กัณวีร์ สืบแสง ชี้ ไทยต้องกล้าออกจาก Comfort Zone ชูความมั่นคงของมนุษย์ ดันสิทธิมนุษยชน-มนุษยธรรม ให้สมเจ้าภาพเอเปค

ไทยต้องกล้าออกจาก Comfort Zone ชูความมั่นคงของมนุษย์ “Human Srcurity” ดันสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ให้สมศักดิ์ศรีเจ้าภาพการประชุม ผู้นำ Apec 2022

นายกัณวีร์ สืบแสง ประธานยุทธศาสตร์และรองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า ผมอ่านหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้แล้ว เสียดายโอกาสที่ในรอบ 19 ปี ที่เวลาได้มาบรรจบให้ไทยเป็นเจ้าภาพอีกครั้งหนึ่ง ผมเห็นพี่น้องภาคประชาชน/ประชาสังคม และวิชาการ ได้ขับเคลื่อนต่อต้านและบางกลุ่มถึงให้มีการยุติการประชุมครั้งนี้ก็มี

ผมคงไม่ก้าวล่วงเหตุผลของกลุ่มอื่นๆ ที่ทั้งตำหนิและต่อต้านการประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้ แต่ผมขอร่วมเจตจำนงในการแสดงความไม่พอใจต่อการเตรียมประเด็นของการหารือ เพราะในที่สุดแล้วมันจะไม่ให้ประโยชน์ใดๆ ต่อไทยไปมากกว่าที่ไทยมีความร่วมมืออยู่แล้วกับ 21 เขตเศรษฐกิจในโลกที่เป็นสมาชิกในเอเปคนี้

เสียดายที่ไทยตีโจทย์การจัดตั้งเอเปคไม่ออก ไม่คิดถึงโอกาสในการใช้ความเป็นผู้นำในกรอบความร่วมมือพหุภาคี อาทิ เอเปค นี้มาสร้างความเป็นผู้นำของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ขอเริ่มวิเคราะห์ว่าทำไมไทยมองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่ไม่ทำ หรือทำแล้วแต่มันไม่ถึง !!

ตรงๆ ง่ายๆ ครับ จุดยืนไทยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ ยังรู้สึกปลอดภัยใน comfort zone ของการใช้ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีอนุรักษ์นิยมครับ ไทยยังไม่กล้าที่จะกระโดดมาลองเป็นผู้นำในกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก นั่นก็คือ ผู้นำทางด้าน soft power อย่างด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน นี่คือประเด็นแรกที่ทำให้ไทยไม่กล้าลองกับสิ่งใหม่ๆ

แต่โทษใครไม่ได้ครับ นอกจากการเมือง เพราะถูกนำโดยระบบรัฐราชการมาอย่างยาวนาน ทำให้ขาดภาวะการกล้าเสี่ยงเพื่อการพัฒนาในเวทีระหว่างประเทศ

คำถามจากทุกท่านต่อมา คือ แล้วหากไทยลองเป็นผู้นำด้าน soft power ที่บอกไปแล้ว มันจะเกี่ยวอะไรกับเอเปค? เอเปคมันเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนะ มันไม่ใช่เวทีมานั่งคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ??

ผมตอบได้เลยครับว่านี่แหละที่ทำให้ “ไทยเรามองไม่เห็น” !! เริ่มต้นเลยว่าเอเปคจัดตั้งมาทำไม ขออ้างอิงถึงเป้าหมายการจัดตั้งเอเปคจากข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศนะครับ

“เป้าหมายหลักคือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค”

มิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่นๆ เพื่อนำไปสู่ความเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่นคงของประชาชนในภูมิภาค หากอ่านตามตัวเจตจำนงการจัดตั้งจะเห็นได้ว่า นี่คือความหมายและนิยามของ เรื่อง “ความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security)” ที่ทาง soft power อย่างด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมได้ให้น้ำหนักอย่างมาก

เอเปคถูกจัดตั้งมาก่อนการกำเนิดความสำคัญของคำว่า ความมั่นคงของมนุษย์เพียงไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ แต่ได้วางรากฐานของกระบวนการที่นำประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้เป็นเป้าหมายการจัดตั้งกรอบความร่วมมือนี้ ที่อยากเห็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่นคงของประชาชน

ความสำคัญของ “ความมั่นคงของมนุษย์” คือจุดเชื่อมระหว่างเรื่อง 3 เรื่องที่สำคัญ คือ 1) การพัฒนา 2) สันติภาพและความมั่นคงทางกายภาพ และ 3) สิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ดั่งมีคำกล่าวในสมัชชาสหประชาชาติที่ว่า “จะไม่มีการพัฒนาใดๆ เกิดขึ้นโดยปราศจากความมั่นคง และจะไม่มีความมั่นคงเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการพัฒนา และสิ่งทั้งสองนี้ (การพัฒนาและความมั่นคง) ต้องขึ้นอยู่กับการให้ความเคารพสิทธิมนุษยชนและกฎเกณฑ์ความยุติธรรมต่างๆ”

แล้วไงต่อ?? มันเกี่ยวอะไรกับไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้?? แล้วไทยจะได้อะไรจากความมั่นคงของมนุษย์ จากการเป็นผู้นำเอเปคในปี 2565??

อันแรก หากไทยยอมก้าวกระโดดออกจากจุด comfort zone ในเรื่องจุดยืนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และลองที่จะกล้าเป็นผู้นำทางด้าน soft power ต่างๆ นะ ไทยจะรู้จักเรื่อง “ความมั่นคงของมนุษย์” มากขึ้น ไทยจะรู้ว่ามันมีความคิดที่แบ่งแยกองค์ประกอบด้านความมั่นคงของมนุษย์ออกเป็นหลากหลายกลุ่ม

หากไทยรู้อย่างนี้จะเล่นเป็น คือ เราตั้งประเด็นเรื่อง “ความมั่นคงของมนุษย์” เป็นประเด็นหลัก และแตกเรื่องที่อยากเน้นของการเป็นผู้นำครั้งนี้ให้แตกฉาน และนำแต่ละเรื่องมาทำให้สอดรับกันให้อยู่ในประเด็นหลักด้านความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะนำโลกนี้สู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่นคงของประชาชนในภูมิภาค

พอผมดูประเด็นที่มุ่งเน้นของเอเปคครั้งนี้แล้ว ทั้งเรื่อง “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และ โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นแนวคิดหลัก รวมทั้งประเด็นลูกต่างๆ ที่จะกล่าวถึง อาทิ ป่าไม้ เกษตร ท่องเที่ยว สตรี การลงทุน ฯลฯ บอกตามตรงครับ กว้างเกิน ต่อกันติดยาก มันเหมือนต้องแยกสมองแล้วมานั่งต่อจิ๊กซอว์ เราชอบลืมว่าเราเป็นประเทศเล็ก ไม่สามารถพูดเรื่องใหญ่ๆ ที่ทำให้มหาอำนาจมาตามไทยได้หรอกครับ หากเรายังเล่นเกมส์ตามเค้า

“ต้องแสดงความเป็นผู้นำที่เราสามารถทำได้โดยเฉพาะประเด็นที่ทุกคนมีความเสมอภาคกัน คือเรื่องสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ที่รวมถึง ความมั่นคงของมนุษย์ และต้องลึกและคม อย่าทำให้ไทยต้องเป็นลูกไล่ระหว่างประเทศต่ออีกเลยครับ เปลี่ยนเถอะ” นายกัณวีร์ฯ กล่าว