ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 มกราคม ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของปี2559 โดยมี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายก รัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน ซึ่งในการประชุมดังกล่าวบรรดารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายต่างๆ ได้รายงานความก้าวหน้าและงานที่จะดำเนินการในปี 2559 ให้รับทราบ
โดยในส่วนของเศรษฐกิจนั้น “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ได้รายงานว่า ในปี 2559 จะเน้นใน 2 เรื่องคือ การดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่ควรจะเป็น และเหมาะสมกับสภาพการณ์ตามปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ และ การเดินหน้าขับเคลื่อน “ปฏิรูปเศรษฐกิจ” ซึ่งทีมเศรษฐกิจได้หว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปแล้วในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ทั้ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, การให้สิทธิประโยชน์เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน, การเปิดให้ภาคเอกชนและรัฐร่วมลงทุนอย่างเร่งด่วน หรือ พีพีพีฟาสต์แทร็ก เพื่อให้เกิดการร่วมลงทุนรวดเร็วมากขึ้น รวมทั้ง มาตรการกระตุ้นภาคการใช้จ่ายทั้งภาคครัวเรือน และการใช้จ่ายในโครงการที่สำคัญของรัฐบาล
…ตาม ตัวเลขที่รองนายกฯสมคิด ได้รายงาน ในปี 2559 นี้ เศรษฐกิจโลกอาจจะไม่แจ่มแจ๋วเหมือนกับที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าด้วยแนวทางเศรษฐกิจที่วางพื้นฐานเอาไว้จะทำให้เราผ่าน เรื่องนี้ไปได้ เพราะไทยไม่ได้เน้นเรื่องการส่งออกเพียงอย่างเดียว ปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นปัญหาของโลก ที่ทุกประเทศเจอภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลจึงได้วางแนวทางว่าจะเติบโตจากภายในและจะรักษาแนวทางนี้ไว้ให้ได้…”
สำหรับ แนวทางการทำให้เศรษฐกิจเติบโตจากเศรษฐกิจภายใน ได้เตรียมการที่จะจัดสรรงบประมาณลงไปในโครงการทั้งหลายที่สอดคล้องกับการ ปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินที่ลงไปจะได้ไม่เสียของ โดยรองนายกฯสมคิดได้หารือกับทุกภาคส่วนแล้วจะใช้แนวทาง “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชนมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใน
โดยจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่จำเป็นในระดับท้องถิ่น ซึ่งที่ผ่านมาอาจได้ยินเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของภาคอุตสาหกรรม แต่ในปี 2559 จะเน้นโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่นเป็นสำคัญ เช่น เรื่องแหล่งน้ำ การแปรรูปสินค้าเกษตร และการจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตร และให้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวที่จะต้องผูกพันระดับพื้นที่ตั้งแต่ระดับ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.), องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และระดับกลุ่มจังหวัด เพื่อให้สามารถขายสินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้านวัตกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ ด้วย
ล่าสุด ในงานสัมมนาใหญ่ “เศรษฐกิจไทยปี59 มองไปข้างหน้า โอกาสและความท้าทาย” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา “รองนายกฯสมคิด” ได้ระบุถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศว่า ในปีที่ผ่านมา “โมเมนตั้ม” การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะสามารถ “หยุดยั้ง” การ “ทรุดตัว” ของเศรษฐกิจได้ และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ 2.9-3%
สำหรับภารกิจในปีนี้ รัฐบาลจะเดินหน้าขับเคลื่อน “เครื่องยนต์เศรษฐกิจ” ทุก ตัว ทั้งด้านการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐ การสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตร พัฒนา SMEs รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
“..ภารกิจในปีนี้คณะทำงานเศรษฐกิจจะดูแลโมเมนตัมเติบโตในช่วงที่พอเหมาะพอควร เครื่องยนต์ทุกเครื่องเดินหน้าวิ่งเต็มที่ไม่มีไขลาน..” รองนายกฯ สมคิด ระบุ
ทั้งนี้ เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ด้านการส่งออก ซึ่งตั้งเป้าให้กระทรวงพาณิชย์ต้องผลักดันให้การส่งออกทั้งปีโตได้ 5% ซึ่งจะมีการประเมินการทำงานของข้าราชการด้วย และช่วงกลางปีจะมีการประชุมกับฑูตพาณิชย์เพื่อให้เข้าใจแนวทางในการขับ เคลื่อนการส่งออกของรัฐบาลด้วย
ด้านการท่องเที่ยว ปีที่ผ่านมาถือเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในปีนี้จะเน้นส่งเสริมสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดเตรียมงบประมาณพิเศษ เพื่อลงทุนด้านการท่องเที่ยว
อีกทั้ง จะเร่งรัด การใช้จ่ายภาครัฐ โดยจะเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายโดยเร็วที่สุด และอยากให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนช่วยในการลงทุน หากภาคเอกชนใดมีความพร้อมก็ควรเริ่มลงทุนตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ได้เลย
อย่างไร ก็ตาม แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะประเมินภาพรวมเศรษฐกิไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร รวมถึงยังมีความผันผวนในเศรษฐกิจของจีน และความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ แต่รองนายกรัฐมนตรี กลับมองว่าเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างการเติบโตจากภายในประเทศ ซึ่งยืนยันว่า รัฐบาลจะ “ไม่ใช้” วิธีการ “อัดฉีดเม็ดเงิน”เข้า สู่ระบบเพราะไม่อยากให้เป็นภาระต่อรัฐบาลหน้า แต่หากจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินจะลงไปในการพัฒนาที่สอดรับการแนวทางการปฏิรูป และสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว
นอกจากนี้ รองนายกฯสมคิด ยอมรับว่า ช่วงปีใหม่ยังรู้สึกทุกข์ใจใน “ภาคการเกษตร” ที่ได้รับผลกระทบจากราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ซึ่งตนเองมีมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดการ “ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” การเพาะปลูก โดยเฉพาะชาวนา ซึ่งใน จะมีการหารือร่วมกับธกส.และธนาคารออมสินใช้วิธีการขับเคลื่อนในแนวนอน ทำงานร่วมกับสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ กองทุนหมู่บ้าน และร่วมกับภาคเอกชนเข้ามีส่วนช่วยในการสร้างแปลงสาธิตวิธีการทำการเพาะปลูก ที่หลากหลาย
พร้อมกันนี้ จะเน้นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าไปเพิ่มมูลค่าสินค้าที่มีอยู่ โดยจะหาแนวทางให้เกิดการแปรรูปสินค้าในท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการลงทุน ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ แต่การลงทุนในท้องถิ่น โดยให้โจทย์ออมสินไปแล้ว รวมทั้งเชื่อว่าหลังจากนี้ทั้งธกส.และออมสินจะเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อน ได้มาก นอกจากนี้ยังมีแนวคืดในการสร้างเอสเอ็มอีเกษตรกรในรูปแบบเกษตรอุตสากรรมด้วย ซึ่งอยากเห็นการตั้งโรงงานขนาดเล็กที่เน้นการเกษตร และจะให้บีโอไอให้การส่งเสริมสิทธิพิเศษด้วย
สิ่งที่รองนายกฯสมคิดได้กล่าวออกมานี้ทั้งหลายทั้งปวงพอจะสรุปความได้ว่า “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”ประกาศตัวเองคือ “ตัวแปร” ของเศรษฐกิจที่จะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้วิ่งแซงจีดีพีหลังธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติประเมินอยู่ที่ 3.5%ทั้งปี โดยจะ “ยกเครื่อง” เศรษฐกิจไทยช่วยเกษตรกรไทย 30 ล้านคนหนุนเป็น SMEs ขนาดเล็กให้เติบโตแบบยั่งยืน โดยดึงธนาคารของรัฐ และธนาคารที่รัฐถือหุ้นใหญ่ อย่างธนาคารกรุงไทย ออมสิน ธกส.เข้ามามีส่วนร่วมผ่านสหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน โดยมีกระทรวงไอซีทีรับลูก “สร้างบรอด์แบรนด์” รองรับ 10,000 จุด รวมทั้งสร้างแหล่งท่องเที่ยวทุกจังหวัดเหมือนญี่ปุ่นดึงนักท่องเที่ยวเข้า ไทย รวมทั้งผลักดันการส่งออกในปี 2559 ให้ได้ 5%
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแต่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีอย่างเดียว เพราะขณะนี้มีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคถึง 2 เรื่องหลัก คือ สถานการณ์ภัยแล้ง ที่ภาคเอกชนยอมรับว่ายังไม่เห็นแผนการทำงาน การป้องกันที่ชัดเจนจากรัฐบาล ซึ่งประเด็นภัยแล้งนี้เองที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ภาคอุตสาหกรรมกังวล
นอกจากนี้ยังมีเสียงเตือนมาจากฝ่าย “ตรงข้าม” รัฐบาลอย่าง “พิชัย นริพทะพันธุ์” คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ที่คาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2559 ว่า ยังคงมีสภาวะย่ำแย่ไม่ต่างจากปี 2558 แต่ประชาชนอาจจะลำบากมากกว่าเดิม เพราะเจอผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง โดยภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้นนัก แม้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะฟื้นตัวแล้ว ถึงขนาดเริ่มต้องขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่ประเทศไทยจะไม่ได้รับประโยชน์ เพราะสหรัฐฯประกาศตัดจีเอสพีไทยในต้นปี 2559 นี้ และมีการเรียกร้องไม่ให้ซื้ออาหารทะเลจากไทย
พร้อมทั้งเสนออ ทางออกไปยังเสนอรัฐบาลโดยต้องเร่งแก้ไข 1.แก้ภาพลักษณ์ที่ติดลบในข่าวสาร ที่กระจายออกไปทั่วโลก 2.ต้องไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3.การยอมรับการเห็นต่างเพื่อนำมาปรับปรุง การทำงานให้มีประสิทธิภาพ 4. ปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง และ 5. แผนการเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
นี่อาจทำให้หลายฝ่ายยังประหวั่นพรั่นพรึงว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะเป็นปีแห่งความบรรเจิด รุ่งโรจน์หรือยังคงต้อง “จมปลัก” ซ้ำรอยประวัติศาสตร์กันอีกหน!!