ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่เยี่ยมภรรยาอับดุลลายิบ ที่เสียชีวิตจากการถูกคุมขังในค่ายอิงคยุทธบริหารและภรรยาซัยค์ที่เสียชีวิตในกุโบร์ กูรอสเมาะร้องขอให้กาชาดสากลช่วยเหลือเพื่อความเป็นธรรมพิสูจน์การตายของสามี พร้อมร่วมมือให้รายละเอียดแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านภรรยาซัยค์วิตกลูกสาวเป็นโรคซึมเศร้า เพราะภาพติดตาที่เห็นศพพ่อ
เมื่อเร็วๆ นี้ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่เยี่ยมและให้กำลังใจ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ และแนวทางการช่วยเหลือครอบครัวนายอับดุลลายิบ ดอเลาะ ณ บ้านคอลอตันหยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และครอบครัวอส.ทพ.ซัยค์ เจ๊ะดอมะ เจ้าหน้าที่ทหารพรานสังกัด กรมทหารพรานที่ 43 ปัตตานี ที่เสียชีวิตขณะอ่านอัล-กุรอาน บริเวณกุโบร์บ้านบ่อเจ็ดลูก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ บ้านบ่อเจ็ดลูก ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา
ซันซานี เจ๊ะดอมะ ภรรยาของ อส.ทพ.ซัยค์ เล่าว่า เมื่อมีคนมาบอกว่าสามีเสียชีวิต ลูกสาวคนเดียวอายุ 10 ขวบ ร้องไห้และตามไปที่กุโบร์ ได้ไปเห็นสภาพศพของพ่อและลูกสาวซึ่งสนิทกับพ่อมาก ต่อมามีอาการเป็นไข้และซึมเศร้าอย่างเห็นได้ชัด ส่วนลูกชายคนเล็กได้แต่ถามว่าทำไมพ่อยังไม่กลับมา
ซันซานี บอกว่าต่อไปนี้ต้องหางานทำเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวและรอให้เจ้าหน้าที่สืบสวนหาความจริงในเรื่องราวที่เกิดขึ้น
นางอังคณา กล่าวว่า ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุระเบิดขึ้นในสุสาน (กุโบร์) ของพี่น้องมุสลิม จึงเดินทางลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ซึ่งภรรยาของซัยค์กังวลว่า ลูกสาวคนเดียวซึ่งสนิทกับผู้เป็นพ่อมาก มีอาการซึมเศร้าหลังจากพ่อเสียชีวิต
“ที่ผ่านมาทางอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคใต้ให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ทุกฝ่ายไม่ควรใช้กำลังต่อผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งในสุสานที่มุสลิมจะให้เกียรติกับผู้ที่เสียชีวิตมาก ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ขอฝากไปยังผู้ที่ก่อเหตุว่า อย่างน้อยที่สุด สุสานเป็นที่ที่มุสลิมจะให้เกียรติกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถือว่ากลับไปสู่ความเมตตาของพระเจ้า ไม่สมควรที่จะกระทำเช่นนั้น แรงระเบิดทำให้ศพที่ฝังไปแล้วกระเด็นออกมาด้วย ทำให้เกิดความเศร้าใจกับทางครอบครัวและชุมชน หวังว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ทุกฝ่ายจะต้องตระหนักถึงการที่จะให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน” นางอังคณา กล่าว
จากนั้นนางอังคณาได้เดินทางไปเยี่ยมครอบครัวของนายอับดุลลายิ ดอเลาะ โดยมีนางกูรอสเมาะ ตูแวบือซา ภรรยาของอับดุลลายิบบอกเล่าความรู้สึกหลังจากได้รับทราบผลชันสูตรศพของสามีเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า ผลเป็นไปตามที่คาดไว้ว่า สามีเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับความรู้สึก
“ได้ทราบผลจากการแถลงข่าวและไม่ได้ไปร่วมรับฟังเพราะรับไม่ได้กับผลชันสูตร หมดกำลังใจเพราะเขาไม่ได้ถามความเป็นไปหรือความเห็นของเรา อยากขอให้กาชาดสากลหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรม และได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการสิทธิ์ให้ช่วยตรวจสอบด้วย เพราะไม่เชื่อว่าอาแบ(สามี) ตายด้วยเหตุปกติ”
นางอังคณากล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ทางครอบครัวของอับดุลลายิบ ได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถึงข้อกังวลที่นายอับดุลลายิบ มีอาการเครียดและมีความหวาดกลัว อ่อนเพลีย วิตกกังวล จนวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ได้เสียชีวิต ซึ่งจากการร้องเรียนทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็ต้องเข้ามาดู โดยอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคใต้จะลงมาตรวจสอบ
“เมื่อทราบว่าสามีเขาเสียชีวิต เราเสียใจว่าเขาร้องเรียนมาแล้วแต่เสียชีวิตก่อนที่จะได้ตรวจสอบ เราไม่ใช่ศาลดังนั้นไม่สามารถบอกได้ใครผิดใครถูก เราสามารถจะให้ข้อเสนอแนะได้ว่า ในกระบวนการการควบคุมตัวนั้น เจ้าหน้าที่ควรปฏิบัติย่างไร สิทธิ์ของผู้ถูกควบคุมตัวเป็นอย่างไร กรณีเกิดการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ศาลจะเป็นผู้ชี้ว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย ถ้าหากตายธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้ตาย พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการทำคดีต่อไป ในเรื่องของการเยียวยา ฟื้นฟูจิตใจของครอบครัวต้องมีมาตรการว่าหากเจ็บป่วยต้องเข้าถึงการรักษา การเยียวยาสำคัญมากา รู้สึกได้ว่าครอบครัวต้องการความจริง เขาไม่เชื่อว่าสามีตายด้วยเหตุปกติ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องตอบคำถามเหล่านี้ ญาติมีสิทธิ์ร้องขอว่าจะไว้ใจใคร เขาเอ่ยถึงกาชาดสากลที่อยู่ในปัตตานีที่ทำหน้าที่ดุแลผู้ถูกควบคุมตัวอยู่แล้ว เป็นความชอบธรรม ” นางอังคณากล่าว และว่า
“ที่ผ่านมาทางอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคใต้ให้ความสำคัญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ ทุกฝ่ายไม่ควรใช้กำลังต่อผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งในสุสานที่มุสลิมจะให้เกียรติกับผู้ที่เสียชีวิตมาก ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ขอฝากไปยังผู้ที่ก่อเหตุว่า อย่างน้อยที่สุด สุสานเป็นที่ที่มุสลิมจะให้เกียรติกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ถือว่ากลับไปสู่ความเมตตาของพระเจ้า ไม่สมควรที่จะกระทำเช่นนั้น แรงระเบิดทำให้ศพที่ฝังไปแล้วกระเด็นออกมาด้วย ทำให้เกิดความเศร้าใจกับทางครอบครัวและชุมชน หวังว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีก ทุกฝ่ายจะต้องตระหนักถึงการที่จะให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน
สำหรับการเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยนั้น”
“กองกำลังติดอาวุธทุกฝ่ายจะต้องเคารพร่วมกัน ในฐานะที่เป็นประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน ขอเรียกร้องและเฝ้าระวัง ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน การใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ บุคลากรสาธารณสุข ครู และโรงเรียน ไม่ควรจะเกิดขึ้น รวมทั้งผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วอยู่ในสุสานก็ไม่คิดว่าจะถูกรบกวนเช่นนี้ อยากให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักในเรื่องของการใช้ความรุนแรง ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ สำคัญที่สุดคือการเปิดพื้นที่ปลอดภัยซึ่งกันและกันที่จะคุยกันได้ หากยังมีคนบางกลุ่มที่ถูกละเมิดอยู่แล้วจะพูดคุยกันได้อย่างไร กองกำลังติดอาวุธทุกฝ่ายไม่ควรใช้ผู้บริสุทธิ์มาเป็นเครื่องต่อรอง ต้องเคารพสิทธิกันและกัน” นางอังคณากล่าว
ด้าน พ.ท.สุพรรณ ร้อยพุทธ ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจ 16 ยะลา กล่าวถึงความคืบหน้าของคดีนี้ว่า มีการสนับสนุนกันทั้งตำรวจและฝ่ายปกครอง มีวัตถุพยาน บันทึกหลักฐาน และต้องรักษารูปคดีไว้ก่อน
“ในกรณีนี้เป็นถังแก๊สปิกนิกที่ใหญ่มาก รูปแบบเหมือนกับการฝังไว้ใต้ถนน ฝังอยู่ไม่ลึก ฝังเหนือศพแม่ เมื่อเกิดระเบิดเป็นแรงดันให้ศพของแม่กระเด็นขึ้นมาด้วย ญาติและชาวบ้านต้องให้ความร่วมมือ ใช้วัตถุพยานเป็นหลัก ตำรวจเข้าสืบสวนกำลังแยกประเด็นเป็นเรื่องส่วนตัว ความมั่นคง ความเป็นมาในพื้นที่ ซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก” พ.ท.สุพรรณ กล่าว
กองบรรณาธิการ, โต๊ะข่าวชายแดนใต้