เลขาธิการ ศอ.บต.พร้อมคณะฯ ร่วมประชุมหารือ และเยี่ยมชมนิทรรศการ “การบริหารจัดการน้ำ” ณ สถาบันสารสน เทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่ จชต.
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย นางสาวสมทรง บุญญภัทโร ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต ดร.สุทัศน์ วิสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เจ้าหน้าที่กองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. ร่วมประชุมหารือและเยี่ยมชมนิทรรศการ “ การบริหารจัดการน้ำ” ในการดำเนินงานบูรณาการข้อมูลน้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ณ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานในสังกัดของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และขยายผลการทำงานโดยการสร้างและพัฒนาเครือข่าย ความร่วมมือทั้งในประเทศและต่างประเทศ
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.เปิดเผยว่า วันนี้เป็นความตั้งใจที่ได้มาเยี่ยมชมสถาบันฯ เป็นสถานที่มีความสำคัญที่สร้างความมั่นคงให้ประเทศไทยในอนาคตข้างหน้าในการเป็นจุดส่วนรวมเรื่องความมั่นคง ที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางในการรับมือภัยพิบัติได้รวมทั้งการรับมือในทุกมิติ
เลขาธิการ ศอ.บต.ยังกล่าวถึงในส่วนของภาคใต้ เป้าหมายคือ การสร้างความสงบและสันติสุขโดยเร็ว ด้วยการพัฒนาทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมทั้งระบบเศรษฐกิจ 5 จังหวัดภาคใต้ 56 อำเภอ ภาคใต้มิติความมั่นคงจะประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ในส่วนของมิติการพัฒนาภาคใต้ ภายใต้ ศอ.บต. คือ ภาคเกษตรยกระดับให้พี่น้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ภาคการท่องเที่ยวเชิงนิเวศการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่จำเป็นจะต้องใช้น้ำเป็นหลัก และภาคอุตสาหกรรมมี 2 จุดคือ อุตสาหกรรมเกษตร จังหวัดปัตตานี และอุตสาหกรรมในอนาคตที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่มีความจำเป็นจะต้องใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ การบริหารจัดการระบบน้ำในภาคใต้เป็นสิ่งที่เราต้องการขับเคลื่อนและบูรณาการให้เกิดขึ้น โดยมีมิติอยู่ 2 ด้าน คือความเพียงพอของน้ำและการลดจากภัยพิบัติในเรื่องของน้ำทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย