ศอ.บต. ผลักดันท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถี บาราโหม จ.ปัตตานี สร้างชุมชนเข้มแข็งกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ยั่งยืน

บ้านปาเระ ตำบลบาราโหม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นหนึ่งในโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านชุมชน และตำบลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ผ่านสภาสันตำบล เพื่อฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนเชิงประวัติศาสตร์ ภายใต้แนวคิดในการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถีบาราโหม ซึ่งชุมชนบาราโหมแบ่งเป็น 3 หมู่บ้านมีประชากรกว่า 3,000 คน และปัจจุบันเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกพื้นที่ จนทำให้คนในชุมชนเกิดความกระตือรือร้น ร่วมแรงร่วมใจ แข็งขันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์อันเป็นภูมิปัญญานำไปสู่ความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ผ่านเรื่องราวเสน่ห์ความงดงามของวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในชุมชน โบราณสถานที่เก่าแก่กว่า 500 ปี ซึ่งเป็นต้นทุนของชุมชนที่มีอยู่แต่เดิมให้กลายเป็นจุดแข็งและดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่ชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ จากสินค้า OTOP และการบริการของชุมชนที่มีชาวบ้านเป็นผู้ผลิต เกิดการกระจายรายได้สู่ฐานราก

นายอูเซ็ง เบญนูรุดดีน กำนัน ต.บาราโหม อ.เมือง จ.ปัตตานี เปิดเผยว่า ชุมชนบาราโหมแห่งนี้ เป็นชุมชนที่ติดทะเล ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมที่หลากหลาย อยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ในโครงการตำบลละล้าน เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูแหล่งเที่ยวชุมชนบาราโหม โดยสร้างสะพานท่าเสด็จ สร้างศาลาริมน้ำ สนับสนุนกลุ่มแม่บ้าน 3 ราชินี ร้านค้าภายในชุมชน กลุ่มของผู้สูงอายุทั้งไทยพุทธและมุสลิม หวังกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยสถานที่แห่งนี้ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวทั้งในและพื้นที่ทำให้คนในชุมชนมีงานมีรายได้มากขึ้น ทั้งนี้ขอขอบคุณทาง ศอ.บต.และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้เข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวบาราโหมแห่งนี้ ให้กลับมามีคุณค่าทางอีกครั้ง

ด้านนางสาวฟารีดา กล้าณรงค์ ประธานกลุ่มบาราโหมบาซาร์ ได้กล่าวถึงความรู้สึกในครั้งนี้ว่ารู้สึกดีใจมากที่ทางภาครัฐเข้ามามีส่วนช่วยในการผลักดันวิหาสกิจชุมชนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ให้มีรายได้เข้าสู่ชุมชนที่ยั่งยืน ซึ่งกลุ่มของบาราโหมบาซาร์เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มประชาชนที่กลับมาจากประเทศมาเลเซียและว่างงานจากปัญหาโรค Covid 19 ดึงเข้ามาทำงานตามความถนัดของตนเอง เช่นการเย็บผ้า การทำกระเป๋า ฯลฯ ซึ่งรายได้จะมีการปันผลทุกเดือนเป็นการกระจายรายได้สู่ครัวเรือนในชุมชน

อย่างไรก็ตามโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านชุมชน และตำบลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ภายใต้แผนงานตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นการผลักดันให้เกิดกระ บวนการมีส่วนร่วมโดยใช้กลไกผ่านสภาสันติตำบล นำปัญหาและความต้องการจากแผนพัฒนาตำบลที่ผ่านความเห็นชอบของตำบล มาจัดทำโครงการและกิจกรรม เพื่อสนองต่อปัญหาเร่งด่วนของพื้นที่ ภายใต้แผนงานตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เน้นประชาชนมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ การอยู่ร่วมกันแบบสังคมพหุวัฒนธรรม สร้างรายได้ สู่ชุม ชน และส่งผลทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งต่อไป