การเคหะฯ ผนึก GISTDA ใช้ “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” ประยุกต์พัฒนาเมือง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน

การเคหะแห่งชาติร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดประชุมเชิงปฏิบัติการและเผยแพร่การประยุกต์ใช้ภูมิสารสนเทศ ระบบสนับสนุนการกำหนดนโยบาย Actionable Intelligence Policy (AIP) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาและฟื้นฟูเมืองสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า GISTDA เป็นหนึ่งใน 14 หน่วยงานที่ลงนามความร่วมมือทางวิชาการการส่งเสริมการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติและการพัฒนาที่อยู่อาศัย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมาโดยได้สนับสนุนระบบสนับสนุนการกำหนดนโยบาย Actionable Intelligence Policy (AIP) มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ ทั้งรูปแบบอาคารแนวราบและอาคารแนวสูง อาทิ การจัดทำโครงการบ้านเคหะสุขประชา (บ้านพร้อมอาชีพ) สามารถนำระบบ AIP เชื่อมโยงกับแปลงที่ดิน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่โดยรอบว่ามีภูมิสังคม และเศรษฐกิจแบบใด เพื่อจะได้ออกแบบโครงการได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ

“AIP จะช่วยกลั่นกรองและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่นำใส่เข้าไปในระบบ ทั้งข้อมูลโครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ ข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศ ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ทำให้เห็นภาพความเชื่อมโยงของปัญหา และสามารถเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายมีความถูกต้องทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา นำไปสู่ทางเลือกการตัดสินใจที่ดีที่สุด สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ และขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านงานเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ด้านภูมิสารสนเทศที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ” นายทวีพงษ์ กล่าว

ด้าน นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มุ่งให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และตอบข้อซักถามปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินงานด้านที่อยู่อาศัย เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกแบบและพัฒนาระบบ AIP เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยนำข้อมูลภูมิสารสนเทศที่ GISTDA มีความชำนาญ มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่อยู่อาศัยด้านต่าง ๆ ของการเคหะแห่งชาติ อาทิ การจำแนกประเภทชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาที่อยู่อาศัย หรือการดูแลชุมชนในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ภายในงานยังได้จัดให้มีการบรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยให้รองรับการเปลี่ยน แปลงในอนาคต แนวคิดเบื้องต้นในการปรับใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ” โดย รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง และหัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า ระบบ AIP มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเมืองอย่างมากในอนาคต สิ่งสำคัญคือ ต้องสามารถฉายให้เห็นภาพรวมของเมืองความหลากหลายของคนที่อยู่ในเมือง และต้องเข้าใจว่าเมืองจะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาอย่างไร เพื่อทำให้การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและโครงการที่อยู่อาศัยสามารถตอบโจทย์ไปตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในเมืองที่เปลี่ยนไปได้

รศ.ดร.วิจิตรบุษบา กล่าวด้วยว่า โจทย์ของการพัฒนาเมืองมีด้วยกันสองเรื่อง ได้แก่ การสร้างเมืองใหม่ โดยระบบ AIP จะต้องวิเคราะห์ศักยภาพที่ดินได้มากกว่าเชิงกายภาพ คือสามารถวิเคราะห์ได้ทั้ง Demand และ Supply และในส่วนของเรื่องการฟื้นฟูเมือง ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในทุกมิติ เช่น การมีกลุ่มคนเข้ามาอยู่ใหม่ การมีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกขึ้นหรือการประกอบธุรกิจใหม่ เป็นต้น ดังนั้นโจทย์ของการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองจึงไม่ใช่เพียงการจัดทำที่อยู่อาศัยสำหรับคนมีรายได้น้อย แต่จะต้องเป็นที่อยู่อาศัยของคนที่มีรายได้หลากหลายมีรูปแบบการอยู่อาศัยที่แตกต่างกันไปอีกด้วย ดังนั้น AIP ควรสามารถเจาะลงไปถึงเรื่องความต้องการและพฤติกรรมการอยู่อาศัยของคนทุกรูปแบบ เพื่อจะได้เข้าใจภาพรวมและนำมาซึ่งการฟื้นฟูเมืองได้

“เมื่อเมืองได้รับการพัฒนาจะทำให้ผู้อยู่อาศัยเกิดการปรับตัวได้ ทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันหรือการเปลี่ยนแปลงอาชีพตามบริบทของเมือง AIP ก็จะวิเคราะห์ความเป็นอยู่ของผู้คนจากพฤติกรรมต่าง ๆ ว่าจะพัฒนาเมืองให้เหมาะสมต่อคนกลุ่มใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ได้อย่างไร เป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ และเติมเต็มเศรษฐกิจให้คนที่อยู่อาศัยเดิมซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มครัวเรือนเปราะบางให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ในที่สุด” รศ.ดร.วิจิตรบุษบา กล่าวย้ำ