วันที่ 27 ส.ค. ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายพรรคก้าวไกล อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. ได้โพสต์เฟสบุ๊คเรื่อง “การศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ – 5 ความท้าทายในการยกระดับการศึกษาในพื้นที่ และ ความสำคัญของการกระจายอำนาจ” โดยระบุว่า
แม้การศึกษาไทยเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขในระดับประเทศสำหรับทุกพื้นที่ – ทั้งในส่วนของ คุณภาพ ความเหลื่อมล้ำ หรือ สภาพแวดล้อมในโรงเรียน – แต่เสียงจากเยาวชนและนักการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สะท้อนให้เห็นถึง 5 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัด อาจต้องเผชิญความท้าทายในบางส่วนมากกว่าพื้นที่อื่น
1. ความเหลื่อมล้ำในผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา – แม้คุณภาพการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียนในพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน แต่หากดูคะแนนเฉลี่ย O-NET ในระดับจังหวัด พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะรั้งท้ายอยู่เสมอเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ โดยความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระหว่างคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน ส่งผลกระทบโดยตรงไปถึงความเหลื่อมล้ำในโอกาสในการเรียนต่อในระดับอุมศึกษา และ โอกาสในตลาดแรงงานหลังเรียนจบ หากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในพื้นที่ ไม่ถูกยกระดับขึ้นมาให้ทัดเทียมกับจังหวัดอื่นๆ ผ่านการกระจายงบประมาณอย่างเป็นธรรม การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการยกระดับรายได้ต่อหัวของคนในพื้นที่จะมีความท้าทายขึ้นตามมา
2. ภาระการเรียนของนักเรียนสูง – ด้วยความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักเรียนในพื้นที่ส่วนใหญ่จึงถูกคาดหวังให้เรียนทั้งวิชาสามัญ และ หลักคำสอนด้านศาสนา ซึ่งนำมาซึ่งเวลาและภาระการเรียนที่สูงกว่านักเรียนในพื้นที่อื่นๆ การที่นักเรียนต้องเรียนทั้งกลุ่มวิชาสามัญที่อิงกับหลักสูตรแกนกลางโดยกระทรวงศึกษาธิการ และเรียนหลักวิชาทางศาสนา ทำให้นักเรียนหลายคนต้องเรียนมากถึง 10 คาบต่อวัน และมากกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ ทางออกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ คือการลดวิชาบังคับและตัวชี้วัดรายหัวข้อที่ถูกกำหนดโดยส่วนกลาง เพื่อให้ท้องถิ่นและโรงเรียนมีอำนาจและความยืดหยุ่นมากขึ้นในการออกแบบหลักสูตรในส่วนที่เหลือ ให้ครอบคลุมวิชาที่ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยที่ไม่เป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียนให้กับนักเรียนมากจนเกินไป
3. การเรียนหลายภาษา และข้อจำกัดในการสรรหาครูต่างชาติ – เนื่องจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการใช้ภาษามลายูเป็นอีกภาษาหลักในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน นักเรียนในพื้นที่จึงถูกคาดหวังให้เรียนอย่างน้อย 3 ภาษาตั้งแต่เด็กเป็นขั้นต่ำ (ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และ ภาษามลายู) โดยหลายสถานศึกษาพยายามบรรจุให้มีการเรียนภาษาอื่นๆเพิ่มเติม (เช่น ภาษาจีน ภาษาอารบิก) เพื่อสอดรับกับลักษณะของพื้นที่ที่มีความนานาชาติในเชิงภูมิศาสตร์และความหลากหลายทางเชื้อชาติ เมื่อการเรียนภาษาเป็นเรื่องสำคัญ โจทย์ในการดึงดูดครูเจ้าของภาษามาสอนนักเรียนในพื้นที่ โดยเฉพาะจากประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นโจทย์ที่รัฐบาลอาจต้องเข้ามามีบทบาทเชิงรุกมากขึ้น
4. เสรีภาพทางการศึกษา ที่ไม่เหมือนที่อื่น – ห้องเรียนจะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้ ต่อเมื่อนักเรียนและครูรู้สึกปลอดภัย แต่ครูในพื้นที่หลายคนได้สะท้อนถึงความอึดอัดจากหลายกรณีที่หน่วยงานด้านความมั่นคงจากรัฐราชการส่วนกลาง ที่กระจายตัวอยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (เช่น กอ.รมน.) ได้เข้าไปสังเกตการณ์การเรียนการสอนและกิจกรรมภายในของโรงเรียนด้วยข้ออ้างด้านความมั่นคง จนทำให้ครูรู้สึกหวาดระแวงและนักเรียนรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการถูกเฝ้าสังเกต
5. การขาดพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน – หากดูจากสถิติ เยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัด เผชิญกับปัญหายาเสพติด มากกว่าเยาวชนในพื้นที่อื่นๆ การเสริมสร้างให้เยาวชนได้มีพื้นที่การเรียนรู้และการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน (เช่น พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ สนามกีฬา) อาจเป็นแนวทางหนึ่ง ที่ช่วยทั้งกระตุ้นให้เยาวชนมีไฟในการเรียนรู้ตลอดชีวิตแม้หลังจบการศึกษา และช่วยให้เยาวชนใช้เวลาว่างกับกิจกรรมการเรียรู้นอกห้องเรียนและอยู่หางไกลยาเสพติดกว่าเดิม
ด้วยความท้าทายด้านการศึกษา 5 ปัจจัย ที่มีอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะ การแก้ปัญหาของการศึกษาในระดับประเทศจากส่วนกลางอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องมาควบคู่กับการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นและโรงเรียนในพื้นที่ มีอำนาจและงบประมาณเพียงพอในการออกแบการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการและวัฒนธรรมของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งอาจแตกต่างจากพื้นที่อื่นในประเทศ