือนนี้“ นายชัยวัฒน์ กล่าว

สำหรับฐานะทางการเงินของธนาคารอิสลามฯ นายชัยวัฒน์ระบุว่า

“จากการปรับโครงสร้างองค์กรตามแนวทางการฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ล่าสุด อยู่ที่ 48,292 ล้านบาท หรือคิดเป็น 47% ของสินเชื่อคงค้าง ลดลงจากก่อนหน้าที่ 55,230 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52 % ของสินเชื่อคงค้าง และมีหนี้ดีกว่า 50,000 ล้านบาท โดยธนาคารมีสินทรัพย์รวม 101,705 ล้านบาท โดยในส่วนของหนี้เสียกว่า 40,000 ล้านบาทอยู่ระหว่างพิจารณาคัดแยกเพื่อไปจัดตั้งเป็น เอเอ็มซี เพื่อบริหารจัดการหนี้เสียโดยเฉพาะ และจะติดตามหนี้กลับมาให้ครบ”

“หนี้ส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ลูกค้าชาวมุสลิม ขณะที่หนี้เสียของชาวมุสลิม มีอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท เท่านั้น ซึ่งหนี้เหล่านี้จะไม่ถูกโอนไป เอเอ็มซี แต่จะถูกบริหารควบคู่ไปกับหนี้ดีของธนาคาร เพื่อให้เป็นตามพันธกิจของธนาคารตามหลักชะรีอะฮ์ เพื่อให้บริการแก่ชาวมุสลิม และ การดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต” ประธานกรรมการ ระบุ

ควบรวม-ยุบทิ้ง-พันธมิตรร่วมทุน

อันที่จริงก่อนหน้านี้ช่วงเดือนกันยายน ปี 2557 มีข่าวว่า รัฐถอดใจที่จะอุ้มธนาคารอิสลามฯ โดยเล็งที่จะยุบธนาคารแห่งนี้ ตามคำให้สัมภาษณ์ของ นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง (ในขณะนั้น)  ซึ่งระบุว่าอยู่ในช่วงการหารือ กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการแก้ปัญหาฐานะของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ว่า เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมาพบข้อมูลไม่โปร่งใส  มีหนี้เสียจำนวนมาก  และขาดทุนสะสมสูง ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาในส่วนของไอแบงก์อยู่ในระหว่างการพิจารณาว่าจะยุบสถาบันการเงินแห่งนี้หรือไม่

จากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ทำให้สำนักจุฬาราชมนตรี ต้องออกหนังสือแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่ง โดยในหนังสือระบุว่า การตัดสินใจยุบธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยนั้น ไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขปัญหา และทำหนังสือ ไปยัง พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี และ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในขณะนั้น) โดยเสนอขอให้มีการพิจารณาทบทวนการตัดสินใจยุบธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

จนกระทั่ง 14 ม.ค.58 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันในการให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่ยุบธนาคารอิสลาม โดยกล่าวว่า “ยังไม่มีแนวคิดที่จะยุบ เพียงแต่ต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ และคิดถึงพี่น้องชาวอิสลาม ทำอย่างไรจะให้เกิดผลประโยชน์โดยตรงให้ได้ ไม่ใช่นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น”

คำพูดของนายกฯ แม้จะช่วยดับข่าวการยุบธนาคารอิสลามฯ ลงไปได้พอสมควร แต่ก็ยังมีข่าวเป็นระยะๆ ว่า อันที่จริงธงของกระทรวงการคลัง คือ “ควบรวม” หรือ “ยุบทิ้ง” แต่ในกรณี “ควบรวมกิจการ” ไม่มีธนาคารอื่นสนใจเพราะไม่ต้องการภาระเพิ่มเติม เนื่องจากกลัวการแบกรับภาระหนี้และต้องถมเงินลงไปในธนาคารอิสลามแห่งนี้ ที่สุดเหลือทางเลือกอยู่ก็คือต้อง “ยุบทิ้ง” เพราะหนี้เสียที่สะสมจำนวนมาก การเติมเม็ดเงินเข้าไปเสริมสภาพคล่องนั้นคงไม่เป็นผล

แต่เหตุด้วยกระทรวงการคลังไม่ต้องการให้เป็นปมปัญหาบานปลาย เกรงจะเป็นข้อขัดแย้งเรื่องศาสนา จึงนำมาสู่แนวทางการหาพันธมิตรร่วมทุน โดยเล็งไปที่แหล่งทุนจากกลุ่มประเทศมุสลิม ซึ่งก็มีการพยายามเจรจาหาผู้ร่วมทุนมาระยะหนึ่งแล้ว

หาพันธมิตรร่วมทุน ภารกิจสุดท้าทาย!

ตามที่นายชัยวัฒน์กล่าวกับผู้สื่อข่าว “มีสถาบันการเงินทั้งจากเอเชีย ตะวันออกกลาง รวมถึงยุโรป รวมกับกว่า 25 ประเทศที่มีศักยภาพ สนใจเข้าเป็นพันธมิตรตามที่ที่ปรึกษาทางการเงินจัดหา แต่ต้องคุยในเรื่องของสัดส่วนถือหุ้นกับกระทรวงการคลังว่าจะได้เท่าไร” ซึ่งเขาคาดว่า การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ จะเสร็จสิ้นและได้สถาบันการเงินที่เข้ามาร่วมทุนภายใน 6 เดือน นับจากนี้ หรือไตรมาสแรกของปี 2559

กระนั้น การหาพันธมิตรร่วมทุนก็นับเป็นภารกิจสุดท้าทาย ด้วยมีตัวแปรและปัจจัยอื่นอีกหลายประการ ที่สำคัญก็คือความไม่ชัดเจนในสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างรัฐผู้ถือหุ้นเดิมกับผู้ร่วมทุนรายใหม่ ด้วยถ้าปล่อยหุ้นให้พันธมิตรในจำนวนที่น้อย นั่นหมายถึงการหาผู้สนใจร่วมทุนได้ยากขึ้น แต่ถ้าปล่อยมาก ก็จะหมายถึง การสูญเสียอำนาจในการบริหารจัดการในธนาคารแห่งนี้

ทั้งนี้ในทางปฏิบัติ ผู้จะเข้ามาร่วมทุนก็ย่อมต้องการอำนาจและสิทธิ์ในการบริหารจัดการ นั่นหมายถึงสัดส่วนจำนวนหุ้นที่มากพอ คือเกิน 50% หรืออาจจะมากกว่านั้นหากพันธมิตรต้องการสิทธิคัดค้าน (Veto Right)

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ซูเปอร์บอร์ด ก็ยังคงต้องการให้ธนาคารอิสลามฯ เป็นสถาบันการเงินที่รัฐยังคงถือหุ้นใหญ่

ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นสองเรื่องที่ย้อนแย้งกันในตัวอย่างเห็นได้ชัด !!

11220943_1153089544707825_8378143787272477028_nนี่จึงเป็นความท้าท้ายในการแก้ปัญหาของผู้บริหารธนาคารอิสลามฯ ตามโจทย์ที่ได้รับมา!!

นอกจากนั้นแล้วยังต้องพิจารณาถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องแก้ไขเพื่อเอื้อให้พันธมิตรต่างชาติสามารถเข้ามาร่วมลงทุนได้

อีกยังต้องพิจารณาในมิติเรื่องของความมั่นคง รวมทั้งกระแสและปฏิกิริยาทางสังคม ต่อการเข้ามาถือหุ้นของต่างชาติในธนาคารของรัฐฯ อีกด้วย

เหล่านี้เป็นตัวอย่างของกับดักที่อาจทำให้การหาผู้ร่วมลงทุนซึ่งเป็นพันธมิตรต่างชาตินั้นเป็นเรื่องมิใช่ง่ายดายนัก

ซึ่งนับจากนี้อีก 3-6 เดือน คงจะได้รู้ว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย อันริเริ่มขึ้นจากความต้องการและผลักดันของชาวมุสลิมที่ต้องการดำเนินธุรกรรมโดยปราศจากดอกเบี้ยตามหลักการอิสลาม จะอยู่ต่อไปได้หรือไม่?