สำนักงานตำรวจแห่งชาติชี้แจงไม่เคยสั่งการให้เฝ้าระวังกลุ่มบุคคลสัญชาติอิหร่านและคนไทยมุสลิมชีอะห์ที่อาจแฝงตัวเข้ามาก่อเหตุความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศตามที่นสพ.บางกอกโพสต์รายงาน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เว็บไซต์ของบางกอกโพสต์ได้เผยแพร่รายงานข่าวในภาษาอังกฤษที่เขียนโดย “นายวัสยศ งามขำ” อ้างแหล่งข่าวตำรวจระดับสูง ระบุว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออก “คำสั่งลับ” ให้ตำรวจทั่วประเทศติดตามการเคลื่อนไหวของชาวอิหร่านและชาวไทยมุสลิมที่สงสัยว่าทำงานเป็นสายลับให้อิหร่านในประเทศไทยอย่างใกล้ชิด โดยเชื่อมโยงกับกรณีอินโดนีเซียจับกุมชาวอิหร่านในข้อหาใช้หนังสือเดินทางปลอม
ต่อมาทางสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงตอบโต้รายงานดังกล่าวของบางกอกโพสต์ พร้อมทั้งประณามว่าเป็นการแพร่ข่าวเท็จ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความเสียหายต่อความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และมิตรภาพระหว่างอิหร่าน-ไทย
ขณะที่ “ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี” นักการศาสนาคนสำคัญและผู้นำมุสลิมชีอะห์ไทยก็ได้ออกมาตำหนิผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อดังกล่าวว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพและปราศจากจรรยาบรรณ เป็นการเขียนข่าวด้านเดียวโดยอ้างแหล่งข่าวนิรนาม และโยงในสิ่งที่แหล่งข่าวพูดกับผู้หลักผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสร้างความเสียหายกับมุสลิมชีอะห์โดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน
ล่าสุดวันนี้ (8 มิ.ย.) กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกคำชี้แจงระบุว่า
ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ อ้างอิงเว็บไซต์สำนักข่าว Bangkok Post ที่อ้างว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีข้อสั่งการลับไปยังหน่วยงานในสังกัดให้เฝ้าระวังกลุ่มบุคคลสัญชาติอิหร่านและคนไทยมุสลิมชีอะห์ที่อาจแฝงตัวเข้ามาก่อเหตุความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศซึ่งเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน นั้น
พล.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ/รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเรียนให้ทราบว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง สำนักงานตำรวจแห่งชาติมิได้มีการสั่งการให้เฝ้าระวังกลุ่มบุคคลข้างต้น
พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้กองการต่างประเทศตรวจสอบยืนยันกับประเทศที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางตำรวจสากลเกี่ยวกับการจับกุมคนร้ายที่ประเทศอินโดนีเซียในปี 2564 ผลปรากฏว่าทางการตำรวจอินโดนีเซียมิได้มีการประสานข้อมูลการข่าวกับทางการตำรวจไทยในการขยายผลถึงบุคคลอื่นที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องในการรักษาสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 ในปีนี้ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีขั้นตอนและมาตรการที่กำหนดไว้แล้ว
และขอเน้นย้ำว่า กรณีที่มีข้อมูลข่าวสารที่อาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการที่เกี่ยวข้องด้วยความละเอียดรอบคอบอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศเป็นสำคัญ
อนึ่ง ระหว่างวันที่ 6 – 7 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดการประชุมร่วมระหว่างตำรวจไทย–ตำรวจเมียนมา ระดับบริหาร ครั้งที่ 1 โดยมีการหารือในหัวข้อเรื่องการป้องกันและปราบปรามการก่อการร้ายในภูมิภาค และที่ประชุมได้เห็นพ้องตรงกันว่า ภัยก่อการร้ายเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะต้องร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค พร้อมทั้งจะมีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยคุกคามที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อการร้ายเพื่อป้องกันการโจมตีในทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ดำเนินการตรวจสอบการเสนอข่าวของสำนักข่าว Bangkok Post และสื่ออื่นๆ ที่ได้นำเสนอข่าว ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งระบุไว้ในกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง