อัมมาน – สุอาด ชามูน วัย 63 ปี ถือนิตยสารฉบับหนึ่งที่มีรูปธงชาติอเมริกาอยู่บนหน้าปก เธอยิ้มด้วยความตื่นเต้น แม้ความจริงเธอได้เสียทุกสิ่งทุกอย่างไปแล้ว
ชามูนนั่งบนเตียงเล็กๆ หลังหนึ่งในห้องเล็กๆ ที่เธอใช้ร่วมกับสตรีสูงวัยอีกคนหนึ่ง ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันของเธอห่างไกลจากสิ่งที่นึกฝัน โดยที่เธออยู่ร่วมกับคนอื่นๆ อีก 80 คน ในห้องโถงของโบสถ์แห่งหนึ่งที่ห่างไกลจากบ้านนับพันไมล์ แต่โอกาสที่จะมีอนาคตในอเมริกาก็ทำให้เธอมีความหวังสูง
ชามูน ผู้ลี้ภัยชาวอิรัก มาจอร์แดนภายใต้การเชื้อเชิญจากกษัตริย์อับดุลลอฮ์ที่สองแห่งจอร์แดน พร้อมกับชาวคริสเตียนอิรักคนอื่นๆ อีก 1,000 คน พวกเขาทั้งหมดอาศัยอยู่ในโบสถ์หลายแห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงอัมมานที่เป็นเมืองหลวง
“ฉันบอกไม่ได้ว่าดีใจมากแค่ไหนที่เราได้มาอยู่ที่นี่ในจอร์แดน” ชามูนบอกกับ Middle East Eye จากห้องเล็กๆ ของเธอ ที่มีรูปและโปสเตอร์ของพระเยซูและบุคคลสำคัญอื่นๆ ของศาสนาคริสต์ติดอยู่บนผนังทุกด้าน “จอร์แดนกลายเป็นประเทศของเราแล้วตอนนี้ สำหรับตอนนี้จอร์แดนคือชีวิตของฉัน แต่ฉันจะไปอยู่กับลูกชายของฉันในอเมริกาในไม่ช้านี้”
เช่นเดียวกับคนอื่นๆ หลายหลายคนทั่วตะวันออกกลาง ชาวคริสเตียนที่โบสถ์เซนต์โจเซฟ ได้หลบหนีออกจากบ้านของพวกเขาในอิรักเมื่อกลุ่มรัฐอิสลามได้เข้ายึดเมืองของพวกเขา ส่วนใหญ่พวกเขาหลบหนีออกมาโดยไม่มีอะไรมากไปกว่าเสื้อผ้า และมุ่งหน้าไปยังดินแดนปกครองตนเองของชาวเคิร์ดทางภาคเหนือของอิรัก ขณะที่ดินแดนชาวเคิร์ดค่อนข้างจะมีความปลอดภัย แต่ชาวคริสเตียนที่โบสถ์เซนต์โจเซฟแห่งนี้ก็มีความรู้สึกเหมือนๆ กับชาวคริสเตียนทั่วอิรัก ว่าตะวันออกกลางไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาอีกต่อไปแล้ว
ขณะที่จอร์แดนยังคงตั้งอยู่ในตะวันออกกลาง ชาวคริสเตียนที่โบสถ์เซนต์โจเซฟจึงมองว่าการมาอยู่ที่นี่เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งบนเส้นทางที่จะออกจากภูมิภาคนี้ของพวกเขา
ถึงแม้จะยากลำบากที่ต้องทิ้งบ้านเพียงหลังเดียวที่เธอเคยรู้จักมาไว้ข้างหลัง แต่ซามูนบอกว่าเธอไม่ต้องคิดซ้ำสองเมื่อมีข้อเสนอให้มายังจอร์แดน สำหรับเธอแล้ว การออกห่างไกลจากพวกนักรบกลุ่มรัฐอิสลามได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีกว่าเท่านั้น
“ฉันไม่เสียใจเลย ฉันมีความสุขที่ได้ออกมาจากอิรัก แต่ฉันคิดถึงลูกสาวของฉันจริงๆ ลูกสาวของฉันแต่งงานแล้ว และพวกเธอตัดสินใจที่จะอยู่ในอังกาว่า (อำเภอเออร์บิลของชาวอัสซีเรียนในดินแดนของชาวเคิร์ด) ฉันทิ้งพวกเธอไว้ที่นั่นตอนที่ฉันมาจอร์แดน” ชามูนกล่าว “มันเป็นสิ่งที่ยากมาก”
เซนต์โจเฟซ เริ่มเตรียมการสำหรับการมาถึงของผู้ลี้ภัยเมื่อปีที่แล้ว เมื่อหนึ่งในบาทหลวงระดับผู้นำในจอร์แดนประกาศการตัดสินใจนี้ ห้องโถงในส่วนต้อนรับของโบสถ์ที่ปกติแล้วจะใช้สำหรับงานแต่งงานและการฉลองวันหยุดต่างๆ จึงถูกปรับเปลี่ยนใหม่และกั้นด้วยแผ่นกระดานกั้นห้องเพื่อทำเป็นห้องเล็กๆ ที่กว้างพอสำหรับเตียงคู่สองหลัง
องค์กร Caritas ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลคริสเตียนสากลที่ทำงานเพื่อ “รับรองว่าผู้ลี้ภัยจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี” ได้รับหน้าที่ในการประสานงานระหว่างผู้ลี้ภัย หน่วยงานบรรเทาทุกข์ และโบสถ์ 14 แห่งที่เป็นที่พักของชาวคริสเตียนอิรักในจอร์แดน มาญีด บาแกน ผู้อำนวยการของ Caritas ที่เซนต์โจเซฟ บอกกับ MEE ว่า
“ผู้ลี้ภัยที่นี่มีทุกอย่างที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้” บาแกนกล่าว “เราดูแลทุกอย่างให้พวกเขา เราให้แม้แต่เงินติดตัวจำนวนหนึ่งเพื่อที่พวกเขาจะได้ใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ”
เสียงหัวเราะ
เซนต์โจเซฟเป็นข้อยกเว้นสำหรับบรรยากาศเยือกเย็นที่มักจะระเหยออกมาจากผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ แต่ที่นี่ในห้องโถงของโบสถ์กลับมีเสียงหัวเราะ การพูดคุยกัน และความหวัง
ผู้หญิงที่เซนต์โจเซฟจะเปลี่ยนเวรกันทำอาหารให้ทุกคนในห้องครัวขนาดกลาง และนำอาหารกลิ่นหอมด้วยถั่วแดงและเนื้อที่มาพร้อมกับข้าวสีขาวและสลัด “มีอาหารต่างๆ มากมาย” เชฟคนหนึ่งประจำวันนี้กล่าวพร้อมกับหัวเราะ และยืนยันว่าทุกคนที่เข้าไปในครัวมีรสนิยมที่ดี
พวกผู้ชายเล่นโดมิโน่ในพื้นที่ส่วนรวมของห้องโถงนั้น ตบมือบนโต๊ะเสียงด้วยแล้วระเบิดเสียงหัวเราะ เด็กๆ ทุกวัยวนเวียนไปมาอยู่กับผู้ใหญ่ ได้รับการดูแลจากทุกคนในชุมชนที่ก่อตั้งขึ้นใหม่นี้
ดูเหมือนว่าผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่เซนต์โจเซฟจะเหมือนกันกับชามูน ที่มีลูกสาวหรือลูกชาย หรือพี่น้องที่พวกเขามีแผนจะไปอยู่ด้วยในอเมริกา อังกฤษ ยุโรป หรือออสเตรเลีย
“ฉันแค่รอให้เอกสารผ่านขั้นตอนสุดท้าย แล้วฉันก็จะเดินทางไปหาลูกชายของฉันที่มินเนโซต้า” ชามูนกล่าวด้วยรอยยิ้ม “พวกเขาส่งรูปถ่ายของอเมริกามาให้ทุกวัน”
ชามูนเก็บเอกสารทั้งหมดของเธอไว้ในแฟ้มเล่มหนึ่ง และอธิบายถึงความสำคัญของแต่ละแผ่นอย่างละเอียดและอย่างมีความสุข เธอหวังว่าในอีกไม่กี่เดือนนี้เธอจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในสหรัฐฯ ห่างไกลจากความขัดแย้งที่ทำให้เธอต้องพลัดถิ่น
เพื่อนร่วมห้องของชามูน ชื่อฮินดา คอร์กิส วัย 67ปี เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เซนต์โจเซฟที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยตื่นเต้นกับการพูดถึงชีวิตในอนาคตในจอร์แดนหรือที่ไหนสักแห่ง
ลูกๆ ของคอร์กิสทั้งหมดย้ายไปอยู่ยุโรปเมื่อหลายปีก่อน แต่เธอกับสามีตัดสินใจที่จะอยู่ในโมซุล เมืองใหญ่อันดับสองของอิรัก ซึ่งจนกระทั่งถึงเมื่อไม่นานมานี้มีชุมชนคริสเตียนเล็กๆ อาศัยอยู่ แต่เมื่อไอเอส (กลุ่มรัฐอิสลาม) เข้าโจมตี ตอนนี้คอร์กิสก็เหลือตัวคนเดียว เธอบอกว่าสามีของเธอไม่สามารถรับความเครียดจากการพลัดถิ่นฐานได้ และได้เสียชีวิตไปก่อนที่ทั้งคู่จะสามารถย้ายมายังจอร์แดนได้
คอร์กิสบอกว่า เธอรู้สึกโดดเดี่ยวในตะวันออกกลาง เธอมีลูกพี่ลูกน้องอยู่บ้างในอิรัก แต่ไม่ใช่ญาติใกล้ชิดที่เธอจะรู้สึกว่าจะไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยแล้วรู้สึกว่าเป็นบ้านได้ ทั้งหมดที่คอร์กิสปรารถนาสำหรับตอนนี้ก็คือการไปอยู่กับลูกๆ ของเธอในสวีเดน แต่คำร้องของวีซ่าของเธอถูกปฏิเสธ
“พวกเขาประทับบนหนังสือเดินทางของฉัน ประทับตัวใหญ่ๆ ว่าฉันถูกปฏิเสธ ฉันไม่รู้ว่าทำไม ฉันไม่เข้าใจ” คอร์กิสบอกแล้วก็ไม่สามารถพูดได้อีกเมื่อน้ำตาคลอเต็มดวงตาของเธอ
คอร์กิสไม่รู้ว่าจะทำอะไรตอนนี้ เธอไม่แน่ใจว่าควรจะตั้งหลักที่ไหนเมื่อออกจากอิรักมาแล้ว และอยู่ในจอร์แดนเพียงลำพังโดยมีทางเลือกข้างหน้าเพียงไม่กี่ช่องทาง
ซามิร อัตตาลา วัย 57 ปี ก็เช่นเดียวกันกับคอร์กิส เขาไม่แน่ใจว่าจะไปที่ไหนจากตรงนี้ ขณะที่เขาบอกว่าเขาชอบจอร์แดน แต่เขาก็ยื่นเรื่องขอวีซ่าเพื่อเดินทางไปต่างประเทศต่อไป
อัตตาลาไม่มีญาติพี่น้องอยู่นอกอิรัก แต่เขาเชื่อว่าทางเดียวที่จะรับประกันว่าลูกๆ ของเขาจะมีอนาคตก็ได้ก็คือ ต้องเอาพวกเขาออกไปจากตะวันออกกลางโดยเร็ว
“ประเทศไหนก็ได้ที่พวกเขาจะส่งผมไป ผมพร้อมที่จะไป” อัตตาลาบอกกับ MEE ด้วยรอยยิ้มกว้าง พลางตบมือทั้งสองข้างบนโต๊ะราวกับว่าเป็นการยืนยันว่าเขาพร้อมแล้วที่จะไปในขณะนั้น “เป็นคนแรกที่จะตอบตกลง ว่าเราจะไป”
ขณะที่อัตตาลายังไม่ถูกยอมรับไปยังประเทศไหน เขาบอกว่าเขาใจของเขาอยากจะไปออสเตรเลีย และมั่นใจว่าเขาและครอบครัวจะได้รับวีซ่าในเร็วๆ นี้
“หนึ่งในประเทศเหล่านี้จะต้องมีความเมตตา ผมแน่ใจ” อัตตาลาบอก “ทุกคนรู้เกี่ยวกับกลุ่มรัฐอิสลาม ทุกคนรู้ว่าพวกเราชาวคริสเตียนต้องสูญเสียมากที่สุด บางคนจะช่วยเรา เหมือนอย่างที่จอร์แดนได้ช่วยแล้ว ผมแน่ใจ”
แปลจาก http://www.middleeasteye.net