COLA KKU และ สมาคม อบต.แห่งประเทศไทย ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนาผู้นำและบุคลากรท้องถิ่น ทั้ง Reskill และ Upskill เตรียมยกระดับ อบต. รองรับการเปลี่ยนผ่านและการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ
รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย โดยจะร่วมมือกันในการดำเนินการออกแบบและจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรทั้งในรูปแบบที่เป็นหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการระยะสั้น (Workshop Training Program) ที่มุ่งการเพิ่มพูนทักษะ (Up-Skills) การทบทวนทักษะ (Re-Skills) และการเสริมทักษะใหม่ (New-Skills) โดยวัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้เพื่อพัฒนาบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงไปของเทคโนโลยีและบริบทของสังคม และยังเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมที่ผ่านเกณฑ์วัดและประเมินผลที่หลักสูตรกำหนด สามารถเก็บหน่วยกิตสะสมได้ในคลังหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อนำไปต่อยอดในหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) และหลักสูตรปริญญา (Degree Program) ในระดับต่าง ๆ ซึ่งการจัดทำโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรพัฒนาผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบล” เจาะไปที่กลุ่มเป้าหมายเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายสมาชิกสภาท้องถิ่น สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล โดยเบื้องต้นตั้งเป้าจำนวนกว่า 5,000 คน ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
รศ.ดร.พีรสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น คาดหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการบริหารท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมา ยังมองไม่เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้ามากนัก เพราะอำนาจทั้งหมดยังคงอยู่กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเมือง ส่วนกลาง ยังไม่มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ยังมีการแสวงหาผลประโยชน์จากงบประมาณส่วนกลาง เป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศไทย เรายังไม่ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง
ขณะที่ประเทศที่บรรลุเป้าหมายในการบริหารท้องถิ่น และพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพราะฝ่ายบริหารของเขาไม่ให้ใครมาหาผลประโยชน์จากประเทศฝ่ายเดียว แต่ประเทศจะต้องได้รับประโยชน์ด้วย ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ และประเทศของเรา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้าน
บทบาทหน้าที่ของวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น ในการร่วมมือครั้งนี้ คือ ให้ความรู้เสริมความแข็งแกร่งให้กับท้องถิ่น ศึกษาวิจัยเพื่อช่วยแก้ปัญหาท้องถิ่นเพื่อยกระดับท้องถิ่นให้ดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีความพึงพอใจกับการทำงานขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มากขึ้น
รองศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.วีระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา การทำงานองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของกระทรวงมหาดไทยมาตลอด ทำให้การทำงานไม่คล่องตัว หลายเรื่องไม่สามารถดำเนินการหรือตัดสินใจเองได้ ซึ่งอบต.มีความต้องการที่จะให้หน่วยงานภาครัฐ กระจายอำนาจการบริหารงาน รวมถึงการบริหารงบประมาณให้กับอบต.ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการลดอำนาจส่วนกลางกระจายอำนาจมาสู่ท้องถิ่น
ทั้งนี้ จากการทำข้อตกลงความร่วมมือกับทางสถาบันการศึกษา หรือ มหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีความน่าเชื่อถือ อย่างวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะทำให้ข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอของเรามีข้อมูลงานวิจัยทางวิชาการมาช่วยสนับสนุน ขณะที่ในอดีตเรียกร้องอะไรไปก็ไม่มีคนฟัง เราจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานทางวิชาการช่วยมาสนับสนุนผ่านข้อมูลจากงานวิจัยหรือผลงานการศึกษา ซึ่งในการลดอำนาจส่วนกลางและกระจายอำนาจสาธารณะมาสู่ท้องถิ่น คนที่ได้ประโยชน์ คือ ประชาชนคนรากหญ้า ถ้ารากหญ้าแข็งแรงประเทศชาติแข็งแรงเช่นกัน
นายกสมาคม อบต.ฯ กล่าวถึงการทำงานของอบต.ที่อยู่ภายใต้อำนาจส่วนกลางว่า ที่ผ่านมา อบต.แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลยแม้แต่การจัดหัวข้ออบรม ส่วนกลางยังเป็นคนออกแบบมาให้ ทั้งที่ไม่ตอบโจทย์ท้องถิ่นเลย ดังนั้น ต้องให้อำนาจท้องถิ่นหรือมีการหารือกับท้องถิ่นก่อน ว่าต้องการจะอบรมเรื่องอะไร เพราะหากไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น แม้จะอบรมไปแล้วแต่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์ และการที่สมาคมฯ ร่วมมือกับ ทางวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มข. ครั้งนี้ หลักสูตรการอบรมแต่ละครั้งจะผ่านการหารือร่วมกันก่อนเสมอว่ท้องถิ่นต้องการอะไร และ ทางวิทยาลัยต้องการเสริมอะไร
นายสุรพล เพชรวรา อุปนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่มาร่วมกันช่วยแก้ปัญหาให้กับประชาชนในท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานรากของประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็ง การดำเนินงานความร่วมมือในช่วงนี้ ถือว่าเป็นจังหวะที่ดี เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีรัฐบาลใหม่ ที่มีความจริงจังในการที่จะกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น จะเป็นช่วงจังหวะเวลาที่ทำให้มีการขับเคลื่อนไปได้
ส่วนบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ใช่แค่การอบรมทางวิชาการเท่านั้น แต่จะมีเรื่องของงานวิจัย ที่ช่วยสนับสนุน การทำงานขององค์กรส่วนท้องถิ่นที่ต้องเข้าถึงประชาชนหรือชาวบ้านให้ได้มากที่สุด และการตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ช่วยทำให้มหาวิทยาลัยได้บรรลุเป้าหมายในการเข้าถึงชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง โดยดึงศักยภาพของท้องถิ่นและชาวบ้านออกมา เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนประเทศ และต้องปรับแนวคิดใหม่ ต้องทำอย่างไรที่จะให้คนที่มีอำนาจการบริหารได้ลงมาให้กำลังใจคนทำงาน สร้างขวัญและกำลังใจที่ดีช่วยขับเคลื่อนการทำงานไปสู่ความสำเร็จได้
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ครั้งนี้ เหมือนเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลใหม่มีแนวคิดลดอำนาจจากส่วนกลางและการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น การก่อตั้งสมาคมฯ บนพื้นฐานความพึงพอใจของประชาชน เพราะการทำงานของหน่วยงานท้องถิ่นทำให้ประชาชนรู้สึกว่า วันนี้อยากได้อะไรเขาก็ได้ อยากทำอะไรมีท้องถิ่นคอยช่วยเหลือ และเมื่อองค์กรท้องถิ่นได้จับมือกับมหาวิทยาลัย เหมือนมีหน่วยงานทางวิชาการที่ดีมาช่วยสนับสนุน การพัฒนาจะไปไกลกว่าเดิม
วันนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไป ทุกคนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง กระแสการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเห็นว่า คนไทยอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก็มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีอบต.ใหม่เพิ่มขึ้น คนเก่าเหลือเพียง 30% นอกจากการเข้ามาช่วยออกแบบหลักสูตรให้กับคนทำงานแล้ว งานวิจัยของมหาวิทยาลัยยังจะช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของการปฏิบัติ วันนี้ สมาคมฯ ต้องกลับมาหารือ เรื่องการจัดการความรู้ ต้องมาพูดเรื่องการให้ความรู้และข้อค้นพบใหม่ๆ กับองค์กรปกครองท้องถิ่นและสมาชิกให้เร็ว วันนี้ทำได้ง่ายด้วยระบบออนไลน์ ซึ่งบทบาทเหล่านี้ จะมีความสำคัญเพราะไม่ใช่แค่การร่างหลักสูตรและอบรมอย่างเดียว ดังนั้น องค์กรท้องถิ่นจะเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ 1 ผู้บริหารมีนโยบายที่ดี 2. สภาท้องถิ่นช่วยสนับสนุน และ 3 ข้าราชการที่ทำงานร่วมกัน