ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกขึ้นเป็นปีที่ 2 ในชื่องาน “Thailand Halal Assembly 2015” เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมและนวัตกรรมฮาลาลเพื่อเศรษฐกิจฮาลาล พร้อมทั้งศักยภาพของกิจการฮาลาลประเทศไทย ให้ประชาคมโลกได้รับรู้
“หลังจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงจากการจัดงาน “Thailand Halal Assembly” เมื่อปีก่อน ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย จึงร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ ขึ้นอีกครั้งเป็นที่ 2 ในชื่องาน “Thailand Halal Assembly 2015” เพื่อแสดงถึงวัฒนธรรมและนวัตกรรมฮาลาลเพื่อเศรษฐกิจฮาลาล พร้อมทั้งศักยภาพของกิจการฮาลาลประเทศไทย ให้ประชาคมโลกได้รับรู้” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานการจัดงาน “Thailand Halal Assembly 2015” กล่าวในแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2558 ณ ณ มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ เขตราชเทวี (บ้านครัว)
“การประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “Thailand Halal Assembly 2015” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 ธันวาคม 2558 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นงานด้านกิจการฮาลาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย” ดร.วินัย กล่าวและว่า
“ปัจจุบันตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ขณะที่ประเทศไทยส่งออกหากเทียบสัดส่วนแล้วไม่ถึง 0.5 % นั่นหมายความว่าเรายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และเมื่อพิจารณาจากตลาดอาหารฮาลาลโลก แม้ตลาดมุสลิมจะมีประมาณ 20% ของตลาดโลก แต่นับจากนี้ไปตลาดฮาลาลจะขยายไปในตลาดที่มิใช่มุสลิมมากขึ้น โดยกล่าวกันว่าอาจขยายไปถึง 89% ของตลาดอาหารโลก หรือครอบคลุมถึงประชากร 6,400 ล้านคนจากประชากรทั้งโลก 7,200 ล้านคน ไม่ใช่จำกัดเฉพาะตลาดมุสลิม 1,800 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าตลาดอาหารฮาลาลในอนาคตจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
ดร.วินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลมูลค่ากว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐไปยังประเทศสมาชิกโอไอซี อย่างไรก็ตามในจำนวนนี้มีไม่ถึง 10% ที่เป็นสินค้าส่งออกที่ผ่านการรับรองฮาลาล เราจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการส่งออกมาขอรับรองฮาลาล ซึ่งนั่นคือเป้าหมายหนึ่งที่จะทำให้ฮาลาลไทยเป็นที่หนึ่งในโลกตามที่หวัง เพราะฮาลาลตามหลักการในศาสนาอิสลามมิใช่เป็นของเฉพาะมุสลิม ซึ่งวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า ฮาลาลเป็นของทุกคน จึงสรุปได้ว่า “ฮาลาล” คือเส้นทางใหม่ของธุรกิจ คนในอนาคตจะเลือกบริโภคอาหารที่ดี และปลอดภัย ฮาลาลมีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับตลาดในอนาคต เหตุนี้จึงจำเป็นต้องยกระดับอาหารฮาลาลเพื่อป้อนให้คนทั้งโลกได้บริโภคต่อไป””
การประชุมวิชาการและการแสดงสินค้านานาชาติ “Thailand Halal Assembly 2015” ปีนี้ประกอบด้วยนิทรรศการดิจิตอลวิทยาศาสตร์ฮาลาล, การจับคู่เจรจาทางธุรกิจฮาลาล รูปแบบใหม่, การประชุมองค์กรรับรองฮาลาลนานาชาติ, งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมและธุรกิจ ครั้งที่ 8 (HASIB 8th), การเสวนาในหัวข้อต่างๆ และงานแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 200 บูท
โดยไฮไลท์พิเศษ คือ การเปิดตัวฐานข้อมูลวัตถุดิบฮาลาลใช้ชื่อว่า H4E หรือ Halal Number for E Number เป็นการเพิ่มฐานข้อมูล Halal number เพื่อเป็นช่องทางในการตัดสินใจของผู้ประกอบการที่ต้องการวัตถุดิบฮาลาล โดยปกติในอุตสาหกรรมทั่วไป ส่วนใหญ่จะรู้จัก E number แต่ในกรณีของผลิตภัณฑ์ฮาลาล จะเอา E Number มาใช้โดยตรงไม่ได้ เพราะบางตัวไม่ฮาลาล ต้องปรับปรุงข้อมูลขึ้นใหม่ เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ดังนั้นจะต้องหาฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมฮาลาล โดยเรียกว่า H number หรือ H for E ก็คือ จะต้องเอา H เข้ามาทดแทน E ให้ได้ทั้งหมด
ดร.วินัย กล่าววว่า “โครงการนี้ เป็นโครงการใหญ่ที่ได้ทำการวิเคราะห์มาตลอดระยะเวลา 10 ปี ซึ่งทางโครงการได้วิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มาแล้วกว่า 8,000 ผลิตภัณฑ์ มีโรงงานเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 554 โรงงาน มีคนงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ 150,000 คน เป็นโครงการขนาดใหญ่ ประเทศอื่นยังขาดศักยภาพที่จะทำได้ หากประเทศไทยต้องการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล นี่คือบทบาทสำคัญที่เราต้องนำเสนอ”
“และอีกประโยชน์หนึ่งที่คาดว่าจะได้จากการจัดงานครั้งนี้ และคิดว่าน่าจะเป็นความภาคภูมิใจร่วมกันของมุสลิม คือที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของมุสลิมและอิสลามถูกเบี่ยงเบนทางการเมืองจากคนบางกลุ่มกระทั่งกลับกลายเป็นว่าอิสลามและมุสลิมมีปัญหา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเรื่องฮาลาล กลับพบว่าทุกฝ่ายมองฮาลาลในด้านบวก ฮาลาล จึงน่าจะเป็นทางออกของสังคมไทย เป็นแหล่งรายได้สำคัญทางเศรษฐกิจทั้งเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยว อีกทั้งเชื่อว่าฮาลาลจะกลายเป็นทางออกของอีกหลายเรื่องที่กำลังเป็นปัญหา เป็นภาพบวกของสังคมมุสลิม ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันประคับประคองงานด้านฮาลาล ให้มีความเป็นวิชาการที่จับต้องได้มากขึ้น นำเรื่องศาสนาเป็นตัวนำ เอาวิทยาศาสตร์เข้าไปสนับสนุน นี่คือเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของเรา การนำวิทยาศาสตร์ฮาลาลเข้าไปสนับสนุนเพื่อทำให้ฮาลาลเดินอย่างองอาจ ถูกทิศถูกทางมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงมั่นใจว่าระบบงาน H Number จะชูศักดิ์ศรีของมุสลิมไทยในเวทีฮาลาลโลก รศ.ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย