“ติดเชื้อในกระแสเลือด” อาการอันตรายที่ควรรู้!!

ช่วงนี้มีการพูดถึงอาการหรือภาวะ “การติดเชื้อในกระแสเลือด” กันอย่างกว้างขวาง หลังการเสียชีวิตของหมอหยองคนดัง

จากอาการดังกล่าว ซึ่งยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้จัก ไม่มีข้อมูล หรือความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อในกระแสเลือด บางคนเข้าใจว่าเป็นโรค บางคนก็อาจสงสัยว่ามันเกิดจากอะไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร นี่จึงถือเป็นโอกาสดีที่สังคมจะได้ทำความรู้จักกับภาวะอาการดังกล่าวนี้ในเชิงข้อมูลความรู้ เพื่อการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ หรือ Sepsis คือ ภาวะที่ร่างกายของเรามีปฏิกิริยาตอบ สนองต่อการติดเชื้อ หรือต่อพิษของเชื้อโรค โดยทำให้เกิดการอักเสบขึ้นทั่วทั้งร่าง กาย ซึ่งการติดเชื้อนี้ อาจเกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกาย หรือเป็นการติดเชื้อทั่วร่างกายก็ได้ ส่วน ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (โลหิต) หรือ Septicemia คือ การที่ตรวจพบว่ามีเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดภาวะ Sepsis ขึ้นมา ดังนั้นทั้งสองภาวะนี้จึงมีความเกี่ยวข้องต่อเนื่องกัน และมักใช้ในความหมายเดียวกัน

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด พบได้ในคนทุกเชื้อชาติ แต่มักเกิดในผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นวัยที่มีโรคประจำตัวมากกว่าวัยอื่น และพบว่าผู้ชายมีโอกาสเกิดมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย ปัจจุบันพบการเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดมากขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุมีมากขึ้น รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวก็มีอายุยืนยาวขึ้นจากการรักษาโรคประจำตัวเหล่านี้มีประสิทธิภาพดีกว่าสมัยก่อน นอกจากนี้ ในปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลก็ซับซ้อนยุ่งยาก มีการใส่เครื่องมือและสายสวนต่างๆ เข้าร่างกาย และมีการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ ซึ่งกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะติดเชื้อด้วยเช่นกัน โดยประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ที่มีภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดในผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลนั่นเอง

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คือ

• การมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคของเม็ดเลือดขาวบางชนิด (เม็ดเลือดขาวมีหลายชนิด) โรคตับแข็ง โรคภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายบกพร่องชนิดต่างๆ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ซึ่งโรคประจำตัวเหล่านี้จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงผู้ที่ได้รับยากดระบบภูมิคุ้มกันต้านทานอยู่ เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น

• การทำหัตถการต่างๆ ที่ต้องใส่เครื่องมือเข้าไปในร่างกาย ซึ่งจะเป็นการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ การใส่สายสวนปัสสาวะ การสอดใส่ท่อเข้าหลอดเลือดเพื่อให้สารน้ำต่างๆ การใส่สาย/ท่อเข้าหลอดเลือดเพื่อการรักษาบางวิธี เช่น การสวนหัวใจ หรือการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย เช่น มีลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น

• การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย การที่แพทย์ให้ยาปฏิชีวนะชนิดที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด (Broad-spectrum antibiotics) ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดนานเกินไป หรือให้ยาปฏิชีวนะหลายๆชนิดพร้อมกัน หรือให้โดยไม่จำเป็น จะทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อรา และเกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ/ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่ายขึ้น เนื่องจากยาจะฆ่าแบคทีเรียชนิดที่อาศัยเป็นปกติในร่างกายของเรา (แบคทีเรียประจำถิ่น หรือ Normal flora) ไปด้วย ซึ่งปกติแบคทีเรียเหล่านี้จะช่วยกำจัดการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิดได้

• สาเหตุอื่นๆ เช่น ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ที่เกิดแผลเป็นบริเวณกว้าง เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในกลุ่มผู้ติดยาเสพติด เป็นต้น

วิธีป้องกันตัวเองจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ควรดูแลตัวเองอย่างไรดี

ในชีวิตประจำวันเราต้องเจอกับเชื้อโรคและแบคทีเรียอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเม็ดเลือดขาว และเพิ่มขีดความสามารถให้กับระบบภูมิต้านทานในร่างกายด้วยการดูแลตัวเองดังนี้

•    หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง

•    รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

•    พักผ่อนให้เพียงพอ

•    ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่สามารถลดความเสี่ยงด้วยการฉีดวัคซีนคุ้มกันได้

•    หมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อเกิดความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที

ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรักษาให้หายได้ เพียงแต่ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งแพทย์ควรวินิจฉัยอาการและชนิดของเชื้อที่ผู้ป่วยติดไปให้ถูกต้อง ก็จะสามารถรักษาชีวิตของผู้ป่วยได้ทันการ