พช.อยุธยา ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” สู่ทางรอดในภาวะวิกฤต

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ ตำบลหนองโน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี นายกิจจา ทองแดง พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้น การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 2 โดยมี นางสาวอรุณวดี พันธุ์เอี่ยม ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน กล่าวรายงานว่า กระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลัก ในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการพัฒนาคนให้พึ่งตนเอง ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง 7 ภาคี ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน ด้วยการจัดทำโครงการที่ประยุกต์การใช้ศาสตร์พระราชา แนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 40 ทฤษฎี ที่ทรงพระราชทานไว้ให้ในการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มาประยุกต์กับแนวคิดการพัฒนาพื้นที่และการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยเพื่อการพึ่งตนเองและรองรับภัยพิบัติ ในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้
1.เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล
2.เพื่อพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ระดับครัวเรือน
กรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มอบหมายให้ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ จัดฝึกอบรมโครงการดังกล่าว จำนวน 6 รุ่น การอบรมครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 2 ดำเนินการระหว่างวันที่ 8–12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ระยะเวลา 5 วัน กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ครัวเรือนพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้เข้าร่วมโครงการจ้างงานสร้างรายได้จากอำเภอนครหลวง อำเภอเสนาและ อำเภอวังน้อย จำนวน 85 คน

นายกิจจา ทองแดง พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน คือ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนให้พึ่งตนเองได้ เราเป็นองค์กรที่พัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า การที่กรมเราได้รับงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” การได้รับงบประมาณซึ่งเป็นงบเงินกู้ มีนัยยะสำคัญคือความไว้เนื้อเชื่อใจว่าโครงการที่เราจะดำเนินการจะก่อให้เกิดผลต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ด้วยความเชื่อมั่นตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ว่าสองสิ่งนี้จะนำพาประเทศให้อยู่รอด เรามุ่งหวังที่จะให้พี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้เกิดการเรียนรู้ที่เรียกว่า Learning by doing สามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้เพื่อให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน การได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจะทำให้เกิดการปรับวิธีคิด ปรับวิธีการ ให้สอดคล้องเหมาะสมกับภูมิสังคมหรือตัวตนของเขา เรามุ่งหวังว่า จะมี “พื้นที่ต้นแบบ” การเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิตรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” เราจะมี “ครัวเรือนต้นแบบ” การเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพชีวิต ในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” กระจายทั่วประเทศ ทั้งที่ใช้งบประมาณกรมฯ งบประมาณท้องถิ่น หน่วยงานภาคี หรือแม้กระทั่งงบประมาณของประชาชนเอง พื้นที่เหล่านี้จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน ครัวเรือนเหล่านี้จะเป็นครูที่จะสอน หรือบอกเล่าถ่ายทอดให้คนอื่น ๆ ต่อไป

หลังจากนั้น นายบุญลือ เต้าแก้ว ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงสวนล้อมศรีรินทร์ ได้นำคณะเยี่ยมชมฐานการเรียนรู้ต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชา

ทั้งนี้การดำเนินโครงการดังกล่าวได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19) และคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด