เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดการประชุมรายงานสถานการณ์ด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดการประชุมรายงานสถานการณ์ด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ศอ.บต. กับการวางรากฐานเพื่อเด็กและสตรีในพื้นที่ จชต.”

วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เวลา 10.30 น. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีการเปิดตัวรายงานสถานการณ์ด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2563 และ

ผลการศึกษาระบบช่องทางกลไกการร้องเรียนที่เหมาะสมสำหรับเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้และร่วมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ศอ.บต. กับการวางรากฐานเพื่อเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้” จัดโดย ศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศป.ดส.) เพื่อศึกษาความก้าวหน้าการพัฒนางานด้านเด็กและสตรี รวมถึงด้านสังคมในมิติอื่นๆ ในมุมของการทำงานภายใต้องค์กรที่รับผิดชอบ และร่วมเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อประเด็นรายงานสถานการณ์ด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ 2563 และผลการศึกษาระบบช่องทางกลไกการร้องเรียนที่เหมาะสมสำหรับเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย โดยครั้งนี้มีผู้แทนจาก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. คณะกรรมการศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมในการประชุมในครั้งนี้

อาจารย์ โซรยา จามจุรี ประธานคณะกรรมการในศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 และเพื่อปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดในพื้นที่จังหวัดยะลา ทำให้กิจกรรมวันนี้ เดิมกำหนดจัดเป็นเวทีนำเสนอสาธารณะต้องปรับรูปแบบการนำเสนอรายงานมาเป็นรูปแบบ เจอตัวเห็นหน้ากัน face to face ด้วยการจำกัดคนเข้าร่วมไม่เกิน 20 คน นอกนั้นได้เปิดการมีส่วนร่วมให้ทุกคนเข้ารับชมได้ในระบบออนไลน์ผ่านระบบ zoom application ทั้งนี้ศูนย์ประสานงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นโดยการส่งเสริมและสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้แต่งตั้งศูนย์ฯ และคณะกรรมการขับเคลื่อน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา

อาจารย์ โซรยา จามจุรี เปิดเผยอีกว่า ศป.ดส. เป็นกลไกกลาง หรือพื้นที่กลางของการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรภาคประชาสังคม และภาครัฐ เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านเด็กและสตรีในชายแดนใต้ การปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กและสตรี

ที่สอดรับกฎหมายต่างๆ รวมทั้งอนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือ CRC อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ หรือ CEDAW รวมทั้งมาตรการและแนวทางปฏิบัติด้านสตรีกับการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งมาตรการนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจาก ศป.ดส. จะมีอำนาจหน้าที่หลักในประสานและสนับสนุนการทำงานด้านเด็กและสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ขององค์กรภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่างๆ แล้ว ที่ผ่านมา ศป.ดส. ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ที่เป็นคณะกรรมการของ ศป.ดส. คือ สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ ลูกเหรียง ได้รับการสนับสนุนจาก “องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา” หรือยูเสด เพื่อดำเนินโครงการ Working Together อีกด้วย

ด้าน พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวในระหว่างเปิดพิธีในครั้งนี้ว่า การดูแลแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กและสตรีมีความสำคัญ ศูนย์ประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนด้านเด็กและสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจุดหมายเพื่อเติมเต็มภาครัฐ และสนับสนุนสิ่งที่ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้เด็กและสตรีมีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเหมือนส่วนอื่นในราชอาณาจักร และยกมาตรฐานเข้าสู่สากลให้เป็นที่ยอมรับตามอนุสัญญาเด็กและสตรี เพราะสภาพปัญหาและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้ยืดเยื้อมายาวนานโดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 17 ปี ได้สูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินมากมาย ดังนั้นปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ปัญหาได้กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องให้ทุกหน่วยงานรวมพลังหาวิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดสันติสุขโดยเร็ว และอีก ปัญหาคือความยากจนของประชาชน จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด ซึ่งทาง ศอ.บต. ได้ทำทุกรูปแบบเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น และปัจจุบันจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้ประสบกับปัญหาของโรคระบาดโควิด – 19

ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในทุกด้าน โดยเฉพาะประชาชนจากภาคใต้ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะมีหลายครัวเรือนได้เข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียและเมื่อมีการระบาดของเชื้อโควิด – 19 มีประชาชนกว่า 31,000 คน ในภาคใต้และในนั้นกว่า 20,000 คน คือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องกลับเข้าสู่ประเทศไทย และได้ตกงาน ทาง ศอ.บต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหางานแก่กลุ่มเป้าหมายโดยเร็ว