เปิดตัว “เจ้าชายน้อย” ฉบับภาษามลายู อักษรยาวี แปลโดยอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.อ.ปัตตานี

“เจ้าชายน้อย ฉบับภาษามลายู อักษรยาวี” โดยมี อาจารย์แวมายิ ปารามัล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษามลายูและเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษามลายู เป็นผู้แปล พร้อมเปิดตัวในงานม.อ.วิชาการ 2020 ณ ม.อ.ปัตตานี เมื่อเร็วๆ นี้

….

เตือนใจก่อนจาก

เจ้าชายน้อยพบตัวเองอยู่ที่ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ซึ่งมีผู้รักภาษาอาศัยอยู่ เขาสวมหมวกสีดำและไว้เคราสั้น เขาสวมใส่เสื้อผ้าที่ดูเท่ ดูท่าทางเหมือนผู้ที่มีชาติตระกูลดี เขากำลังถือหนังสืออยู่ในมือทั้งสองข้างของเขา กำล้งอ่านหนังสีออยู่ กระมัง ภายใต้ความร้อนของแสงอาทิตย์ที่สาดส่องอย่างแรงกล้า

” สวัสดีครับ” เจ้าชายน้อยทักทาย

“สวัสดีครับ” เขาขานรับ

“คุณกำลังทำอะไรอยู่ครับ” เจ้าชายน้อยถาม

“ผมกำลัง เลสตารีกัน (คำมลายู-อนุรักษ์) ภาษาและตัวเขียนของเรา” เขาตอบ

“เลสตารีกันหมายถึงอะไร” เจ้าชายน้อยถาม

“เลสตารีกันหมายถึง การอนุรักษ์ (เขาทับศัพท์ภาษาไทย) สิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ให้สาบสูญไป” ผู้ชายคนนั้นชี้แจง

“อ๋อ อย่างนี้สิถึงจะเข้าใจ” เจ้าชายน้อยกล่าว

ต่อมาผู้ชายคนนั้นกล่าวเพิ่มเติม “เด็กๆ สมัยนี้ไม่ชอบพูดภาษาของบรรพบุรุษของพวกเขาและไม่ต้องการใช้ตัวเขียนที่เป็นมรดกของบรรพบุรุษของพวกเขา”

เขานิ่งเงียบสักครู่ ต่อมาเขาก็ถามเจ้าชายน้อย “เธออ่านหนังสือและเขียนด้วยตัวเขียนที่เป็นมรดกของบรรพบุรุษของเธอหรือเปล่า”

เจ้าชายน้อยไม่ตอบ

และหลังจากครุ่นคิดอยู่สักครู่ ผู้ชายคนนั้นกล่าวต่อ “ตัวเขียนคืออัตลักษณ์ของเรา ชาติพันธุ์ของเราจะไม่สาบสูญไปจากโลกนี้….”

“ตัวเขียนคืออัตลักษณ์ของเรา ชาติพันธุ์ของเราจะไม่สาบสูญไปจากโลกนี้” เจ้าชายน้อยกล่าว เพื่อให้แน่ใจว่าเขาจะไม่ลืม

“แต่” เจ้าชายน้อยถามขึ้นมาอย่างทันทีทันใด “อัตลักษณ์หมายถึงอะไร”

“เธอจะต้องเขียนด้วยการใช้ตัวเขียนที่เป็นมรดกของบรรพบุรุษของเธอ” ผู้ชายคนนี้

“อัตลักษณ์หมายถึงอะไร”เจ้าชายน้อยถามขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเขาไม่เคยละเลยคำถามที่เขาเคยถามขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง

“อัตลักษณ์หมายถึงลักษณะเฉพาะตัวที่เป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นตัวตนของแต่ละชาติพันธ์” เขาตอบ

แต่เจ้าชายน้อยไม่อาจทนแดดร้อนอีกต่อไป

“ทำไมคุณถึงไม่ไปอ่านหนังสือที่ไต้ร่มเงาต้นไม้นั้นละ” เจ้าชายน้อยถามด้วยความรู้สึกกระสับกระส่าย

“ขนาดภายใต้แสงอาทิตย์ที่สว่างจ้าเช่นนี้ผมยังอ่านหนังสือไม่ออกเลย แล้วประสาอะไรกับภายใต้ความมืดของร่มเงาต้นไม้นั้นเล่า” เขากล่าว พร้อมกับถอนหายใจยาวๆ

หลังจากนิ่งเงียบอยู่ชั่วครู่ ผู้ชายคนนั้นก็พูดต่อ “ฉันได้ลองสวมแว่นตานับร้อยๆ คู่แล้ว แต่ก็ยังอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ออกอยู่ดี” เขาพูดพร้อมกับถอนหายใจยาวๆ

เหล่านกที่อยู่บนต้นไม้นั้นส่งเสียงเจี๊ยวเจ๊า หัวเราะเยาะผู้ชายคนนั้น กระมัง

เจ้าชายน้อยเหลือบมองหนังสือในมือของผู้ชายคนนั้นที่เขาถือในลักษณะกลับหัวกลับหางอยู่ “ผู้ชายคนนี้แปลกจริงๆ”

เขาคิดกับตัวเขาเอง ด้วยความงงงวย เกาหัวแกรกๆ

แล้วเขาก็ย่างก้าวแรกไปข้างหน้า เริ่มการเดินทางของเขาต่อไป

เลสตารีกัน เป็นคำภาษามลายู แปลว่า อนุรักษ์ ถือเป็นศัพท์ยากสำหรับคนสามจชต. คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจ แม้แต่ผู้ใหญ่ชาวบ้านทั่วไปก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าใช้คำไทยว่า อนุรักษ์ เขาจะเข้าใจ เขามักพูดมลายูปนกับไทย

แวมายิ ปารามัล

คือคำเตือนใจก่อนจากก่อนหน้าสุดท้าย จากอ.แวมายิ ปารามัล ผู้แปลเจ้าชายน้อยภาษามลายู อักษรยาวี

…..

กลางปี 2563 ที่ผ่านมา สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ นักเขียน นักเดินทาง และนักสะสมวรรณกรรมเจ้าชายน้อยแถวหน้าของไทย ร่วมกับ ภาควิชาภาษามลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) เริ่มโครงการ “เจ้าชายน้อย ฉบับภาษามลายู อักษรยาวี” โดยมี อาจารย์แวมายิ ปารามัล อาจารย์ประจำภาควิชาภาษามลายูและเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษามลายู เป็นผู้แปล พร้อมเปิดตัวในงานม.อ.วิชาการ 2020 ณ ม.อ.ปัตตานี เมื่อเร็วๆ นี้

“เจ้าชายน้อย” วรรณกรรมก้องโลกที่ได้รับการต่อยอดมาถึง 77 ปี เจ้าชายน้อยเดินทางในรูปแบบภาษาต่างๆ มีการแปลเป็นภาษาทั่วโลกกว่า 300 ภาษา หนึ่งในนั้นคือฉบับแปลภาษามลายู อักษรยาวี เป็นฉบับแปลภาษาต่างประเทศล่าสุด และเป็นภาษาที่ 3 ของไทย นับจากภาษาล้านนาและภาษาปกากะเญอ

ในงานเปิดตัวโครงการ “เจ้าชายน้อยภาษาถิ่น การเดินทางจากฝรั่งเศสสู่คาบสมุทรมลายู : การแปลวรรณกรรมเอกเพื่อเปิดโลกการอ่านผ่านภาษามลายู อักษรยาวี” ณ หอประชุมชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) มีการเสวนา รวมทั้งความเป็นมาของโครงการนี้ที่เริ่มต้นจาก สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ นักเขียนนักเดินทางและนักสะสมเจ้าชายน้อยแถวหน้าของไทย บอกว่า โครงการนี้ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยเริ่มต้นจากการที่ได้เดินทางไปร่วมจัดงานฉลอง 70 ปี ครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะนั้นเขาไปในฐานะอุปนายกสมาคมนักเรียนเก่าสวิสในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เขาได้มีโอกาสพบกับ ฌอง- มาร์ค พร๊อพสต์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฌอง-มาร์ค พร๊อพสต์ เพื่อเจ้าชายน้อย (Fondation Jean-Marc Probst pour Le Petit Prince) ในงานนั้น ได้พูดคุยและมูลนิธิได้ตกลงที่จะสนับสนุนโครงการหนังสือเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้จัดพิมพ์ฉบับภาษาล้านนาเป็นภาษาแรกเมื่อปี พ.ศ.2560 และภาษาปกาเกอะญอในปี 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่วรรณกรรมระดับโลกให้แก่เยาวชน โดยแจกจ่ายไปยังสถานศึกษา โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในเขตภาคเหนือ

“โครงการได้ต่อเนื่องจนกระทั่งปีนี้เราได้จัดทำหนังสือเจ้าชายน้อย ฉบับภาษายาวี ซึ่งเป็นภาษาถิ่นภาษาที่ 3 ในประเทศไทย เป็นผลงานล่าสุดของโครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่น ร่วมทำกับคุณบุษกร พิชยาทิตย์ เราต้องการอนุรักษ์ภาษาถิ่นไทย ซึ่งภาษายาวียังเป็นภาษาที่เข้มแข็ง มีคนใช้เยอะอยู่มากในชีวิตประจำวันของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดว่าการทำภาษายาวีจะเป็นประโยชน์มาก จะแจกให้แก่ห้องสมุดตามโรงเรียนปอเนาะ 400 กว่าโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และโรงเรียนในจังหวัดสงขลา”

อ.แวมายิ ปารามัล

อาจารย์แวมายิ ปารามัล ผู้แปลวรรณกรรมก้องโลกเป็นภาษามลายูบอกถึงที่มาของการได้รับโอกาสครั้งนี้พร้อมเล่าถึงการทำงานอันท้าทายว่า

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความภูมิไจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสแปล Le Petit Prince วรรณกรรมคลาสสิกระดับโลกนี้อย่างไม่คาดฝัน โดยเฉพาะเมื่อได้แปลโดยใช้อักษรยาวี ซึ่งชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าเป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของเรา”

เมื่อได้รับการติดต่อให้แปลเจ้าชายน้อย อ.แวมายิคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเพื่อศักดิ์ศรีและความสามารถของคณะฯ

“กลุ่มเป้าหมายเป็นตัวกำหนดตัวเขียน ตัวเขียนต้องเป็นอักษรยาวี ตัวเขียนกำหนดวงศัพท์ อักษรยาวีที่ใช้ในการแปลเจ้าชายน้อยเป็นอักษรยาวีตามหลักสะกดของเดวันบาฮาซาร์ อินโดนีเซีย ซึ่งในการแปลเจ้าชายน้อยครั้งนี้ อ.แวมายิแปลจากภาษาอังกฤษ เช็คกับภาษาไทย ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอินโดนีเชีย และภาษามาเลเซีย เอาหนังสือทุกภาษามากางเรียงกัน เปิดเว็บไซต์ดูภาษาฝรั่งเศส เพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด โดยได้ทำงานแปลอย่างเต็มความสามารถในช่วงเหตุการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา”

อ.แวมายิ บอกว่าเจ้าชายน้อยเป็นเรื่องของแนวคิดเชิงปรัชญาที่ให้เจ้าชายน้อยเป็นผู้สื่อถึงการใช้ชีวิต มีความคิด จินตนาการ คิดนอกกรอบ มีตรรกะอีกลักษณะหนึ่ง บ่อยครั้งที่ความคิด จินตนาการไม่ตรงกับผู้ใหญ่ที่มักกำหนดกรอบ
ในการแปลภาษา อ.แวมายิบอกว่าต้องดูข้อเท็จจริงทางสังคม และข้อเท็จจริงทางวิชาการ เช่นเดียวกับการพูดภาษามลายูหรือภายาวีว่า แม้แต่ในพจนานุกรมของเดวันบาฮาซาร์ที่เหมือนกับราชบัณฑิตยสถานของไทยด้านภาษา ยังกำหนดว่า ยาวี = วัว ยาวี = มลายู บาซาร์มลายู = ภาษามลายู

“ในเชิงวิชาการ ภาษากับการเขียนคนละเรื่องกัน ไม่ใช่เขียนด้วยภาไทยแล้วเป็นภาษาไทย เช่นการแปลเรื่องนี้เป็นการใช้ตัวเขียนไทย ภาษามลายู คนที่มีความคิดเป็นกลางจะเข้าใจได้ว่า เราพูด สื่อกับสังคมทั่วไป แต่ในเชิงวิชาการที่ถูกต้องคือ ภาษามลายู อักษรยาวี

“ในบริบทสังคม คนไทยส่วนใหญ่เรียกภามลายูท้องถิ่นที่พูดในชายแดนใต้ว่า ภาษายาวี คือข้อเท็จจริงทางสังคมเป็นอย่างนั้น คนมลายูจะบอกว่าพูดภาษายาวี เป็นภาษาชาวบ้านที่เข้าใจกัน”

“สังคมบ้านเราเหมือนอยู่ในความฝัน มองไม่เห็นความจริง ปัจจุบันนี้เยาวชนพูดภาษาไทยมากกว่าภาษามลายู และยังมีตัวเขียนยาวีอีกที่เขาเขียนกันไม่ได้ สิ่งที่เราต้องการคือไม่ให้เขาลืมรากเหง้าภาษาของตัวเอง ยังเป็นสิ่งที่ต้องพยายามกันต่อไป”

วรรณกรรม “เจ้าชายน้อย” ฉบับภาษามลายู อักษรยาวีนี้ ได้จัดพิมพ์และจะส่งไปยังรร.เอกชนสอนศาสนาในพื้นที่ชายแดนใต้จำนวน 2,000 เล่ม เพื่อให้เป็นอาหารสมองแก่เยาวชนมุสลิม ซึ่งอ.แวมายิบอกว่า

“สำหรับเด็กๆ เป็นหลักฐานยืนยันว่า เจ้าชายน้อยลงมายังโลกแล้ว”

ปล.ภาษายาวี เป็นอักษรอาหรับที่ดัดแปลงมาเพื่อใช้เขียนภาษามลายู โดยมีการเขียน 2 รูปแบบคือ อักษรยาวี และอักษรรูมี ซึ่งใช้เป็นอักษรโรมันในการเขียน ยาวีเป็นภาษาที่ใช้พูดของชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้