จังหวัดนนทบุรี จัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”

วันที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วย แพทย์หญิงสุวรรณา ไชยชุมศักดิ์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนนทบุรี และนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานในพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ให้กับรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอ พัฒนาการอำเภอ ประธานหอการค้าจังหวัดนนทบุรี ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดนนทบุรี ประธานเครือข่าย OTOP จังหวัดนนทบุรี และผู้แทนช่างทอผ้าในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ณ ห้องนครอินทร์ ชั้น 3 อาคาร 3 ชั้น ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายและการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญาพื้นถิ่นของไทย ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นอันร่วมสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย ทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบและผสมผสานให้เกิดความร่วมสมัย เกิดความเชื่อมั่นว่าความงดงามของผ้าไทยจะคงอยู่คู่สังคมไทย โดยได้พระราชทานผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” และทรงพระราชทานลายผ้าบาติก 3 ลาย “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง “ท้องทะเลไทย” และ “ป่าแดนใต้” ที่พระองค์ได้แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรมจากภูมิปัญญา และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ที่ทรงพระราชทานผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ถึงกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อส่งต่อให้กับกลุ่มทอผ้าในจังหวัดที่เป็นช่างทอผ้า กลุ่มทอผ้า และผู้ผลิตผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค ได้นำลายพระราชทานไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นให้ร่วมสมัย นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค

แบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง ได้แก่ “ลาย S ที่ท้องผ้า” หมายถึง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S นี้ หมายถึงความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์

อีกทั้งยังมีลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ที่มีต่อปวงชนชาวไทย รวมไปถึงลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข

ลายต้นสนที่เชิงผ้า หมายถึง พระดำริใน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ ลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ และลายหางนกยูงที่เชิงผ้า หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินสืบไป.