เมื่อเร็วๆ นี้ ในงาน “TEEED talk #3” สำนักวิทยบริการ ร่วมกับ ศูนย์ข้อมูลและวัฒนธรรมอเมริกัน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี(ม.อ.ปัตตานี) จัดบรรยายสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายความคิดทางด้านเทคโนโลยี (Technology) การศึกษา (Education) พลังงาน(Energy) สิ่งแวดล้อม (Environment) และการพัฒนา(Development) หรือ TEEED เรื่อง “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา พัฒนาจริงหรือ คุณคือผู้ร่วมตัดสินใจ” เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินแก่ชาวปัตตานีที่มีเขตพื้นที่ติด กับโครงการยักษ์ใหญ่ โดยมีวิทยากรคือ ประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามัน ปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าว ASTV ผู้จัดการหาดใหญ่ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อ.ดิเรก เหมนคร ตัวแทนจากพื้นที่เทพา และดร.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานี
นายแพทย์ สุภัทร ฮาสุรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวว่าในทางการแพทย์พิสูจน์ได้ยากมากว่าเมื่อมีคนตายมีสาเหตุการตายมาจาก โรงไฟฟ้า เนื่องจากสารพิษที่ได้รับไปทุกวันจะปรากฏอาการเมื่อรับไปนับสิบปี จึงเป็นอันตรายแก่ชีวิตของทุกคน
“ถ่านหินเป็นแท่ง มีโลหะหนัก สารหนู แคดเมียม ปรอท ตะกั่ว ปนเปื้อน หากในเวลา 30 ปีของโรงไฟฟ้าที่นำเข้าถ่านหินมาจากอินโดนีเซียมีสารปนเปื้อนถึง 7,681,000 กิโลกรัม เมื่อออกมากับความร้อน 1000 องศา ทุกอย่างกลายเป็นไอ ถูกบำบัดด้วยเทคโนโลยีออกมาด้วยควันในอากาศ เป็นฝนสู่ทะเล ลงดิน ในทางการแพทย์ต้องทำความเข้าใจว่าคนเรามีความแข็งแรงไม่เท่ากัน การมีค่าไม่เกินมาตรฐาน ไม่เท่ากับปลอดภัย และการรับมลพิษต่ำๆ เป็นเวลานานสันนิษฐานยากว่าเป็นโรคมาจากสาเหตุใด แต่อีก 30 ปีคงรู้”
“ที่เจ็บใจคือ ศึกษาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแค่ 5 กิโลเมตร แต่ไม่ได้ศึกษาปัตตานีเลย ไม่เป็นธรรมต่อชาวปัตตานี”
ด้าน ดร.สมพร ช่วยอารีย์ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ขนาดหมอกควันจากอินโดนีเซียยังมาถึงไทย แล้วมลพิษจากถ่านหินที่ลอยในอากาศจะไม่ไปถึงทุกพื้นที่ได้อย่างไร
“เราผลิตถ่านหินเองไม่ได้ ต้องนำเข้ามาจากอินโดนีเซียโดยนำใส่เรือขนส่งถ่านหินลำใหญ่ที่เข้าออกวันละ 4 เที่ยวๆ ละ 1 แสนตัน นำน้ำทะเลมาบำบัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์และหล่อเย็นถึงวันละ 9 ล้านคิว (เท่ากับใช้น้ำทะเลในพื้นที่กว้าง 1 กิโลเมตร ยาว 9 กิโลเมตร และลึก 1 เมตร) และการปล่อยน้ำหล่อเย็นที่ร้อนจัดกลับออกสู่ทะเล เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง เมื่อกัดเซาะก็ต้องทำกำแพงทิ้งหิน ใน 10 ปี หาดทรายและรีสอร์ทจะกลายเป็นกำแพงทิ้งหินหลายสิบกิโลเมตรตั้งแต่ปากน้ำเทพา จนถึงปากน้ำสะกอม พบว่าชาวบ้านรับรู้ข้อมูลน้อยมาก รู้แค่ว่าจะมีโรงไฟฟ้า กฟผ. ต้องมีคำตอบให้ชาวบ้านและสังคมได้คลายกังวลในผลกระทบ การเงียบไม่ใช่การเห็นด้วยแต่เพราะไม่มีข้อมูล”
ขณะ ที่ ประสิทธิชัย หนูนวล กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินกันเกือบหมด แต่เมืองไทยกลับคิดสร้างใหม่ เป็นความถอยหลังเรื่องพลังงานของรัฐบาล จากผลของการเปิดโรงงานถ่านหินทำให้ประจักษ์ว่า ถ่านหินอันตรายที่สุดในบรรดามลพิศทางอากาศ
“จากการตามเรื่องนี้มา 5 ปี พบว่ามีการคัดค้านถ่านหินทุกที่เพราะเป็นเรื่องของการทำลายโลก มีงานวิจัยในอเมริกา พบว่ามีการเผาถ่านหินเกือบพันล้านตัน มีคนเสียชีวิต13000 คน ในปี 2004 ในอินเดียเสียชีวิต 100000 คน ในจีน 260000 คน มลพิษถ่านหินแพร่ไปได้ถึง 960 กิโลเมตร อเมริกาประกาศห้ามกินสัตว์น้ำใน 39 รัฐ ตอนนี้ปิดไปแล้ว 200 โรง ระดมนักวิทยาศาสตร์กว่า 200 คน ออกรายงานให้ผู้นำทั่วโลกหยุดสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในแคนาดาปิดไปหมดแล้ว ส่วนจีนจะลดหารใช้ให้เหลือ 19 เปอร์เซ็นต์ กองทุนแห่งชาตินอร์เวย์ถอนทุนจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะทั่วโลกประจักษ์แล้วว่าถ่านหินมีแต่หายนะ แต่ในอาเซียนยังมีเวียดนาม ลาวและไทยที่ยังมีอยู่ ทั้งที่มีทางเลือกอีกมากในการมีความมั่นคงทางพลังงาน”
“กระทรวงพลังงานตั้งโจทย์ผิดตลอดเวลานำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ และการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่จะหยุดได้คือ พลังของชุมชน ซึ่งจะมีพลังที่ดีได้ต้องอยู่บนฐานของสติปัญญาและข้อมูล ต้องศึกษา รวมพลังจึงจะเกิดผล ไม่มีทางที่จะแพ้แก่อำนาจพ่อค้าถ่านหิน เมื่อสงขลาและปัตตานีรวมกันได้ แม้อำนาจมากกว่านี้ก็ไม่สามารถแปรเปลี่ยนสภาพใดไปได้”
ใน เรื่องความเป็นไปได้ของการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประสิทธิชัย กล่าวว่า จุดหลักอยู่ที่การจัดทำร่างรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพ(EIA) หากผ่าน เตรียมรับเสาเข็มได้เลย ซึ่ง EIA ไม่ผ่านครั้งแรกก็ครั้งที่สอง เรื่องถ่านหินเป็นการผลักดันอย่างเต็มที่จากอำนาจรัฐ
“ตัวที่จะหยุด EIA ได้คือ อย่าให้คณะกรรมการพิจารณา และแสดงให้เห็นว่าไม่เคยทำรายงานนี้กับคนปัตตานีเลย และถึงแม้ EIA ผ่าน ถ้าพลังของคนสงขลาและปัตตานีชัด EIA กี่ฉบับก็ทำไม่ได้ ทุกอย่างจบที่พลังของคน มหาวิทยาลัยเป็นคำตอบของชุมชน เรื่องถ่านหินไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เป็นเรื่องของการตายและอมทุกข์”
ขณะที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้จัดเวทีรับฟังความคิด เห็นจากประชาชนในพื้นที่ อ.เทพาไปแล้ว 3 ครั้ง เพื่อจัดทำ EIA ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของโรงไฟฟ้าเทพาประกอบด้วย โรงไฟฟ้าและท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน หากความหวั่นเกรงต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างมากมายในพื้นที่ทำให้ประชาชน และหลายหน่วยงานแสดงการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ รวมทั้งเผยแพร่ข่าวสารความเป็นไปของโรงไฟฟ้าและสถานการณ์ต่างๆ ให้คนในพื้นที่เทพาและปัตตานี รวมทั้งทั่วประเทศได้รับรู้เพื่อร่วมกันปกป้องพื้นที่ให้ปราศจากมลพิษ
ข้อความ จากโปสเตอร์ 10+2 เหตุผลที่ต้องหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ของเครือข่ายประชาชนปกป้องสงขลาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในงาน TEEED talk #3
“10 เหตุผล” ที่คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกัน “หยุด” โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
1.ถ่านหินที่โฆษณาชวนเชื่อว่าสะอาดนั้น ไม่มีจริง มีโลหะหนักปะปนมาด้วยจำนวนมากทั้งปรอท แคดเมียม สารหนู และตะกั่ว
2.มีการเผาถ่านหินตลอด 24 ชั่วโมง ปล่อยมลพิษทางอากาศทั้งควันที่มองเห็นและสารพิษที่มองไม่เห็นจะกระจายกว้างนับร้อยกิโลเมตร
3.ปลาในทะเลสงขลา-ปัตตานี จะกินไม่ได้ เพราะจะปนเปื้อนโลหะหนักและสารพิษมากมายที่ยากจะตรวจวัด
4.”อาชีพประมงพื้นบ้าน” ทั้งเทพา หนองจิกและใกล้เคียง ที่มีเรือประมงพื้นบ้านกว่า 500 ลำ จะทยอยล่มสลาย
5.หายนะจากบ่อเก็บขี้เถ้าถ่านหินขนาดกว่าพันไร่ ทรายและท้องทะเลจะเป็นสีดำเหมือนที่มาบตาพุด
6.สะพาน ท่าเรือขนถ่ายถ่านหินที่ยื่นไปในทะเลถึง 3 กิโลเมตร และเขื่อนกั้นน้ำทะเลเพื่อดูดน้ำทะเลมาหล่อเย็นในโครงการที่ทิ้งหินยื่นไปใน ทะเลยาว 500 เมตร จะทำให้เกิดการกัดเซาะชายหาดเทพาที่สวยงามอย่างรุนแรง
7.ป่าชายเลนจะเสื่อมโทรม สัตว์น้ำลดลง กระทบ แหล่งอาหารทะเลที่สำคัญของโลก
8.ต้องย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่กว่า 100 ครัวเรือน ย้าย มัสยิด 2 แห่ง กุโบร์(สุสาน) 2 แห่ง และ โรงเรียนปอเนาะ 1 แห่ง
9.เป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้งและภาวะโลกร้อนจะรุนแรงขึ้น
10.ลำพัง เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ก็ทำให้ประชาชนทุกข์และเหนื่อยใจมากพอแล้ว ทำไมต้องเอามลพิษและโครงการที่สร้างความแตกแยกมาให้กับชุมชนอีก
เบื้องหลัง 2 ประการที่ต้องสร้างที่เทพาคือ
1.อำเภอ สะบ้ายย้อยอยู่ห่างไปเพียง 20 กิโลเมตร มีถ่านหินลิกไนท์มหาศาล การสร้างที่เทพาเพื่อรอขุดเหมืองลิกไนท์สะบ้าย้อยใน อนาคต แม้ต้องย้ายประชาชนนับหมื่นก็ตาม
2.การสร้างที่เทพาเพื่อรอบรับสงขลาเป็น “มาบตาพุด 2” ไฟฟ้ามหาศาลที่ผลิตได้นี้ไว้ใช้กับนิคมอุตสาหกรรมหนักในอนาคต
—
จดหมายเปิดผนึกถึงพี่น้องชาวปัตตานี อย่าให้คนปัตตานีเป็นพลเมืองชั้นสอง เมื่อโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพพาเจตนาทำลืม ของเครือข่ายคนสงขลาไม่เอาถ่านหิน
โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ถึง 2,200 เมกาวัตต์ ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 2,960 ไร่ ณ ตำบลปากบาง อำเภอเทพา ซึ่งอยู่ห่างจากเขตแดนจังหวัดปัตตานีเพียง 6 กิโลเมตร ใช้ถ่านหินจากอินโดนีเซียที่อ้างว่า สะอาดเป็นเชื้อเพลิงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม หรือ เท่ากับ 1,000 รถบรรทุก เท่ากับการเทถ่านหิน ขนาดหนึ่งรถบรรทุกเข้าไปในเตาเผาทุกหนึ่งนาที ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดเวลา 30-40 ปีของอายุโครงการ
การเผาถ่านหินจำนวนมหาศาล จะก่อให้เกิดมลพิษจำนวนมาก ทั้งฝุ่นควัน โลหะหนัก ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกทางปล่องควันที่สูง 200 เมตร หรือเท่ากับตึก 66 ชั้น ซึ่งจะกระจายไปตามทิศทางลมและพื้นที่อำเภอหนองจิก โคกโพธิ์ ยะหริ่ง ยะรัง และอำเภอเมือง จะได้รับผลกระทบ
จะมีการนำทะเลมาหล่อเย็นและบำบัดซัลเฟอร์ ไดออกไซด์วันละกว่า 9 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ เท่ากับสนามฟุตบอลที่มีน้ำทะเลสูง 1 เมตรจำนวน 1,258 สนาม ซึ่งน้ำจำนวนนี้จะนำมาใช้แล้วปล่อยทิ้งกลับไปในทะเลทุกๆ วัน ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเทพาและอ่าวปัตตานีจะลดลง รวมทั้งเขื่อนดูดน้ำและสะพานรับถ่านหินที่ยื่นลงไปในทะเล 3 กิโลเมตร ก็จะทำให้มีการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง เรือใหญ่ที่ขนถ่ายถ่านหิน กินน้ำลึก 15 เมตร จะผ่านหน้าแหลมตาชี ก่อนเข้าสู่ทะเลหน้าหาดเทพา แล้วขนถ่ายถ่านหินลงเรือลำเล็กกว่า 13,000 ตัน ที่กินน้ำลึก 6 เมตร ขนถ่านหินสู่ท่าที่ห่างจากฝั่ง 3 กิโลเมตร ที่มีน้ำลึกเพียง 7.2 เมตร ฝูงสัตว์น้ำอันอุดมสมบูรณ์ ย่อมหายไปจากความสั่นสะเทือน สกปรก และความปั่นป่วนของตะกอนใต้ท้องทะเล อาชีพประมงในอ่าวหนองจิก-ปัตตานี จะล่มสลายในไม่ช้า บ่อเก็บเถ้าถ่านหินขนาด 760 ไร่ ที่อยู่ห่างทะเลเพียง 1 กิโลเมตร จะเป็นอีกหายนะหนึ่ง หากมีการแตก รั่ว หรือน้ำล้นจากภาวะน้ำท่วมหรือพายุลมมรสุม
แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กลับไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในพื้นที่จังหวัด ปัตตานีเลย แม้แต่หมู่บ้านบางราพา ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก ที่อยู่ห่างจากรั้วโรงไฟฟ้าไม่ถึง 6 กิโลเมตร ก็ยังไม่ได้มีการศึกษาหรือเข้าไปให้ข้อมูลใดๆ แก่ชุมชน รวมทั้งไม่มีการให้ความสำคัญต่อการเปิดเวทีรับฟังความเห็นขอคนปัตตานีแม้แต่ น้อย หรือเพียงเพราะชื่อ “ปัตตานี” นั่นน่ากลัวเกินไป เห็นพี่น้องปัตตานีเป็นคนชั้นสอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงไม่ดำเนินการศึกษาผลกระทบตามมาตรฐานทางวิชาการที่ควรจะเป็น
จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวปัตตานี พิทักษ์สิทธิของตนเองในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อโครงการโรงไฟฟ้า ถ่านหินเทพา อย่าให้คนปัตตานีเป็นพลเมืองชั้นสอง ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจตนาทำลืม
ที่มา http://www.fatonionline.com
กองบรรณาธิการ, โต๊ะข่าวชายแดนใต้