28 กันยายนวันยุติการตั้งครรภ์สากล หนุนผู้หญิงท้องไม่พร้อม ทำแท้งถูกกฎหมาย

28 กันยายนวันยุติการตั้งครรภ์สากล กสม.ร่วม สสส.จัดเวทีเสวนาหนุนผู้หญิงท้องไม่พร้อมและอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์เข้าถึงการทำแท้งถูกกฎหมาย ชงรัฐประกันสิทธิและสนับสนุนกลไกการทางการแพทย์ เพื่อลดอัตราเสียชีวิตและบาดเจ็บ

วันที่ 28 กันยายน 2565 ที่โรงแรมนิกโก้ กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ความก้าวหน้าด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ : สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย” โดยถ่ายทอดการเสวนาผ่านระบบออนไลน์ด้วย

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดเสวนาว่าการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ซึ่งได้รับการรับรองในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และกติการะหว่างประเทศด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญประจำกติกา ICCPR เห็นว่า การขาดบริการฉุกเฉินด้านสูติกรรมหรือการปฏิเสธการทำแท้งมักนำไปสู่การเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้หญิงที่เป็นมารดา ซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนในการมีชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ประเทศไทยได้แก้ไขและบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำหนดให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และมาตรา 305 ที่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาให้บริการยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิด อย่างไรก็ดีจากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2564 ของ กสม. พบว่าภายหลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ ยังมีปัญหาในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์หลายประการ เช่น ความล่าช้าในการส่งต่อผู้เข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ โรงพยาบาลของรัฐจำนวนมากยังไม่พร้อมให้บริการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อ (Refer) ไปยังสถานบริการอื่นที่พร้อมให้บริการ ซึ่งอาจทำให้อายุครรภ์ของผู้หญิงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และประสบปัญหาการเบิกค่าใช้จ่ายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นต้น นอกจากนี้ ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลแหล่งบริการโรงพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งกสม. ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้เร่งรัดการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวข้อง

ประธาน กสม. ย้ำด้วยว่า การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เป็นเรื่องที่สังคมโลกให้ความสำคัญ โดยได้กำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันขจัดอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งในด้านกฎหมาย ระบบบริการ และทัศนคติของสังคมที่ทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของมารดาจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับผู้หญิงคนใด ทั้งนี้ กสม.จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้รับฟังจากเวทีในวันนี้ไปประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2565 ที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา รวมทั้งนำไปสู่การจัดทำรายงานคู่ขนานการปฏิบัติตามอนุสัญญา CEDAW ของประเทศไทยต่อไป

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ข่าวดีล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2565 กำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นก่อน เพื่อให้การตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน รอบด้าน โดยจะมีผลบังคับใช้นับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาอีก 30 วัน ส่งผลให้ผู้ให้บริการสุขภาพและสังคมกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามแม้ไทยมีความก้าวหน้าเรื่องกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติยังมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

“ข้อมูลโครงการ “การติดตามผลระบบบริการยุติการตั้งครรภ์และพัฒนานวัตกรรมบริการนวัตวิถี (New Normal) ในบริบทกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ฉบับใหม่” ที่สนับสนุนโดย สสส.พบว่า ณ เดือน ส.ค.2565 ไทยมีสถานบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย จำนวน 110 แห่ง ส่วนใหญ่ให้บริการในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ขณะที่จำนวนผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จากข้อมูลสายด่วน 1663 ให้บริการปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม พบว่า ช่วง 12 เดือน (ก.ย.2564 – ส.ค. 2565) มีผู้โทรปรึกษาและต้องการยุติการตั้งครรภ์ถึง 30,766 คน ในจำนวนนี้มี 180 คน ที่แจ้งว่า ถูกปฏิเสธการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อไปยังหน่วยบริการอื่นที่มีความพร้อม ปัญหานี้เปิดช่องว่างให้ยาทำแท้งทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์เสี่ยงได้รับยาปลอม หรือขนาดยาไม่ตรงกับอายุครรภ์ อาจตกเลือด ติดเชื้อในกระแสเลือด หรืออาจเสียชีวิต งานวันนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานสำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ให้ได้รับสิทธิ บริการทางสุขภาพและสังคมที่ดีขึ้น” นายชาติวุฒิ กล่าว

ในช่วงท้ายของเวทีเสวนา นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อ “Abortion Rights=Health Rights=Human Rights” ว่าประเทศไทยยังมีผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและต้องการเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยอยู่จำนวนมาก แม้ว่าจะได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และ 305 ที่แก้ไขใหม่แล้วก็ตาม รัฐจึงต้องจัดระบบสุขภาพเพื่อให้ผู้หญิงทั้งที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายและที่ต้องการตั้งครรภ์ต่อ เข้าถึงบริการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม และขจัดอุปสรรคต่างๆ เพื่อจัดหาบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่จะไม่ทำให้ผู้หญิงหันไปใช้การบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการขจัดความล่าช้าในการให้การรักษาพยาบาลด้วย

“กสม. และองค์กรภาคีเครือข่ายตระหนักถึงความจำเป็นในการสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และกระตุ้นให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องจัดให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยไม่ว่าผู้นั้นจะอยู่ในพื้นที่ใดหรือถือสิทธิประโยชน์ใดอยู่ เพราะสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยคือสิทธิสุขภาพและสิทธิมนุษยชน” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปิดท้าย