“ทวี” พอใจ “เอ็มโอยู” แก้ปัญหาภาคใต้ครบ แนะทางออกปม “112”

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ

“พ.ต.อ.ทวี” พอใจภาพรวม “เอ็มโอยูว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล” เหตุครอบคลุมทุกเรื่อง โดยเฉพาะการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ เล็งเปลี่ยนภารกิจหน่วยปฏิบัติ โดยเฉพาะ กอ.รมน. เลิกระบบ “ทวิรัฐ” เปลี่ยนให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นความมั่นคงของรัฐกับความผาสุกของประชาชนต้องเป็นเรื่องเดียวกัน ขณะที่สมรสเท่าเทียมไม่บังคับ ไม่ขัดแย้งศาสนา แนะทางออกแก้ 112 ป้องกันการใส่ร้าย หากผู้ถูกร้องไม่ผิด ผู้ร้องต้องรับโทษ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “มอร์นิ่งเนชั่น” ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 เมื่อวันอังคารที่ 23 พ.ค.66 ถึงภาพรวมความพึงพอใจ 23 ข้อของเอ็มโอยู ว่า ใน 23 ข้อเป็นจำนวนมากเป็นส่วนของพรรคประชาชาติที่ได้บอกกับประชาชนเอาไว้ ซึ่งเอ็มโอยูเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ โดยปกตินโยบายสาธารณะเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องทำอะไร แต่สิ่งสำคัญที่เราไม่ค่อยพูดถึงคือ รัฐบาลไม่ควรทำอะไรและรัฐบาลต้องไม่ทำอะไร ก็คือรัฐบาลจะต้องไม่ใช้กฎหมายอยู่เหนือหลักความยุติธรรม อันนี้สำคัญมาก

ทุกวันนี้เราจึงมีกระบวนการข้อหนึ่งคือ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปราชการ ปฏิรูปกองทัพ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะกฎหมายที่ดีถ้าถูกใช้โดยคนไม่สัตย์ซื่อ หรือไม่ธำรงไว้ซึ่งการจะคุ้มครองสิทธิของประชาชน ก็จะทำให้บ้านเมืองไม่ยุติธรรม ความยุติธรรมเป็นเป้าหมายของการรวมตัวเป็นประเทศชาติ ซึ่งในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน เราต้องแยกผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม และต้องใช้ระบบคุณธรรม ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาสิ่งนี้ถูกละเลย

“สิ่งที่สำคัญในเอ็มโอยูจะเป็นเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจ, รายได้, การปฏิรูปที่ดิน ซึ่งวันนี้เรามีปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินมาก จะต้องกล้ามาทำ แล้วก็ที่สำคัญความไม่ยุติธรรมมากที่สุดคือการจัดทำงบประมาณ เราจะต้องมาสร้างประสิทธิภาพ และยังมีอีกหลายๆ เรื่อง ในเรื่องปัญหาเกษตรกรก็เขียนไว้เยอะมากเลย การประมงอะไรต่างๆ แม้แต่เรื่องแรงงาน ระบบสวัสดิการ โดยรวมๆ พรรคประชาชาติก็พอใจในข้อเสนอ โดยเฉพาะเราต้องแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นมายาวนาน ต้องแก้ให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน”

สมรสเท่าเทียมไม่บังคับ ไม่ขัดแย้งศาสนา

พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงประเด็นสมรสเท่าเทียมในเอ็มโอยูว่า เรื่องการยืนยันและการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมไม่ใช่มาตรการบังคับ แล้วทางพรรคแกนนำก็เขียนไว้ว่า โดยจะไม่บังคับกับประชาชนที่มีความขัดแย้งกับหลักการศาสนาที่ตนเองนับถือ อันนี้ไม่ได้ใช้กันทุกคน สิ่งนี้ท่านอาจารย์วันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ) และคณะก็ได้ดู เพราะว่าบริบทหรืออัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่เราก็เขียนอาจจะไม่ใช่ศาสนาอิสลามอย่างเดียว ไม่ใช่มุสลิมอย่างเดียว ศาสนาอื่นก็เหมือนกัน เราพยายามมองเรื่องพหุวัฒนธรรม

เลิกแก้ปัญหาใต้แบบ “ทวิรัฐ” เปลี่ยนให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง

ในประเด็นเรื่องการทบทวนภารกิจของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า พรรคที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลือกมากที่สุด คือพรรคประชาชาติ รองลงมาก็คือพรรคก้าวไกล ดังนั้นเราถือเป็นตัวแทนของประชาชน เราจึงได้บรรจุเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไป มันไม่ใช่ปัญหาของคนภาคใต้อย่างเดียว มันเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาครั้งหลัง 20 ปีใช้เงินไป 5 แสนล้านบาท ยังไม่ได้รวมเงินตามหน่วยงานปกติ ตามฟังก์ชั่น (งบฟังก์ชั่น) แต่สันติภาพยังไม่เกิดขึ้น เราจึงเห็นว่าภารกิจหรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ใช้ความมั่นคงของรัฐอยู่เหนือความยุติธรรมของประชาชน ทุกอย่างต้องมีการทบทวน

“ในช่วงที่พรรคประชาชาติเราหาเสียง เราจะเปลี่ยนภารกิจของ กอ.รมน.จากความมั่นคงของรัฐเป็นความมั่นคงของประชาชน งบที่ไป กอ.รมน.นั้น คน กอ.รมน.มีแค่ 120 กว่าคน แล้วไปเอาข้าราชการมาบรรจุเป็นกำลังพล ใช้เงิน เมื่อก่อนเกือบหมื่นล้าน เดี๋ยวนี้ 7,000 ล้าน แต่ขณะที่ประชาชน 2-3 ล้านคน กลับไม่ได้รับการดูแลคุณภาพชีวิต ปัญหาปากท้อง ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน การศึกษา อันนี้ถือเป็นสันติภาพเบื้องต้น”

“เราจะต้องเปลี่ยนภารกิจบทบาท กอ.รมน. เราอาจจะต้องเปลี่ยนระบบวิธีคิดจากรัฐซ้อนรัฐ เป็นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง จริงๆ มันเป็นเรื่องการบริหารราชการ ไม่ได้ไปแก้กฎหมาย ไม่ได้ไปแก้อะไรเลย คราวที่แล้วนายกฯ มียศนำหน้าเป็นพลเอก แต่ตอนนี้นายกฯเป็นนายแล้ว และเรื่องหลักการการเมืองนำการทหารมันมีมานานแล้ว แต่เพิ่งมาเปลี่ยนหลังยึดอำนาจให้ทหารนำการเมือง”

“ผมมองว่าวันนี้มันจะพัฒนาไปอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง คือต้องใช้ความยุติธรรมและการศึกษานำการทหาร นำการเมืองด้วยซ้ำไป เพราะภาคใต้อยู่ในภาวะของความหวาดระแวง ความไม่เข้าใจ ที่สำคัญในสามจังหวัดไม่ใช่พี่น้องที่เป็นมุสลิมอย่างเดียว เรามีพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธและพี่น้องที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันอย่างมีความปลอดภัยและมีอนาคต”

“สันติภาพกับการแบ่งแยกดินแดนเป็นคนละเรื่องกัน สันติภาพคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ดินแดนเราจะแบ่งแยกไม่ได้อยู่แล้ว มีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ว่าเราต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เรียกว่า ‘พหุวัฒนธรรม’ เมื่อก่อนเราแก้ปัญหาแบบ ‘ทวิรัฐ’ คือคนถือปืนกับคนมีความขัดแย้ง แต่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมเลย วันนี้เราต้องกล้าให้ประชาชนมีส่วนร่วม“

ความมั่นคงของรัฐกับความสุขประชาชนต้องเป็นเรื่องเดียวกัน

“เราต้องมานิยามก่อนว่า ความมั่นคงของรัฐกับความสุขของประชาชนต้องเป็นเรื่องเดียวกัน วันนี้ภารกิจของ กอ.รมน. เหมือนมองแค่ความมั่นคงของรัฐ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส แย่งกันเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุด ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรมากที่สุด ดังนั้นรัฐต้องไปดูแล อย่างเช่น อาชีพประมงถูกทำลายด้วยออกกฎหมายเหมือนห้ามทำการประมง พ.ร.ก.การประมง ลักษณะอย่างนี้ กอ.รมน.ต้องมาดูแลเรื่องพวกนี้ด้วย ไม่ใช่ กอ.รมน.เอางบไปเรื่องการข่าว พอเป็นเรื่องการข่าว เป็นเรื่องหวาดระแวง เป็นเรื่องความมั่นคงหมด ที่ผมพูดไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลนะ แต่เป็นมุมมองของผม”

“ในรายละเอียดเอ็มโอยู เราต้องมาคุยกัน ทุกพรรคการเมืองจะมีคณะทำงานทำนโยบาย ซึ่งทางพรรคประชาชาติได้เตรียมรายละเอียดไว้ทุกข้อ ทั้ง 23 ข้อ และก็มีบางข้อที่ไม่ได้ใส่ไว้ ที่เราเสนอ เรื่องที่ใหญ่ที่สุดคือเรื่องหนี้สินเกษตรกร หนี้สินทางด้านการศึกษา เช่น กยศ. หนี้สินครู หนี้สินข้าราชการ”

“พรรคประชาชาติมีองค์ความรู้ว่า การแก้หนี้สินที่ผ่านมา เช่น เวลาเราส่งเงินไปใช้หนี้ในอดีต คือจะไปใช้ดอกเบี้ยก่อน ไม่ใช้เงินต้น แล้วค่อยมาหักเงินต้นหรือเบี้ยปรับ สิ่งต่างๆ พวกนี้เราอาจจะต้องมาแก้กฎหมายแพ่ง ซึ่งมันแก้ไปแล้ว แต่ว่าหนี้เก่า หรือหนี้ กยศ. หรือหนี้ครู แล้วเราก็ต้องผลักดัน เราจะทำระบบฟื้นฟูบุคคลธรรมดามาใช้ สิ่งต่างๆ พวกนี้ก็คือบางส่วนที่ไม่อยู่ในนี้ อันนี้คือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่อย่างนั้นสถาบันการเงิน หรือแบงก์ ก็รวยอยู่อย่างเดียว”

แนะทางออก 112 หากผู้ถูกร้องไม่ผิด ผู้ร้องต้องรับโทษ

กรณีไม่มีประเด็นแก้ไขมาตรา 112 ในเอ็มโอยู พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หลักการ 23 ข้อไม่มีประเด็นเรื่องนี้ แต่ว่าจะมีอยู่เรื่องหนึ่ง คือเรื่องความยุติธรรม เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย

“ผมเองเคยเป็นอธิบดีดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) เคยอยู่กองปราบ การที่กฎหมายทุกชนิด ไม่ว่ากฎหมายจะดีแค่ไหน จะยุติธรรมแค่ไหน มันก็เป็นเพียงกฎหมาย แต่โดยผู้พิทักษ์กฎหมายหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือผู้พิพากษาที่มีความสัตย์ซื่อ แม้แต่เรื่อง 112 เราน่าจะถึงเวลาแล้วว่า หมวดความผิดเรื่องความมั่นคงตามกฎหมายอาญาเดิมคงไม่ไปแก้ แต่วิฯอาญา (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) หรือการที่จะกำหนดผู้เสียหาย ไม่ใช่ว่านักร้องเรียนก็ไปร้องได้ มันขาดหลักเกณฑ์”

“อันนี้ผมคิดว่าก็มีหลายคนพูดไว้ แต่เรายังไม่ลงรายละเอียด เพราะแนวความคิดเรื่องการไปแก้เนื้อหาวิฯอาญา หรือมี พ.ร.บ.ผู้เสียหายฯ ที่กำหนดขั้นตอนการเป็นผู้เสียหายว่า ผู้ที่จะร้องทุกข์กล่าวโทษ จะต้องมีสถานะเป็นผู้เสียหายอย่างไร แล้วก็มีองค์กรในการดูเรื่องนี้”

“ผมคิดว่าเรื่องนี้ก็มีความสำคัญ ถ้าเราไปเถียงกันเรื่องโทษว่ามากหรือน้อย ในหลักอาชญาวิทยา คือโทษต้องเป็นภยันตรายต่อสังคมแค่ไหน ซึ่งมุมมองภยันตรายต่อสังคมหรือความสุขของประชาชนในแต่ละประเทศมันจะต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งคือเราจะต้องไม่ใช้เรื่องนี้ไปกลั่นแกล้ง หรือไปถึงเรื่องความคิดที่มันใช่-ไม่ใช่ แล้วตอนหลังมันก็ขยายไปทั่ว”

“ในเอ็มโอยูไม่มีเรื่องนี้ ก็ต้องดูว่าพรรคก้าวไกลจะเสนออย่างไร แต่ในพรรคประชาชาติเราเห็นว่า วันนี้มันมีกระบวนการที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีหากคนที่ถูกกล่าวหาไม่ผิด ผู้ที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษอาจจะต้องรับโทษ ไม่ใช่ว่ายืมมือใคร หรือบัตร์สนเท่ห์ใบเดียวก็ไปทำร้ายคนอื่น”