วิกฤติสิ่งแวดล้อมในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และทะเลพังงา ถูกยกมาพูดถึงและเปิดประเด็นปัญหาโดย ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ลงไปคลุกคลีทั้งสำรวจและพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นบนเกาะพีพี และพื้นที่โดยรอบ มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่องนับจากเดือนกันยายน 2558 ดร.ธรณ์ ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุถึงการประชุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ประเทศไทยต้องใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน แต่มักมีปัญหาเรื่องการนำยุทธศาสตร์ไปใช้ในภาคปฏิบัติ
ดร.ธรณ์ ระบุในโพสต์ครั้งนั้นว่า “ผมเลยลองนำเกาะพีพีมาเป็นต้นแบบ ก่อนพบว่า หากเราเดินหน้าแบบเดิม เราแทบไม่มีทางออกในเรื่องนี้ ปัญหาสำคัญมี 3 ประการ แนวปะการังเสียหายอย่างมาก จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไม่หยุดยั้ง หน่วยงานรับผิดชอบไม่มีศักยภาพเพียงพอ ขอยกตัวอย่างให้เห็น เกาะพีพีมีนักท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าปีละล้าน (ตัวเลขที่แท้จริงยังตอบไม่ได้) มีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดตามปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่อุทยานมีข้าราชการ 4 คน มีเรือเร็ว 1 ลำ เรือยาง 1 ลำ ในการดูแลทุกอย่าง อุทยานเกาะพีพีไม่ได้มีแค่เกาะพีพี ยังมีเกาะไม้ไผ่ มีสุสานหอย มีทะเลแหวก มีเกาะปอดะ ฯลฯ แค่คิดถึงพื้นที่และจำนวนนักท่องเที่ยว ผมก็ไม่รู้ว่าจะดูแลกันได้อย่างไร”
“เพราะฉะนั้น เวลาเราตั้งคำถาม อุทยานเก็บเงินได้ครบหรือยัง ? ทำไมยังมีคนให้อาหารปลา? ทำไมยังมีการทิ้งสมอเรือตรงนั้นตรงนี้? ทุกคำตอบก็กลับมาที่ข้าราชการ 4 คน เรือ 2 ลำ อุทยานมีทุ่นจอดเรืออยู่เพียงไม่กี่ลูก หน่วยงานท้องถิ่นช่วยมาสร้างให้อีก 8 ลูกก็นับว่าเป็นบุญ แต่ทั้งพื้นที่มีเรือวันละหลายร้อยลำ ด้วยปริมาณทุ่นแค่นี้ ยังไงก็ไม่พ้นการทิ้งสมอ การปฏิรูปอุทยานทางทะเล จึงไม่ใช่แค่โยนคำถามลงไปแล้วดูสิว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง แต่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ โดยแบ่งระดับความเร่งด่วนให้ชัดเจน”
โดย ดร.ธรณ์ ได้แบ่งระดับความเร่งด่วนเอาไว้ดังนี้
ระดับวิกฤติ – หมู่เกาะพีพี
ระดับเร่งด่วน – หมู่เกาะอาดัง-ราวี (ตะรุเตา) หมู่เกาะสิมิลัน อ่าวพังงา
ระดับปานกลาง – อุทยานอื่น เช่น หมู่เกาะสุรินทร์
แต่จนถึงวันนี้ “ความเร่งด่วน” ของการแก้ปัญหาวิกฤติที่ว่า ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่ชัดเจนลงมา ล่าสุด ดร.ธรณ์ พร้อมคณะ และกลุ่มคนรักพีพี ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อช่วยเหลือกันเองเท่าที่ทำได้ในเบื้องต้น โดย ดร.ธรณ์ ได้โพสต์เล่าถึง การลงไปสำรวจเกาะพีพีครั้งล่าสุด ถึงกับโพสต์บอกความในใจว่า….
มันพูดไม่ออก ไม่อยากเชื่อสายตา ทั้งอ่าวมีเรือจอดเรียงกันอย่างต่ำ 30 ลำ (ไม่เชื่อเชิญนับในภาพ)
ไม่มีอีกแล้ว ปะการังในอ่าว แม้แต่แนวปะการังด้านหน้า เรือวิ่งเข้าออกด้วยความถี่มากกว่าเรือในคลองแสนแสบ ตะกอนทรายที่ฟุ้งกระจายทับปะการังทุก 4-5 นาที จะมีอะไรเหลือ
นี่หรือคือสิ่งที่เราปล่อยให้เกิดขึ้นในจุดสวยที่สุดของทะเลไทย ?
ผมกลับไปอีกครั้ง เมื่อหัวหน้าพีพีที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ขอให้ผมลงไปช่วยในพื้นที่
ในบรรดาทะเลทั้งหมดของพีพี ที่นี่คือจุดที่ผมไม่อยากไปที่สุด…
บ่ายวันนั้นผมเข้าไปในอ่าว เรือเล็กของเราวิ่งเข้าไปช้าๆ (ไม่กล้าว่ายน้ำเข้าเพราะมั่นใจว่าโดนเรือชนตายแน่)
อ่าวที่ผมเคยจำได้ของผมจากไปแล้ว จากไปจริงๆ ผมไม่เจอปะการังที่เคยมีแม้แต่หย่อมเดียว เธอสูญสลายจนไร้หลักฐานปรากฏ
ความเงียบสงบถูกแทนด้วยเเสียงนักท่องเที่ยวหลายร้อย นักเที่ยวจีนกำลังเล่นวอลเล่ย์บอลในน้ำ บ้างปีนไปบนหัวเรือแล้วกระโดดตีลังกาลงน้ำ มันเหมือนสระน้ำ เหมือนสวนน้ำ เหมือนอะไรก็ได้ยกเว้นอุทยานแห่งชาติ
มุมหนึ่งใกล้หน้าผาคือแพสีขาว เมื่อเข้าไปใกล้ ผมเปลี่ยนไปใส่แว่นตาดำ อาจารย์ธรณ์ก็ร้องไห้เป็น
ผมไม่บรรยายเกี่ยวกับแพขยะ ภาพบ่งบอกดีกว่าคำพูด
เรากลับมาข้างนอก หัวหน้าถามว่าผมต้องส่งลูกน้องมาเก็บขยะทุกวันเหรอ
ผมตอบไป อุทยานมีเรือยาง 1 ลำ อยู่เกาะไม้ไผ่ ห่างจากที่นี่ไปไกลโข อีกทั้งภารกิจมีมหาศาล อุทยานไปดูแลคนทิ้งสมอ ทำโน่นทำนี่ ดีกว่ามาเก็บขยะ
ผมไปอุทยานมาไม่รู้กี่ร้อยแห่งทั่วโลก ก็ไม่เคยเห็นเจ้าหน้าที่ต้องมาคอยเก็บขยะที่นักท่องเที่ยวทิ้ง นักเที่ยวต้องมีสำนึกเอง ผู้ประกอบการต้องช่วยดูแล เจ้าหน้าที่แค่คอยควบคุมความเรียบร้อย
จิวจ่ายโกว เมืองจีน นักเที่ยววันละ 2-3 หมื่นคน ตลอดเส้นทางเดินนับสิบกิโลเมตร ผมเห็นขยะน้อยกว่าในอ่าวปิเละในวันนั้น
อย่าไปโทษคนชาติใด มันอยู่ที่การจัดการ ผมไปอุทยานเมืองจีนมานับสิบแห่ง ผมยังไม่เคยเห็นที่ไหนเละตุ้มเป๊ะเท่าเมืองไทย ไม่งั้นเมืองจีนคงไม่มีเขตมรดกโลกหลายสิบแห่ง
การจัดการขยะในปิเละ หรือในที่อื่นของพีพีไม่ใช่เรื่องยาก หากเรามีเครือข่าย เราช่วยกันคนละมือละไม้ อย่าไปโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ยังมีการจัดการเรื่องอื่นที่ยากกว่านั้นมากที่ปิเละ และยากกว่านั้นมากที่อื่นๆ รอบพีพี
และมันจะเป็นไปไม่ได้ หากเราไม่คิดกอบกู้เธออย่างจริงจัง หลงละเมอเพ้อพกไปกับยุทธศาสตร์และแผนงาน จนลืมดูศักยภาพในการดูแลพื้นที่ของหน่วยงาน
หากผู้บริหารท่านใดมีความสุขกับตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกวัน ชอบอกชอบใจกับโครงการรณรงค์รักโลกรักแหล่งท่องเที่ยวไทยโน่นนี่นั่น ลองใช้เวลาสักนิดเหลียวมามองแพขยะในอ่าวสวยสุดของไทยบ้าง
คำพูดในห้องประชุม ตัวอักษรในบทสรุปผู้บริหาร กับความเป็นจริงในทะเล บางครั้งมันต่างกัน
ไม่ต้องการทำลายภาพพจน์การท่องเที่ยวไทย แต่เราปิดความจริงต่อไปไม่ไหว ไม่ไหวจริงๆ ครับ
(อย่าขอให้ย้ายหัวหน้าอุทยานนะครับ เขาเป็นคนขอให้ผมลงไปช่วย ลุยกันไปได้หลายเรื่องแล้ว ปัญหาตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่เจ้าหน้าที่ ปัญหาอยู่ที่ไม่มีผู้ใหญ่ระดับใหญ่จริงสนใจอยากแก้ไขจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เราไม่ได้ขอเงินภาษีมาใช้ พีพีเก็บค่าธรรมเนียมได้เดือนละ 15-16 ล้าน แต่ไม่เคยสามารถใช้เงินได้เลย ส่งส่วนกลางแล้วหายหมด ขอเงินวางทุ่นก็ไม่มี นี่แหละครับที่ต้องปฏิรูป)
หลังจากโพสต์ข้อความนี้ หลายฝ่ายจึงเริ่มตื่น โดยเฉพาะกรมอุทยานฯ หน่วยงานต้นสังกัดที่ดูแลพีพี ต่อมาเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ และตามด้วยภาคเอกชน โดยโพสต์ล่าสุดของ ดร.ธรณ์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ได้สรุปผลปฎิบัติการต่างๆ ว่า
ผมเริ่มลงเรื่องพีพีในวันที่ 2 ผ่านมาสัปดาห์เศษ เรามาดูสิว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง #กู้วิกฤตพีพี #ผลลัพธ์แปดประการ
1) ทิ้งสมอ/ทุ่นจอดเรือ
ก่อนเราเริ่ม – โครงการทุ่นจอดเรือที่อุทยานพีพีขอจากส่วนกลาง จำนวนกว่า 150 ลูก ถูกระงับชั่วคราว ทั้งพีพีมีทุ่นจอดเรือสภาพดีไม่ถึง 10 ลูก (ข้อมูลจากกลุ่มพิทักษ์พีพี)
ตอนนี้ – กรมอุทยานอนุมัติโครงการทุ่นจอดเรือทั้งหมด ภาคเอกชนบางรายกำลังเตรียมสนับสนุน กลุ่มพิทักษ์พีพีช่วยกันเรี่ยรายจัดหาทุ่น
สรุป – จะมีทุ่นจอดเรือไม่ต่ำกว่า 200 ลูกในพีพีในเวลา 1-2 เดือนข้างหน้า
2) เรือ Try Dive
ก่อนเราเริ่ม – เรือขนาดใหญ่จอดแช่บนแนวปะการังเกิน 3 ปี
ตอนนี้ – เรือทั้ง 5 ลำ ถูกเคลื่อนย้ายออกไปภายใน 1 วัน
สรุป – กิจกรรม Try Dive กำลังถูกพิจารณาไม่ให้ทำในเขตอุทยาน
3) เรือตรวจ
ก่อนเราเริ่ม – อุทยานมีเรือ 1 ลำ
ตอนนี้ – อุทยานได้เรือเพิ่มจากส่วนกลาง 1 ลำ กำลังจะได้จากภาคเอกชนอีก 1 ลำ
สรุป – มีเรือ 3 ลำ เป้าหมายคือ 6 ลำ (รวมเรือยางนะจ๊ะ)
4) ขยะในทะเล
ก่อนเราเริ่ม – มีการเก็บขยะในทะเลโดยกลุ่มพิทักษ์พีพี ปีละ 2-3 ครั้ง
ตอนนี้ – เราเก็บขยะจนหมดอ่าวปิเละ ประธานกลุ่มและอุทยานบอกว่าจะเก็บให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง
สรุป – มีการเก็บขยะเพิ่มขึ้นมาอีกมาก หลายบริษัทติดต่อผมมาเรื่อง CSR
5) คราบน้ำมัน
ก่อนเราเริ่ม – มีการทิ้งคราบน้ำมันเป็นระยะ แต่ไม่มีใครรู้
ตอนนี้ – เรือกำลังจะถูกจับและปรับอย่างรุนแรง หัวหน้าอุทยานกำลังพยายามนำเรือต่างๆ เข้าระบบขออนุญาตและควบคุมให้ชัดเจนภายใน 2 เดือน
เดิมทีมีเรือเข้าระบบเพียง 93 ลำจากเรือมากกว่า 1,000 ลำที่มาพีพี หากอยากรู้ว่าทำไมเป็นเช่นนั้น ต้องย้อนกลับไปถามหลายปี หัวหน้าเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้ 3-4 เดือนครับ
สรุป – ระบบควบคุมเรือและตรวจสอบสภาพ จะเริ่มต้นเป็นจริงในปีหน้า
6) เหยียบปะการัง เลี้ยงอาหารปลา
ก่อนเราเริ่ม – มีการเลี้ยงอาหารปลาและเหยียบปะการังทั่วไป
ตอนนี้ – ผู้ประกอบการเริ่มระมัดระวัง หลีกเลี่ยงและเริ่มเตือนแขก
สรุป – สองเรื่องนี้ต้องว่ากันอีกยาว ใจเย็นนิดครับ
7) ค่าเข้าอุทยาน (เราทำมาตั้งแต่เดือนเมษา)
ก่อนเราเริ่ม – พีพีเก็บเงินได้วันละ 80,000 บาท (เฉลี่ยทั้งอุทยาน)
ตอนนี้ – เฉพาะอ่าวมาหยา เมื่อวานเก็บเงินได้กว่า 700,000 บาท
สรุป – หากเรือพร้อมคนพร้อม เข้าช่วงไฮซีซั่น บางวันอาจถึง 1 ล้านบาททั้งอุทยานครับ
8) ประการสุดท้าย สำคัญสุด กำลังใจ
ผมอยากให้เพื่อนธรณ์มาอยู่ด้วย ตอนผมมาถึง เจ้าหน้าที่อุทยานมากันเพียบ ชาวบ้านแห่กันมา พวกเขามีความหวัง วันนี้ผมโทรศัพท์กริ๊งเดียว เรือมาทันที 2 ลำ ผู้คนกระโดดลงน้ำช่วยกันเก็บขยะ กำลังใจที่คนท้องถิ่นเห็น เจ้าหน้าที่อุทยานรู้ ว่ามีคนกลุ่มหนึ่งในประเทศไม่ทิ้งพวกเขา ไม่ปล่อยให้เขาเผชิญหน้าปัญหาเพียงลำพัง ด้วยคำว่าไม่ใช่เรื่องของฉัน
กำลังใจมีพลัง…และมีมากกว่าทุกอย่างครับ
—
ภาพจากเฟสบุ๊ค ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม/ติดตาม https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat
อภิรดี จูฑะศร เป็นอดีตผู้สื่อข่าวภูมิภาค (ภาคใต้) นสพ.ผู้จัดการรายวัน อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และครีเอทีฟบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ 2 ค่ายดังของเมืองไทย ก่อนมารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสารในเครือจีเอ็ม กรุ๊ป เป็นอดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2546-2548 มีบทบาทร่วมเคลื่อนไหวและรณรงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผืนป่าตะวันตก และต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและการทารุณกรรมสัตว์ ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เคยเป็นเลขาธิการมูลนิธิ Wildlife และ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มีผลงานเขียนทั้งบทความ สารคดี บทกวี เรื่องสั้น และบทสัมภาษณ์คนดังหลายวงการในหน้านสพ.และนิตยสารหลายเล่มตลอดกว่า 25 ปีในแวดวงสื่อสารมวลชน ปัจจุบันเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ บ.มีเดีย โร้ด , บรรณาธิการ/ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ. The Public Post