กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ภาคีหน่วยราชการ และภาคเอกชน จัดเวทีนโยบาย “โควิด-19: ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย” พัฒนาความร่วมมือด้านวิชาการและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาทุนมนุษย์ไทยให้พร้อมแข่งขันในศตวรรษที่ 21 พร้อมจัดทำ “การวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงาน (Adult Skills Assessment)” เพื่อร่วมกันหาแนวทางการยกระดับทักษะแรงงาน และการกำหนดนโยบายด้านการศึกษา ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในโลกยุคดิจิทัล เพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน ให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงบริบทของโลกในมิติต่าง ๆ ที่กระทบต่อการปรับตัวของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนรูปแบบใหม่ มีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงานที่ถูกกระทบด้วยภาวะวิกฤตต่าง ๆ ได้ ซึ่งการเรียนจากระบบการศึกษาเพียงครั้งเดียวเพื่อใช้งานตลอดชีวิต จึงไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบชีวิตสามช่วง (three-stage life) การศึกษา การทำงาน และการเกษียณ ไปสู่รูปแบบวิถีชีวิตแบบหลายช่วง (multistage life) ส่งผลให้คนต้องทำงานหลายอาชีพ รวมถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีระบบส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่เอื้อให้คนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และมีความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
“การวิจัยนี้เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อสร้างกำลังคนในอนาคต เพราะโลกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากการถูก Disrupt ด้วยเทคโนโลยีและการแพร่ระบาดของโควิด ดังนั้นข้อมูลต่างๆ จากการวิจัยจะมีประโยชน์อย่างมาก เพราะผลลัพธ์ของงานวิจัยจะทำให้เราได้ทราบว่า จะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างของประชากรไทยอย่างไรให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม ที่จะทำให้เขาสามารถอยู่ในยุคศตวรรษที่ 21 ได้ รวมถึงนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ให้เหมาะสมกับการพัฒนากำลังคนของประเทศต่อไป” นางสาวตรีนุช กล่าว
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงาน หากต้องการที่จะก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยรายงานของเวิร์ลอิโคโนมิคฟอรั่ม (World Economic Forum) ในปี 2019 สะท้อนว่าไทยมีสัดส่วนของแรงงานทักษะสูงเพียงร้อยละ 14 ซึ่งอยู่ในอันดับ 86 จาก 141 ประเทศ นอกจากนี้การสำรวจสถิติแรงงานในประเทศ พบว่าร้อยละ 70 ของประชากรวัยแรงงานมีระดับการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา ซึ่งผลกระทบของตลาดแรงงานช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ภาพดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะในขณะที่แรงงานกลุ่มทักษะชั้นสูงหรือคนที่ปรับตัวได้เร็ว ยังได้รับประโยชน์จากการทำงาน การใช้เทคโนโลยี และการสร้างอาชีพใหม่ภายใต้วิกฤต ในทางกลับกัน แรงงานไร้ฝีมือ ผู้ที่ขาดทักษะด้านเทคโนโลยี ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ กลายเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง
“กสศ. ได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มนักเรียนและเยาวชนที่ด้อยโอกาส ซึ่งนอกจากเด็กและเยาวชนแล้ว ยังมีกลุ่มประชากรอีกกลุ่มหนึ่งคือประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทั้งทุนทรัพย์และด้อยโอกาสต่างๆ ให้ได้รับการพัฒนาทักษะและศักยภาพ ประกอบกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ประชากรกลุ่มวัยแรงงานที่ด้อยโอกาสก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังห่างไปเรื่อยๆ ดังนั้นข้อมูลจากงานวิจัยและความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะเป็นเครื่องมือชี้เป้าและความต้องการ และนำผลจากการวิเคราะห์วิจัยและการพัฒนาต้นแบบไปสู่ระดับนโยบายเพื่อขยายผลในระดับประเทศ ซึ่งหากทำได้สำเร็จแรงงานในประเทศไทยก็จะได้รับการพัฒนากลายเป็นแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้นเรื่อยๆ วันข้างหน้าประชากรไทยก็จะมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดปัญหาความยากจนข้ามรุ่น ช่วยให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้น และยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างได้อีกด้วย” ดร.ประสาร กล่าว
ดร.ประสาร กล่าวว่า หนึ่งในแนวทางการทำงานของ กสศ. ที่มีต่อกลุ่มเป้าหมายของประชากรในวัยแรงงานผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส คือการสนับสนุนกระบวนการของการสร้างทักษะใหม่ (Reskill) การยกระดับทักษะ (Upskill) และการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ให้แก่ผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษา รวมถึงแรงงานด้อยโอกาสและแรงงานนอกระบบที่มีอยู่ถึง 20 ล้านคนในประเทศ ผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อให้กลุ่มแรงงานด้อยโอกาสและขาดทักษะของประเทศไทย สามารถพัฒนาทักษะของตนให้ก้าวไปสู่ความเป็นแรงงานมีฝีมือ ในปี 2564 กสศ. สามารถเข้าไปยกระดับการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับแรงงานกว่า 8,500 คน ใน 48 จังหวัด โดยใช้การทำงานร่วมกับหน่วยพัฒนาอาชีพ วิสาหกิจชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ สถาบันการศึกษา และเครือข่ายองค์กรพัฒนาอาชีพ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ และนำไปสู่การสร้างต้นแบบ (Model) ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการยกระดับการเรียนรู้ตลอดชีวิตสู่การประกอบอาชีพ
ด้าน Ms.Brigit Hansl ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีก้าวหน้าและประสบความสำเร็จพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ ระบบสาธารณสุข ฯลฯ โดยมีข้อบ่งชี้จากการสร้างงาน การแก้ปัญหาความยากจน รวมไปถึงการลดของปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ
“แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของยุคดิจิทัลและสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทั้งหมดในเรื่องของตลาดแรงงานทั่วโลก ดังนั้นถ้าเราสามารถรู้ได้ว่าคุณสมบัติและทักษะอะไรที่จะทำให้คนในวัยแรงงานสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ กสศ. และธนาคารโลก จะนำไปสู่การออกแบบนโยบายในการพัฒนาและเติมเต็มทักษะแรงงาน รวมไปถึงการกำหนดนโยบายเพื่อบ่มเพาะทักษะฝีมือให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการปรับตัว และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น”
ในขณะที่ Mr.Toby Linden ผู้จัดการด้านการพัฒนาการศึกษา ธนาคารโลก ยังกล่าวย้ำด้วยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือ การพัฒนาเยาวชนให้มีความสามารถที่จะรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการเกิดขึ้นของโควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงานแล้ว ยังส่งผลไปถึงโอกาสทางการศึกษา โดยพบว่าเด็กๆ สูญเสียโอกาสการเรียนรู้ไปถึง 1.2 ปีจากสถานการณ์โควิด-19
“ระบบการศึกษาจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านี้ ทำอย่างไรให้เด็กๆ ได้รับการฟื้นตัวขึ้นมาจากโอกาสที่หายไป การเรียนรู้ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีเป้าหมาย ส่วนแรงงานก็จะต้องพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน”
สำหรับโครงการวิจัยสำรวจทักษะและความพร้อมกลุ่มประชากรวัยแรงงาน เกิดขึ้นมาจากโจทย์ที่ท้าทาย ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานเยาวชนนอกระบบมากถึง 20 ล้านคน เป็นกลุ่มเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาถึง 1.3 ล้านคน และร้อยละ 74 ของแรงงานทั้งระบบ หรือ 14.5 ล้านคนของแรงงานไทยนั้นมีวุฒิต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการยกระดับทักษะของแรงงาน และยกระดับการศึกษาให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งผลจากการวิจัยครั้งนี้จะถูกนำไปพัฒนาเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่ข้อบ่งชี้และข้อกำหนดเชิงนโยบายในการพัฒนากำลังคนของประเทศให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า งานวิจัยนี้ถือว่าเป็นครั้งแรก ที่จะทำให้ประเทศไทยมีเครื่องมือเชิงนโยบายในการพัฒนากำลังคน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและตลาดแรงงาน หน่วยงานต่างๆ ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้รับเอาไปใช้ในการเติมเต็มและสานต่อกับนโยบายของตนเองในการพัฒนากำลังคนของประเทศได้ ซึ่งการที่เรามีข้อมูลจะทำให้เราได้เห็นช่องว่างของทักษะที่เกิดขึ้นกับระหว่างแรงงาน กับผู้จ้างงาน และยังช่วยให้เด็กไทยและคนไทยได้รับโอกาสที่เสมอภาคและเท่าเทียมในการพัฒนาทักษะด้านแรงงานของตนเอง อันจะนำไปสู่การสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคมได้