ผู้ว่าฯ นนทบุรี ผนึกกำลังภาคี เปิดจวน Kick off ปลูกผักสวนครัว สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ร่วมใจปลูกผักบ้านฉัน แบ่งปันบ้านเธอ

ผู้ว่าฯ นนทบุรี ผนึกกำลังภาคี เปิดจวน Kick off ปลูกผักสวนครัว ชวนคนนนท์น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ร่วมใจปลูกผักบ้านฉัน แบ่งปันบ้านเธอ เพื่อรณรงค์สร้างความมั่นคงทางอาหารต่อเนื่อง

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 08.30 น. นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และแพทย์หญิงสุวรรณา ไชยชุมศักดิ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนนทบุรี และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนนทบุรี เปิดจวนผู้ว่าราชการจังหวัด kick off ชวนคนนนท์ “น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” จัดโครงการ “คนนนท์ร่วมใจ ปลูกผักบ้านฉัน แบ่งปันบ้านเธอ” ในการนี้ นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ในนามกรมการพัฒนาชุมชน นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัทอีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (ตราศรแดง) ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ผักเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการฯ ของจังหวัดนนทบุรี โดยมีนายอภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นางรักใจ กาญจนะวีระ พัฒนาการจังหวัดนนทบุรี หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ประกอบด้วย ปลัดจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด หัวหน้าสำนักงานจังหวัด โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด เกษตรจังหวัดนนทบุรี ประชาสัมพันธ์จังหวัด ปลัดอำเภอเมือง พัฒนาการอำเภอ ประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดนนทบุรีและคณะ ประธานชมรมอาสาพัฒนาชุมชน ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน ประธาน กพสจ. ผู้บริหารจากกรมการพัฒนาชุมชน ประกอบด้วย ผู้ตรวจราชการกรม ผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน เลขานุการกรมการพัฒนาชุมชน รวมถึงผู้อำนวยการกลุ่มงานและเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรี ได้ร่วมกิจกรรมปลูกผักสวนครัว ภายในบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี

นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เผยว่า จังหวัดนนทบุรี และกรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร มาเป็นแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนปลูกผักสวนครัว ในช่วงที่ประเทศประสบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร ตั้งแต่ปี 2563 โดยเน้นการพึ่งตนเองและสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับครัวเรือน ลดรายจ่ายในการดำรงชีวิตของประชาชน สร้างรายได้ระยะสั้นทั้งในระดับครัวเรือนและระดับกลุ่มอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วน อาศัยศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยสนับสนุนหลัก ประกอบกับกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดแนวทางให้มีการส่งเสริมการรวมกลุ่มของประชาชนในท้องถิ่นที่มีจิตอาสาในการช่วยเหลืองานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย การปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ดำเนินการโครงการอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก โดยใช้หลักการบูรณาการการมีส่วนรวมของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานโครงการ

เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานโครงการปลูกสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร (รอบ 2) ในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนให้มีความยั่งยืน และเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระลอกที่ 2 จังหวัดนนทบุรี จึงได้จัดทำโครงการ “คนนนท์ร่วมใจ ปลูกผักบ้านฉัน แบ่งปันบ้านเธอ” ขึ้น เพื่อขยายผลการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างพลังความต่อเนื่องให้เกิดความยั่งยืน ประชาชนได้บริโภคผักปลอดภัยไร้สารพิษ มีสุขภาพดี และอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนมากขึ้น

สำหรับแนวทางการดำเนินงาน มีหลักการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
ขั้นที่ 1 “ผู้นำต้นแบบ ตัวอย่างที่เห็นจริง” ให้มีการเชิญชวนผู้บริหารจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วย นายอำเภอทุกอำเภอ กลุ่ม องค์กร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนและอำเภอ ปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย คนละ 10 ชนิด เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน พร้อมสื่อสารสร้างการรับรู้ผ่านช่องทาง Social Media เป็นประจำทุกเดือน
ขั้นที่ 2 “ผู้นำต้องทำก่อน” รณรงค์เชิญชวนให้ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่/ท้องถิ่น กลุ่มองค์กร เครือข่าย และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นตพ.) สร้างกระแสการปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่องในหลากหลายพื้นที่ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน
ขั้นที่ 3 “นักพัฒนา 3 ประสานกลไก ขับเคลื่อนปฏิบัติการ 90 วัน” ดำเนินงานร่วมกับ อปท. สร้างทีมนักพัฒนา 3 ประสาน ในระดับตำบล เพื่อขับเคลื่อนการปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง
ขั้นที่ 4 “ทุกครัวเรือน คือ คลังอาหาร ทุกหมู่บ้าน คือ ศูนย์แบ่งปัน” ร่วมรณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รณรงค์คัดแยกขยะ ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพจากเศษอาหารเพื่อปรับปรุงดิน และเพิ่มผลผลผลิต อีกทั้งรณรงค์ให้ทุกหมู่บ้านสร้างคลังอาหารชุมชน โดยใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ เมื่อได้ผลผลิตก็นำมาแลกเปลี่ยนและแบ่งปันกัน โดยเฉพาะผู้ยากไร้ และจัดตั้งศูนย์แบ่งปันเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า
ขั้นที่ 5 “ทักษะชีวิตวิถีใหม่ เยาวชนไทย สร้างอาหารเป็น” ส่งเสริมให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษา ศาสนสถาน เป็นแหล่งเรียนรู้ในการปลูกผัก
ขั้นที่ 6 “ถอดรหัสการพัฒนา ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ในการสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน” ร่วมประเมินผลการความสำเร็จของโครงการ พร้อมถอดบทเรียนการขับเคลื่อนกิจกรรม (1 อปท. 1 อำเภอ ต้นแบบ)
ขั้นที่ 7 “ติดตาม และขยายผลอย่างต่อเนื่อง” เพื่อให้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการ น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบที่ 2” โดยจะเริ่ม Kick Off อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 1 – 15 กุมภาพันธ์ 2564 โดยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ถือเป็นวันแรกในการปฏิบัติการฯ จึงได้มาร่วมกิจกรรม kick off กับจังหวัดนนทบุรีในวันนี้ เพื่อรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนร่วมปลูกผักสวนครัวในทุกครัวเรือนทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน โดยเน้นให้ครัวเรือนสามารถพึ่งตนเองได้และสนับสนุนให้มีการขยายผลดำเนินการตลอดปี 2564 เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมความพออยู่ พอกิน อยู่ดี กินดี ของประชาชนอย่างยั่งยืน

ด้านนายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล กล่าวว่า “บริษัทอีสท์ เวสท์ ซีด จํากัด มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” กิจกรรม Kick off แบ่งปันความมั่นคงทางอาหาร โครงการ “คนนนท์ร่วมใจ ปลูกผักบ้านฉัน แบ่งปันบ้านเธอ” ของจังหวัดนนทบุรี ในครั้งนี้ เพราะทางบริษัทได้มองเห็นถึงความตั้งใจของจังหวัดนนทบุรีและกรมการพัฒนาชุมชน ที่อยากให้พี่น้องประชาชนหันมาปลูกผักสวนครัวอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งที่จะจับมือและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้ ทางบริษัทได้นำเมล็ดพันธุ์ผัก มามอบให้จำนวน 5,000 ซอง ต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ให้โอกาสร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมดี ๆ เพราะนอกจากจะเป็นการสนับสนุนให้ครัวเรือนปลูกผักสวนครัว มีแหล่งอาหารภายในครัวเรือน สร้างความมั่นคงทางอาหารในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังเป็นการขยายผลสร้างวิถีชีวิต วัฒนธรรมดี ๆ ของครัวเรือนไทยให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไปได้ในทุกสถานการณ์”

นางรักใจ กาญจนะวีระ พัฒนาการจังหวัดนนทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 90 วัน “ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” กิจกรรม Kick off แบ่งปันความมั่นคงทางอาหาร โครงการ “คนนนท์ร่วมใจ ปลูกผักบ้านฉัน แบ่งปันบ้านเธอ” จะเป็นรากฐานความมั่นคงทางอาหารในระยะยาวอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนนทบุรี จึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกท่านมาร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างสุขภาพที่ดี ด้วยการบริโภคพืชผักสวนครัวที่สด สะอาด ปลอดภัยไร้สารพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และมีความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

โดยกิจกรรมภายในงานวันนี้ นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ได้ส่งมอบเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า และพืชผักผลไม้คู่บ้านคู่เรือน กล้วย มะละกอ ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการและภาคีเครือข่ายจังหวัดนนทบุรี เพื่อนำไปขยายผลที่ครัวเรือน/หน่วยงานในสังกัด พร้อมทั้งร่วมกิจกรรมปลูกผักสวนครัว (สไตล์คนเมืองนนท์) ณ บริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการประกอบอาหารจากผักสวนครัวให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ชิม โดยแพทย์หญิงสุวรรณา ไชยชุมศักดิ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนนทบุรี และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนนทบุรี ทั้งนี้ จังหวัดนนทบุรี ยังได้เชิญชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ถ่ายภาพประชาสัมพันธ์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ซึ่งการดำเนินการจัดกิจกรรมฯ ทั้งหมด เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเข้มข้น โดยมีมาตรการคัดกรองและป้องกัน โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนต้องตรวจวัดไข้และสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา