วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 11.00 น. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ต้อนรับ นายพีรศักดิ์ รัตนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค 7 และนายณัฐพงษ์ นวลมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค 7 และคณะฯ ในการลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามผลการดำเนินการตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และร่วมหารือข้อราชการด้านการศึกษาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุมปฏิบัติการด้านการพัฒนา ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ ศอ.บต. อำเภอเมือง จังหวัดยะลา
ในการนี้ นายพีรศักดิ์ รัตนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค 7 ได้ร่วมรับฟังรายงานสรุปผลการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายฯ ภาพรวมของ ศอ.บต. ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา โดยพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ยังได้กล่าวถึงการบูรณาการด้านการศึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า สำหรับ ศอ.บต. มีภารกิจขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสังคม เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานตามแผนบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งให้ประชาชนอยู่ดี กินดี สร้างโอกาสให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เด็กและเยาวชนให้ได้รับโอกาสเข้ารับการศึกษาที่เชื่อมโยงกับการมีงานทำ ภายใต้ความร่วมมือของ ศอ.บต. กับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้อำนวยการและประสานความร่วมมือในเรื่องการขอทุนการศึกษา การหาสถานที่สำหรับเยาวชนในพื้นที่ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนที่จบการศึกษาแล้วได้มีอาชีพที่มั่นคง และร่วมกลับมาพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
ด้าน นายพีรศักดิ์ รัตนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาธิการภาค 7 กล่าวว่า การมาประชุมหารือกับ ศอ.บต. ในครั้งนี้ เนื่องด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีนโยบายการขับเคลื่อนถึงการศึกษาในพื้นที่ เน้นเรื่องของสถานศึกษาในชุมชน โดยให้แต่ละเขตพื้นการศึกษาไปคัดเลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพอย่างละ 1 โรงเรียน และการพัฒนาโรงเรียนแต่ละพื้นที่ให้เป็นโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง สามารถสร้างโรงเรียนมัธยมที่อยู่ใกล้บ้าน และให้เยาวชนในพื้นที่สามารถเข้าศึกษาในโรงเรียนที่อยู่ในเขตชุมชนของตนเองได้ เพื่อทำการหลีกเลี่ยงให้เยาวชนไม่ต้องเดินทางไกลที่ต้องศึกษาในเขตตัวเมือง ซึ่งต้องใช้ระยะทางที่ไกลและนานพอสมควร และนอกจากนี้ยังจะพัฒนาโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลต้องเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ รูปแบบคุณภาพของการศึกษาจะต้องเหมือนกับโรงเรียนที่ขนาดใหญ่ในเขตตัวเมือง และโรงเรียนจะต้องอยู่ได้กับชุมชน