พรรคประชาชาติหนุน “ก้าวไกล” ตั้งรัฐบาล “ทวี” ลั่นฝ่าด่าน ส.ว. ขอชูนโยบายดับไฟใต้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ร่วมพูดคุยในรายการ “มองรัฐสภา” ในประเด็น “ทิศทางการเมืองหลังก้าวไกลประกาศจัดตั้งรัฐบาล 309 เสียง” ในฐานะที่พรรคประชาชาติเป็นหนึ่งในพรรคที่พรรคก้าวไกลส่งเทียบเชิญเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

ความรู้สึกส่วนตัวของผลการเลือกตั้งครั้งนี้กับสิ่งที่พรรคคาดหวังไว้ หรือผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างไร?

ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ได้เลือกพรรคประชาชาติ และขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่านที่ผดุงระบบประชาธิปไตยไว้

ในส่วนของพรรคประชาชาติ ความจริงเราส่งผู้สมัครแค่ 19 เขต เราถูกตัดสิทธิ์ไป 4 เขต ก็เหลือ 15 เขต และในสามจังหวัดซึ่งเราหวังไว้ประมาณนี้ จะมากกว่านี้หน่อย เนื่องจากว่าเราได้รับการตอบรับดี แต่การเลือกตั้งก็ไม่มีใครได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ขอขอบคุณ ซึ่งในคราวหน้าเราก็คงจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากกว่านี้

แต่โดยรวมๆ ก็ถือว่าเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่มีพัฒนาที่ดีขึ้นจากการเลือกตั้งคราวที่แล้วที่ได้ ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อรวม 7 คน แต่คราวนี้เราได้ 9 คนก็ถือว่าพัฒนาไป โดยเฉพาะถ้าภาพรวมของประชาชนทั้งประเทศ ถ้าคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ เราก็ถือว่าอยู่ในประมาณรองจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคการเมืองใหญ่ๆ บางพรรคถ้าไปได้ปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้แค่คนเดียวบ้าง เราก็ถือว่าเป็นพรรคที่ต้องขอบคุณประชาชนทั้งประเทศที่ได้เลือกพรรคเข้ามา

คิดว่าอะไรที่ตอบโจทย์พี่น้องประชาชนให้คะแนนตัดสินใจเลือกพรรคประชาชาติในจำนวนเสียงที่มากขึ้น ทำให้ได้จำนวน ส.ส.มากขึ้นด้วย?

สิ่งหนึ่งผมคิดว่าประกอบด้วยตัวบุคคล แล้วก็เชิงนโยบายเป้าประสงค์ เพราะพรรคประชาชาติเรายึดหลักการสำคัญอย่างยิ่งก็คือปัญหาที่เป็นรากเหง้าของสังคมไทย คือปัญหาสังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย มีเพียงรัฐธรรมนูญแต่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย

ประการต่อมาก็คือพรรคพยายามจะเสนอนโยบายที่จะแก้ปัญหาที่เป็นปัญหารากเหง้าของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเรื่องอำนาจของประชาชนยังไม่มี เราก็พยายามจะสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตย คืนสิทธิ คืนอำนาจ คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความยุติธรรมให้ประชาชน

สิ่งหนึ่งก็คือต้องมีนโยบายที่จะทำลักษณะอย่างนี้ได้ก็คือ พยายามจะผลักดันให้ประเทศเป็นรัฐสวัสดิการให้มากขึ้น สร้างความผาสุกและความมั่นคงให้กับประชาชน ต้องพยายามให้คำนิยามความมั่นคงของรัฐกับความผาสุกของราษฎรต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าจะเลือกก็ต้องเอาความมั่นคงของราษฎรหรือประชาชนสำคัญกว่าความมั่นคงของรัฐ ซึ่งในที่นี้คือตัวข้าราชการ รัฐรวมศูนย์

และสำคัญอีกอันหนึ่งคือ รัฐต้องการจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรื้อรังมายาวนาน ในรอบสุดท้ายนี้ก็ 20 ปี ถ้าก่อนหน้านี้ก็นับเป็นร้อยปี เราอยากจะแก้และสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้น นี่คือเป้าประสงค์ และก็อาจจะทำให้พรรคทำงานเชิงเป็นพรรคที่เรียกว่าเคารพในความคิดที่แตกต่างหลากหลาย หรือความแตกต่างหลากหลายเป็นปรากฏการณ์ของสังคมพหุวัฒนธรรม ดังนั้นพรรคจึงเป็นพรรคเชิงพหุวัฒนธรรม

เรื่องที่คุณพิธาโทรศัพท์มาประสานกับทางท่านทวี หรือโทรมาที่ท่านวันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค)?

ผมเข้าใจว่ามีส่วนหนึ่งคงคุยกับท่านอาจารย์วันนอร์ เพราะท่านได้มอบหมายให้ผมได้มีคณะทำงาน ก็อยากให้เป็นหนึ่งในคณะทำงานพรรค เพราะว่าได้ร่วมทำนโยบายกัน และอันที่ 2 ทางพรรคก้าวไกลเราก็ได้ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่มาตลอด 4 ปี ในการทำหน้าที่ในบทบาทของนิติบัญญัติในการตรวจสอบรัฐบาล รวมทั้งการอภิปรายการตั้งคำถามต่างๆ รวมทั้งการไม่ไว้วางใจก็จะมีความใกล้ชิด แล้วก็ได้โทรแสดงความยินดีกับคนในพรรคหลายคน โดยเฉพาะท่านเลขาธิการพรรค คุณชัยธวัช (ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล) ซึ่งคุณชัยธวัชได้สื่อสารตามที่ท่านพิธา หัวหน้าพรรคได้พูดไว้เมื่อตอนแถลง

นี่คือภาพรวมๆ แต่การติดต่อตรงที่นัดหมายวันเวลาหรืออะไร กับผมยังไม่ได้โทร แต่ท่านอาจารย์วันนอร์ท่านโทรมาบอกว่า จะมอบหมายให้ผมเป็นตัวแทนของพรรคถ้าเกิดมีการตั้งคณะทำงานขึ้น ในภาพรวมก็เป็นอย่างนี้

รายละเอียดการจัดตั้งรัฐบาลเราต้องคุยต่อหน้าและอาจจะต้องคุยรายละเอียดมากกว่านี้ ในขณะนี้ที่คุณพิธาโทรมาแค่ประสานเบื้องต้นอย่างไร?

กับผมยังไม่ได้พูดกับท่านหัวหน้าพรรค (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์​ หัวหน้าพรรคก้าวไกล) แต่ได้คุยกับทางเลขาฯ พรรค (ชัยธวัช) แต่ผมคิดว่าก็มีการสื่อสารว่าจะนัดหมายกัน แล้วก็ต้องเรียนอยากจะให้สังคมเข้าใจว่า การจัดตั้งกระบวนการทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น ขณะนี้ทาง กกต.เขามีเวลา 2 เดือนว่าจะรับรองสมาชิก คือในช่วง 2 เดือน ถือว่าเป็นเวลาที่ยาวที่สุด

แล้วก็อีกประการหนึ่งหลังจากที่ทาง กกต.รับรองแล้ว ภายใน 5 วันอาจจะต้องจัดให้มีการประชุมสภา พอมีการประชุมสภา ใน 5 วันเราก็ต้องมีการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่ามีฐานะเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าเทียบเท่าฝ่ายบริหารก็คือนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อเรามีประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็จะทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภาด้วย ซึ่งกระบวนการอันหนึ่งในรัฐธรรมนูญเพิ่งมาเขียนในช่วงปี 40 ปี 50 แล้วก็ปี 60 เขาบอกว่าให้ประธานรัฐสภาวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช่เป็นประธานของคนใดคนหนึ่ง

ดังนั้นกระบวนการที่จะมีนายกรัฐมนตรีได้จะต้องมีประธานรัฐสภาก่อน หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตรงนี้ก็อยากจะกราบเรียนเท่านั้น กระบวนการก็คือ 1 เวลา 2 สถานการณ์ก็ยังเหลืออีกประมาณ 2 เดือน ไม่รู้ว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นลดลง และ กกต.จะมีปรากฏการณ์อย่างไรบ้าง สถานการณ์แล้วก็โอกาส เราก็ต้องให้พรรคการเมืองเสียงข้างมากที่สุดเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล อย่างพรรคประชาชาติเรามี 9 คน ไม่ใช่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล บางที่ผมจะแสดงความเห็นอะไรมากไปสังคมจะสงสัยว่า พรรคคุณมีแค่นี้แล้วคุณจะไปเรียกร้องอะไร อยากให้เข้าใจตรงนี้ก่อน

จุดยืนของพรรคประชาชาติในการที่จะร่วมรัฐบาลคืออะไร?

ต้องยอมรับว่า พรรคประชาชาติเราเคารพในความแตกต่างและเคารพในกระบวนการประชาธิปไตย แต่สิ่งหนึ่งที่เรามุ่งอย่างยิ่งคือ เมื่อเราเคารพในกระบวนการประชาธิปไตยแล้ว เราต้องขจัดความไม่เป็นธรรมหรือการครอบงำต่างๆ ไม่อย่างนั้นพรรคประชาชาติไม่ยืนเป็นพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งแรกที่ผ่านมา อันนี้เราก็แสดงจุดยืนว่า พรรคที่ไปเป็นรัฐบาลครั้งที่แล้ว มี ส.ส.ในภาคใต้ ทั้งหมดมีหลายพรรค มีพรรคประชาชาติพรรคเดียวที่เราเป็นพรรคฝ่ายค้าน เพราะเราก็ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย

ครั้งนี้ จุดยืนของพรรคประชาชาติ อย่างที่เรียนไว้ว่า เราเคารพในประชาชน วันนี้ประชาชนได้เลือกพรรคก้าวไกล เป็นอันดับ 1 เราก็เคารพว่าพรรคก้าวไกลควรจะต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

แต่ก็ยังมีอุปสรรคข้างหน้าก็คือ ส.ว. เพราะว่าถ้ารวมในฝ่ายประชาธิปไตย ชัดเจนถ้าพรรคการเมืองเก่า ก็ประมาณ 300 เศษนิดหน่อย เพราะพรรคของคุณหญิงสุดารัตน์ ในสมัยที่แล้ว ท่านยังไม่ได้ตั้งพรรค คราวนี้ใน 300 ถ้ารัฐธรรมนูญเกิน 5 ปีไปแล้ว ถ้า ส.ว.เกิน 5 ปี ไม่มีปัญหา คือจำนวนพอเพียงสำหรับการเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ครั้งนี้มันมี 2 ช็อต ก็คือ ช็อตที่จะเป็นนายกฯ เราต้องไปพึ่งคะแนนเสียงทำอย่างไรที่จะได้ในการประชุมรัฐสภา ต้องให้ได้ 376 เสียง ก็หนีไม่พ้นต้องไปพึ่งพรรคการเมืองอื่น ถ้าจะทำอย่างนี้

อีกอย่างคือต้องไปพึ่ง ส.ว. ต้องยอมรับว่า ส.ว. ส่วนใหญ่นั้น ท่านจะไปในทิศทางเดียวกัน ผมเรียนว่า ถ้าในการเลือกไม่เป็นกลาง เพราะเป็นกลาง 100 เปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้ มันต้องมีความคิดที่แตกต่าง การเลือกนายกฯ เราก็มีประสบการณ์มาแล้วว่า ส.ว.ไปเลือกนายกฯคนเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะประธานสภาหรือประธานวุฒิสภาไม่ลงเสียง ถ้าลงเสียงได้ ก็ถือว่า 100 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ถือคือจริง ๆแล้วมันเป็นผลประโยชน์ขัดกัน แต่เนื่องจากว่ามันผ่านไปแล้ว เราก็ทำอะไรไม่ได้

แต่ในครั้งนี้ก็เหมือนกัน ขั้นตอนของการเลือกนายกฯ ก็เป็นขั้นตอนหนึ่ง ก็ให้กำลังใจพรรคก้าวไกลนะครับที่คิดว่าท่านเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ท่านคงจะฟันฝ่าอุปสรรคอันนี้ได้ ส่วนพรรคประชาชาติยินดีจะเป็นคณะทำงาน คือเราอยากเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น วันนี้ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง

พรรคประชาชาติคิดว่ามีเงื่อนไขของนโยบายอะไรไหมที่จะต้องบอกว่า พรรคก้าวไกลถ้าจะร่วมกับพรรคประชาชาติต้องเอานโยบายของพรรคประชาชาติเรื่องนี้ และอีกด้านหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องมีพรรคอื่นเข้ามาด้วย มีเงื่อนไขไหมว่าพรรคอื่นที่มีนโยบายเงื่อนไขที่แตกต่างและไม่สอดคล้องกันกับพรรคประชาชาติ จะทำให้เงื่อนไขในการจับมือมันเกิดเงื่อนไขที่จะต้องตกลงอะไรเพิ่มเติมขึ้นหรือไม่ในประเด็นนี้?

คือในเรื่องนโยบายสำคัญ แต่พรรคประชาชาติเราไม่ได้มีเงื่อนไขเชิงนโยบาย เพราะเรายังไม่ได้ไปดูนโยบายพรรคอื่น แต่พรรคประชาชาติถ้าร่วมเราก็จะข้อเสนอนโยบาย อย่างเช่นนโยบายแรกเราต้องสร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตย คืนสิทธิ คืนอำนาจ คืนศักดิ์ศรีให้กับประชาชน เราหนีไม่พ้นคงจะต้องมามีประชามติ ซึ่งหลายพรรคการเมืองก็พูดว่ารัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในฉบับปัจจุบัน คงต้องถามประชาชนว่า ะทำประชามติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวทาง ถ้าประชาชนเห็นว่า ควรมีจัดทำรัฐธรรมนูญ ทางพรรคประชาชาติก็พูดมาโดยตลอด

สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการทำประชามติรัฐธรรมนูญคราวที่แล้ว เราไม่รับรัฐธรรมนูญ เราก็คงจะให้มีตัวแทนเจ้าของอำนาจไปร่างรัฐธรรมนูญ ก็คือมีการเลือกตั้งคนมาร่างรัฐธรรมนูญ เรียกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะนี้ไปร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นมา จะทำให้รัฐธรรมนูญ กติกาของประเทศเป็นที่ยอมรับเป็นที่หวงแหนของประชาชน ไม่เช่นนั้นก็จะมีคนฉีกรัฐธรรมนูญมา ร่างรัฐธรรมนูญคนจะไม่ยอมรับ

ประการที่สอง เราเห็นว่าบ้านเมืองเรามีฐานะความเหลื่อมล้ำมาก ประชาชนยากจนในหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลใช้วิธีกู้เงินเป็นหลักในการบริหารประเทศ แล้วก็ยังไม่มองประชาชนแบบสิทธิเสมอกันถ้วนหน้า ก็จะพยายามขอร้องพรรคการเมืองต่างๆ เราควรจะผลักดันประเทศในหลายๆ มิติ ตั้งแต่เกิดจนถึงหลุมฝังศพหรือเชิงตะกอนหรือกุโบร์พี่น้องมุสลิม ทำประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าตามช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ

ประการที่ 3 ที่เรื่องสำคัญคือเราต้องมาสร้างความผาสุกและสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน ความมั่นคงของรัฐกับความผาสุกของประชาชนต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าความมั่นคงของรัฐ แต่ประชาชนยังยากจน อันนี้คือเราต้องทลายความคิดที่จะต้องรวมศูนย์อำนาจ ความคิดที่ข้าราชการเป็นใหญ่ ความคิดที่ใช้ความมั่นคงอยู่เหนือการศึกษา อยู่เหนือความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปที่ดิน วันนี้เราต้องยอมรับว่า คนมีที่ดินเกินพันไร่ มีแค่ 103 คน และ 30 คนมีที่ดินเกือบ 3 ล้านไร่ มันเป็นการกระจุกตัว การจัดสรรทรัพยากรยิ่งแย่ขึ้น พอยิ่งพัฒนาเราหนีไม่พ้นต้องเอาทรัพยากรมาพัฒนา คนรวยก็รวยไม่หยุด แล้วประการสำคัญผมยังคิดว่า ระบบการผูกขาดการให้สัมปทาน แล้วผลักภาระไปให้ประชาชนจะต้องมีการแก้ไข

แล้วประการสุดท้าย พรรคประชาชาติมีจุดเด่นคือเราต้องการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน สร้างความสันติสุข เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนทั้งประเทศต้องมารับผิดชอบด้วย เพราะจะต้องนำภาษีของคนทุกคนมาแก้ปัญหา หลายปี โดยเฉพาะในช่วงสุดท้าย 19 ปี วันที่ 4 ม.ค.2547 เราใช้เงินไปประมาณ 5 แสนล้าน ยังไม่รวมถึงงบปกติที่ในภาคอื่นก็ได้

ปัญหาพวกนี้ เรายังไม่เห็นแสงสว่างในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เพราะเรื่องคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมยังเชื่อมั่นว่าให้คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา พรรคประชาชาติก็เป็นหนึ่งที่เป็นตัวแทนของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือนโยบายอย่างนี้ เราขอให้พรรคที่เป็นแกนนำนำไปรวมพิจารณาด้วยครับ