จากลุ่มน้ำถึงยอดดอย “แม่แจ่มโมเดล” ร่วมผสานวัฒนธรรม-ฟื้นฟูท้องถิ่น

ภาพ อภิรดี จูฑะศร

นานนับร้อยปีมาแล้วที่คนพื้นถิ่นในเขตอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ สืบเชื้อสายชาติพันธุ์มาหลายสาย ก่อนที่จะมาสู่ความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างทุกวันนี้ อำเภอแม่แจ่มตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดเชียงใหม่ มีหมู่บ้านอยู่ตามที่ราบและกระจัดกระจายอยู่ตามหุบเขาใหญ่น้อยที่ล้อมรอบเรียงรายอยู่ หากมองจากที่สูงลงมาจะดูเหมือนแอ่งกระทะ มีลำน้ำไหลผ่านคือ ลำน้ำแม่แจ่ม

12398788_10207477144502093_152609232_o
ภาพ อภิรดี จูฑะศร

แม่แจ่ม หรือชื่อเรียกในอดีตกาลว่า “เมืองแจ๋ม” เต็มไปด้วยความหลากหลายของชนเผ่าและชาติพันธุ์ ก่อนจะเหลือชาติพันธุ์หลักในปัจจุบันคือ ไทยพุทธ คริสต์ ม้ง ปกากะญอ ไทยใหญ่ และชาวล้านนาดั้งเดิม ซึ่งในอดีตเดิมเป็นที่อาศัยของชนชาติลัวะ (ละว้า) ซึ่งครอบครองดินแดนแถบนี้ และมีทั้งชนชาติขอม มอญ ไทยวน ยูนนาน รวมตั้งรกรากอยู่ด้วย ก่อนที่จะย้ายถิ่นฐานไป

พื้นที่กว้างใหญ่อันมีทั้งที่ราบและเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี มีลำน้ำแม่แจ่มหล่อเลี้ยงแตกสายเป็นแม่น้ำลำห้วยลำธารโยงใยออกไปหล่อเลี้ยง 7 ตำบลของแม่แจ่ม (ช่างเคิ่ง ท่าผา บ้านทับ แม่ศึก แม่นาจร ปางหินฝน และ กองแขก) ล้วนมีสายสัมพันธ์เสมือนพี่น้อง ที่นี่ยังมีเรื่องราวเล่าขานมากมายเป็นตำนาน หรือแม้แต่โบราณสถานเก่าแก่ที่ปัจจุบันรกร้างเหลือเพียงซากปรักหักพัง รอการพลิกฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

10555252_10207477142862052_407303028_n
ภาพ อภิรดี จูฑะศร

เช่นเรื่องราวล่าสุดที่ ตำบลช่างเคิ่ง ในอำเภอแม่แจ่ม มีการค้นพบวัดร้างบนเชิงเขา ซึ่งเต็มไปด้วยป่ารกทึบที่มีเศษซากปรักหักพังทิ้งร่องรอยของวัดโบราณที่ชื่อว่า “วัดเหล่าป่าตาล” วัดโบราณอายุกว่าพันปีที่ถูกทิ้งร้างจนปกคลุมไปด้วยป่าทึบและเรื่องราวเล่าขานมากมายที่สร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงจนกระทั่งไม่มีใครกล้าเฉียดกรายเข้าไปใกล้บริเวณวัดร้างแห่งนั้น ป่าที่ปกคลุมวัดร้างแห่งนี้เองได้เก็บงำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ซึ่งทิ้งร่องรอยไว้บนซากปรักหักพัง ที่ผู้คนไม่อาจรู้เลยว่าก้อนอิฐเหล่านั้นมีคุณค่าในทางโบราณคดีมากเพียงใด

12399213_10207477141702023_1780992196_n
ภาพ อภิรดี จูฑะศร

วันนี้ชาวบ้านและชาวเขาในตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หันกลับมาสนใจที่แห่งนี้อีกครั้ง เมื่อทางอำเภอแม่แจ่ม และเจ้าอาวาสวัดในแม่แจ่มได้นิมนต์ “พระอาจาย์บดินทร์ สีลสังวโร” พระป่านักพัฒนาแห่งพุทธอุทยานแม่กลางหลวงปาเกอญาราม ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง ซึ่งเป็นที่นับถือศรัทธาของชาวแม่กลางหลวงและแม่แจ่ม ทั้งชนเผ่าปกากะญอ เผ่าม้ง ชาวไทยพุทธ หรือแม้คนต่างศาสนิกอย่างชาวบ้านที่นับถือคริสต์ ไปจนถึงชาวมุสลิมในเชียงใหม่ ก็ให้ความเคารพนับถือพระป่าสายหลวงปู่มั่นรูปนี้ ทางแม่แจ่มจึงขอให้พระอาจารย์บดินทร์เข้าไปช่วยปรับสภาพพื้นที่วัดร้างให้แปรเปลี่ยนจากความกลัวไปสู่การเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนที่นั่น เหมือนเช่นที่ทำให้พุทธอุทยานแม่กลางหลวงกลายเป็นศูนย์รวมของชาวบ้านมาแล้ว
ต่อมาพระอาจารย์บดินทร์ หรือ “พระอาจารย์เบิ้ม” ก็ได้ระดมลูกศิษย์เข้าไปช่วยกันถากถางบริเวณป่ารกรอบๆ บริเวณวัดเหล่าป่าตาลจนโล่งตาเผยให้เห็นร่องรอยธรรมสถานในอดีตกาลที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ โดยความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร และตำรวจในพื้นที่ พร้อมกับชักชวนชาวบ้านให้มาช่วยกันบูรณะพื้นที่รกร้างแห่งนี้ ซึ่งต่อไปกรมศิลปากรก็น่าจะเป็นอีกหน่วยงานที่เข้ามาดูแลในเรื่องของการสำรวจและฟื้นฟูในฐานะโบราณสถานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

12369712_10207477148542194_1511325788_o
ภาพ อภิรดี จูฑะศร

และในวันที่ 23 ธันวาคม นี้ ทางอำเภอแม่แจ่ม ร่วมกับพุทธอุทยานแม่กลางหลวงโดย พระอาจารย์บดินทร์ สีลสังวโร และอีกหลายหน่วยงานในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ได้ร่วมกันจัดงานวัฒนธรรมขึ้นในชื่องานว่า “อินทนนท์ร่วมกันสื่อสัมพันธ์สองอำเภอ” อันหมายถึงอำเภอแม่แจ่มและอำเภอจอมทอง โดยจะมีการบวชพระกลางลำน้ำแม่แจ่ม มีกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านและชาติพันธุ์ต่างๆ ในแม่แจ่มและจอมทอง โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่ 09:00 น.พิธีสำคัญของงานนี้คือ “บวชพระกลางน้ำ” ซึ่งจะเริ่มเวลา 09:09 อันเป็นงานวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่นที่หาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน รวมถึงการแสดงของชนเผ่า การแสดงพื้นเมืองของเยาวชนในอำเภอแม่แจ่ม และการทอผ้าพื้นเมืองของชาวปกากะญอ

12387891_10207477142502043_1647664014_n
ภาพ อภิรดี จูฑะศร

งานนี้จึงเป็นการหลอมรวมผู้คนจากลุ่มน้ำถึงยอดดอย ไปจนถึงชาวพื้นราบให้มาร่วมมือร่วมใจกันสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่ต่างก็มีรากเหง้าของตนให้อยู่กันอย่างสันติสุขไปพร้อมๆ กับการพัฒนาอย่างสมดุล และการดำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ท้องถิ่น กับสิ่งที่ทรงคุณค่าที่มีอยู่ในท้องถิ่นนี้ให้คงอยู่ต่อไป

นี่จึงกลายเป็น “แม่แจ่มโมเดล” อันเป็นตัวอย่างความเข้มแข็งในสังคมชนบทที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คน แต่ก็สามารถพึ่งพาอาศัยกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สามารถสร้างกิจกรรม และพัฒนาความเจริญไปด้วยกันได้อย่างราบรื่นน่าชื่นชม และน่าแวะไปเยือนอย่างยิ่ง….โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลนี้ ที่นั่นมีหลายสิ่งที่งดงามนอกเหนือจากวิถีชีวิตของผู้คนแล้ว สายหมอกและดอกไม้ที่แข่งกันอวดสีสัน พืชพรรณแปลกๆ ไร่นา และสายน้ำแม่แจ่มยินดีต้อนรับผู้มาเยือนทุกคนเสมอ