ศอ.บต. ร่วมหน่วยงานส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน เสนอ “โครงการยกระดับกาแฟโรบัสต้าถ้ำคอก สะบ้าย้อย” ชิงรางวัลเลิศรัฐ

ศอ.บต. ร่วมกับ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน เสนอ “โครงการยกระดับกาแฟโรบัสต้าถ้ำคอก สะบ้าย้อย” ชิงรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม​ ประเภทร่วมใจแก้จน​

30 พฤษภาคม 2566​ พลเรือตรี​ สมเกียรติ​ ผลประยูร​ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้​ (ศอ.บต.)​ เป็นผู้แทนกล่าวต้อนรับ คณะผู้ตรวจประเมินรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม​ ประเภทร่วมใจแก้จน​ ประจำปี พ.ศ 2566 ในขั้นตอนที่ 2 การตรวจประเมินพื้นที่ปฏิบัติงานผลงานวิสาหกิจชุมชนอำเภอสะบ้าย้อย​ ยกระดับกาแฟโรบัสต้าแก้จนคนชายแดนใต้อย่างยั่งยืน ผ่านระบบซูม Meeting โดยมี ผู้ช่วยเลขาธิการ​ ศอ.บต.​ หน่วยงานส่วนท้องถิ่น และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อ.สะบ้าย้อย ร่วมต้อนรับ และให้ข้อมูล ผ่านระบบซูม ณ​ ห้องประชุมสำนักงานเกษตร​อำเภอสะบ้าย้อย​ จังหวัดสงขลา

พลเรือตรี​ สมเกียรติ​ ผลประยูร​ เลขาธิการ​ ศอ.บต.​ กล่าวว่า​ โครงการยกระดับกาแฟโรบัสต้าฯ ดำเนินการขึ้นสืบเนื่องจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จทรงงาน ณ ศอ.บต. และทรงตรัสอนุรักษ์พันธุ์กาแฟพื้นเมือง หรือกาแฟอัตลักษณ์ประจำถิ่น ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งมีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ถ้ำคอก อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ศอ.บต. จึงดำเนินโครงการดังกล่าวโดยกำหนดให้ประชาชนร่วมคิดและวางแผนดำเนินโครงการ กำหนดทิศทางในการดำเนินการ อย่างไรก็ตามสำหรับการแฟนถ้ำคอก สืบพบว่า เป็นกาแฟโบราณ มีต้นกาแฟอยู่ 4-5 ต้น มีอายุ 200- 300 ปี เป็นพื้นที่กาแฟอัตลักษณ์ประจำถิ่น ซึ่งชาวบ้านมีการผลิตแต่น้อยมาก ศอ.บต. จึงเริ่มดำเนินโครงการขึ้นใน 3 ทิศทาง คือ สนับสนุนในการขยายพันธุ์กาแฟโรบัสต้าถ้ำคอกให้มีคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรนำไปปลูกขยายพื้นที่ และให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิจัยเนื้อเยื่อของกาแฟพันธุ์ดังกล่าว เพื่อขยายพันธุ์ ให้สามารถดำเนินการในเชิงธุรกิจได้ อีกทั้ง ศอ.บต. ได้ลงนาม MOU ร่วมกับคาเฟ่อเมซอน ในการพัฒนากาแฟโรบัสต้าภาคใต้ และให้เป็นภาคเอกชนรับซื้อเมล็ดกาแฟในพื้นที่

เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า ศอ.บต.พยายามผลักดันแก้ไขปัญหาต่างๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน โดยโครงการยกระดับกาแฟโรบัสต้าฯ เป็นเพียง 1 ในหลายสิบโครงการ ที่ศอ.บต. นำเสนอ ซึ่งเป็น การพัฒนาภาคใต้ในภาพรวม โดยร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ผลักดันให้เกิดการพัฒนา แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดย กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ดูแลงานในมิติด้านความมั่นคง ส่วนมิติงานด้านการพัฒนา มี ศอ.บต. เป็นหน่วยนำการพัฒนา มีเป้าหมาย ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ในการอยู่ร่วมกันในวิถีพหุวัฒนธรรม โดยคุณภาพชีวิตที่ดี แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ สุขภาพดี การศึกษาดี ความเป็นอยู่ที่ดี มีอาชีพและรายได้ที่ดี

ด้านผู้แทนตรวจประเมินฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่แบบมีส่วนร่วม มีการบูรณาการทำงานแก้ไขปัญหาให้เห็นผลจริง เป็นรูปธรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยรางวัลนี้เป็นรางวัลในการสนับสนุนและให้กำลังใจแก่หน่วยงานที่ร่วมดำเนินงานแก้จนเห็นชัดเป็นรูปธรรม มีผลลัพธ์​ในระยะยาว​ ซึ่งมีการมอบรางวัลนี้แล้ว 3 ปี