ข่าวร้อนกระแสแรงของโลกในช่วงเวลานี้คงหนีไม่พ้นเหตุการณ์ในตะวันออกกลางที่ร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อประเทศซาอุดิอาระเบียประกาศตัดความสัมพันธ์กับประเทศอิหร่าน ภายหลังจากเหตุการณ์ที่มีชาวอิหร่านบุกเผาสถานทูตซาอุดิอาระเบียในกรุงเตหะราน เนื่องจากไม่พอใจที่ซาอุดิอาระเบียสั่งประหารชีวิตท่านเชคนิมิร์ นักการศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ในซาอุดิอาระเบีย และมีการประท้วงของชาวมุสลิมนิกายชีอะฮ์ในอีกหลายๆ ประเทศ จนกลายเป็นกระแสข่าวร้อนที่ทั่วโลกให้ความสนใจและพุ่งประเด็นความขัดแย้งครั้งนี้ไปที่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างนิกายซุนนี่และชีอะฮ์
หากจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านที่มีต่อกันนั้น ต้องย้อนไปถึงช่วงก่อนการปฏิวัติอิหร่านในปี1979 เนื่องจากทั้งสองประเทศมีการเมืองการปกครองที่มีลักษณะแบบเดียวกันคือซาอุดิอาระเบียปกครองโดยราชวงศ์ซาอูด และอิหร่าน (ในขณะนั้น) ปกครองโดยราชวงศ์ปาห์ลาวี แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในอิหร่านในปี1979 นับว่าเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์ปาห์ลาวีซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายในอิหร่าน กระแสการปฏิวัติอิหร่านในครั้งนั้นสร้างความหวาดหวั่นให้กับเหล่าผู้ปกครองในตะวันออกกลางที่เกรงว่ากระแสการปฏิวัตินี้จะลุกลามไปทั่วทั้งภูมิภาค ผลกระทบนี้รวมไปถึงสหรัฐอเมริกาที่ให้การสนับสนุนและมีความสัมพันธ์อันดีกับกษัตริย์ชาห์ ปาห์ลาวี มาโดยตลอดที่เสียผลประโยชน์ในอิหร่านหลังการปฏิวัติ ดังนั้นเมื่ออิรักบุกอิหร่านภายหลังการปฏิวัติในปี 1980 ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอเมริกาจึงให้การสนับสนุนอิรักในการทำสงครามกับอิหร่าน เพื่อทำลายความสำเร็จในการปฏิวัติของอิหร่านลง
ภายหลังสงคราม 8 ปี บริบททางการเมืองในเวลาต่อมาระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่าน ก็ถือได้ว่ายังไม่ขาดสะบั้นลงซะทีเดียว ประชาชนของทั้งสองประเทศยังมีโอกาสได้เห็นภาพการติดต่อเยี่ยมเยือนไปมาระหว่างประธานาธิบดีอิหร่านกับมกุฏราชกุมารของซาอุดิอาระเบียอยู่ตามหน้าสื่อ แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองก็เกิดมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างสองประเทศอีก หลายประเด็นที่สร้างรอยร้าวและทำให้ทั้งสองประเทศมีจุดยืนทางการเมืองตรงข้ามกันในเวลาต่อมา ตั้งแต่เหตุการณ์การจราจลและการปะทะกันระหว่างผู้แสวงบุญชาวอิหร่านที่ทำการประท้วงอิสราเอลและสหรัฐอเมริกาในช่วงการประกอบพิธีฮัญจ์ กับหน่วยความมั่นคงของซาอุดิอาระเบียในวันที่ 31 กรกฎาคม ปี 1987 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 400 คน – ประเด็นที่ทูตซาอุดิอาระเบียถูกสังหารในต่างประเทศ ทางการซาอุดิอาระเบียก็กล่าวหาว่าทางอิหร่านมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตของผู้แสวงบุญชาวอิหร่านจำนวนกว่า 400 คนในเหตุการณ์ที่มีนา ช่วงการประกอบพิธีฮัญจ์ปีที่ผ่านมา ทางการอิหร่านก็กล่าวหาว่าซาอุดิอาระเบียมีการบริหารจัดการที่ไม่ดีจนเป็นเหตุให้มีผุ้แสวงบุญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
และจะสังเกตได้ชัดเจนว่าปัจจุบันจุดยืนทางการเมืองของทั้งสองประเทศมักจะสวนทางกันเสมอ เช่น ในบาห์เรนอิหร่านยืนอยู่ฝั่งประชาชน ซาอุดิอาระเบียยืนอยู่ฝั่งรัฐบาล – ในซีเรีย ที่อิหร่านยืนข้างผลคะแนนการเลือกตั้งของประชาชนในซีเรีย โดยที่ซาอุดิอาระเบียมีความเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์และไม่มีความชอบธรรม –ในเยเมน อิหร่านประนามการใช้ปฏิบัติการทางอากาศโจมตีเยเมนของซาอุดิอาระเบีย ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีที่ถูกยึดอำนาจจากกลุ่มฮูซี – ในประเด็นข้อพิพาทเรื่องหมู่เกาะในอ่าวเปอร์เซียระหว่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอิหร่านที่เป็นปัญหาตกค้างมานาน ซาอุดิอาระเบียก็เลือกที่จะยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับอิหร่าน แม้แต่ สถานการณ์ที่อยู่อีกทวีปคือเหตุการณ์ที่รัฐบาลไนจีเรียเข้าทำการจับกุมนักการศาสนาชาวไนจีเรียและประชาชนชาวไนจีเรียที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์ ทางการซาอุดิอาระเบียก็กล่าวชื่นชมว่ารัฐบาลไนจีเรียทำถูกต้อง ในขณะที่อิหร่านกล่าวตำหนิรัฐบาลไนจีเรียและร้องขอให้เปิดเผยชะตากรรมของนักการศาสนาท่านนี้ กล่าวได้ว่าเนื่องจากซาอุดิอาระเบียและอิหร่านต่างก็เปรียบเสมือนเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาค ที่เป็นทั้งคู่แข่งทางการเมืองและคู่แข่งทางเศรษฐกิจในฐานะประเทศผู้ส่งออกทรัพยากรน้ำมันอันดับต้นๆของโลก จึงทำให้ทั้งสองประเทศมีอิทธิพลและมีบทบาทที่โยงใยเกี่ยวพันอย่างสำคัญต่อขั้วอำนาจทางการเมืองของประเทศต่างๆในภูมิภาคตะวันออกกลาง(ขั้วซาอุดิอาระเบีย คือ คูเวต บาห์เรน สหรัฐอาหรับเอมิเรต จอร์แดน ส่วนขั้วอิหร่านคือ อิรัก เยเมน ซีเรีย และกลุ่มฮิซบุลเลาะฮ์ในเลบานอน)
และจากการที่ตะวันออกกลางเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงมิได้มีแค่ซาอุดิอาระเบียและอิหร่านเท่านั้นที่มีบทบาทในตะวันออกกลาง หลังเหตุการณ์ 911 ในปี 2001 สหรัฐอเมริกาก็เข้ามามีแสดงบทบาทนำอย่างชัดเจนในภูมิภาคตะวันออกกลาง (อีกครั้ง) หลังยุคสงครามเย็น ผ่านนโยบายต่างประเทศในบทบาทของผู้นำในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย โดยมีชาติอาหรับที่สำคัญอย่างซาอุดิอาระเบียให้การสนับสนุน ความสัมพันธ์ของทั้งสหรัฐอเมริกาและซาอุดิอาระเบียจึงเปรียบเสมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า (กล่าวคือซาอุดิอาระเบียต้องการใช้ความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกาในการช่วยค้ำยันความมั่นคงในภูมิภาคและต้องการรักษาอำนาจการปกครองของราชวงศ์ซาอูดมิให้ล่มสลาย ด้านสหรัฐอเมริกาเองก็ต้องการผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันที่มีอย่างมหาศาลในภูมิภาคตะวันออกกลาง)
หากศึกษาประวัติศาสตร์และบริบททางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างละเอียดจะเห็นได้ว่ามีหลายเหตุการณ์ที่ความแตกต่างทางนิกายมิได้เป็นปัญหาหลักแต่อย่างใด ซึ่งเห็นได้จากทฤษฎีการยึดหลักความเป็นเอกภาพ ช่วยเหลือผู้ที่ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าเป็นชนชาติใดที่อิมามโคมัยนีนำมาใช้ในการปฏิวัติ ทำให้ภายหลังการปฏิวัติในปี 1979 อิหร่านทำการตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอลและให้การสนับสนุนปาเลสไตน์ (ทั้งๆ ที่ชาวปาเลสไตน์นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี่) เนื่องมาจากประเด็นการก่อตั้งประเทศอิสราเอลที่มีที่มาจากกฎหมายที่ร่างขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมของชาติตะวันตก และความไม่พอใจที่อิสราเอลใช้ความรุนแรงเข้าโจมตีและขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่อย่างไร้มนุษยธรรม – เหตุการณ์ที่อิหร่านประนามการกระทำของรัฐบาลเซอร์เบีย (ในขณะนั้น) อย่างรุนแรงจากปฏิบัติการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมในบอสเนียและโคโซโว (ซึ่งประชากรของบอสเนียและโคโซโวเป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนี่) – เหตุการณ์ที่มีผู้อพยพชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียร์ม่าร์ที่เป็นข่าวโด่งดังก่อนหน้านี้ อิหร่านก็ให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาโดยการส่งอาหารและข้าวของที่จำเป็นให้ (แม้ว่าชาวโรฮิงญาจะนับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี่ก็ตาม) อีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมากในสถานการณ์ปัจจุบันคือ แม้ว่าซาอุดิอาระเบียจะประกาศตัดความสัมพันธ์กับอิหร่านแล้วก็ตาม แต่ยังอนุญาตให้ชาวอิหร่านเข้าไปประกอบพิธีฮัญจ์ในซาอุดิอาระเบียได้ ตัวอย่างของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แนวความคิดที่แตกต่างกันนั้นมิได้หมายความว่าจะต้องหันหลังให้กันหรือต้อง ฟาดฟันกันให้พินาศไปข้างหนึ่ง
แต่ทว่าผู้เขียนมิได้ปฏิเสธว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกันทางความเชื่อในศาสนาอิสลามนั้นมีอยู่จริง เพียงแต่ความคิดเห็นที่แตกต่างที่มีอยู่นั้นยังยืนอยู่บนบรรทัดฐานของคัมภีร์อัลกุรอานเล่มเดียวกัน มีศาสดาท่านเดียวกัน เพียงแต่มีการตีความบทบัญญัติทางศาสนาที่ต่างกันออกไป (ที่ต้องทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่งก็คือนิกายหลักในซาอุดิอาระเบียคือนิกายวะฮาบี ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดของชนกลุ่มน้อยในหมู่ชาวมุสลิมซุนนี่ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยในประเทศไทยถูกรู้จักในนามของ “ซุนนี่คณะใหม่” ซึ่งก็เป็นส่วนน้อยในหมู่ชาวมุสลิมซุนนี่ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ขณะที่ประชากรในอิหร่านเป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะฮ์ อนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นแค่เพียงความขัดแย้งของนิกายวาฮาบีในซาอุดิอาระเบีย มิใช่ชาวมุสลิมซุนนี่ส่วนใหญ่) แต่จากเหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น นัยหนึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงการยอมรับในความเป็นพี่น้องชาวมุสลิมเหมือนกันของแต่ละนิกาย คงมีแต่เพียงบางกลุ่มบางจำพวกที่มีแนวความคิดสุดโต่งนอกกรอบ ไม่เปิดรับแนวความคิดที่แตกต่างจากตน และมองคนคิดต่างเป็นศัตรู
สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าศาสนามิได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด มนุษย์ผู้แสวงหาอำนาจต่างหากที่เป็นผู้ก่อปัญหาขึ้น บริบททางการเมืองและอำนาจจึงประเด็นสำคัญที่ควรนำมาใช้ในการวิเคราะห์ และกล่าวได้ว่าปมความขัดแย้งหลักและความร้อนระอุทางการเมืองในตะวันออกกลางที่มีมาโดยตลอดคือความซับซ้อนของเกมอำนาจโลก โดยมีชาติมหาอำนาจและขั้วอำนาจต่างๆ ที่ล้วนต้องการเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนึ้และให้การสนับสนุนพันธมิตรที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับตน ขั้วหนึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ซาอุดิอาระเบีย อิสราเอล ตุรกี และชาติอาหรับที่สนับสนุนชาติตะวันตก อีกขั้วหนึ่งคือรัสเซีย อิหร่าน อิรัก ซีเรีย
การโยงใยพัวพันและความซับซ้อนของสถานการณ์ที่แต่ละประเทศอยู่กันคนละฝั่ง เล่นกันคนละบทบาท มีความต้องการส่วนตัวไปคนละอย่าง ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางขณะนี้มีลักษณะเป็นสงครามตัวแทน เป็นสงครามแห่งอำนาจที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปอีกยาวนาน ฝ่ายใดที่ถอยออกจากเวทีนี้นั่นหมายถึงการหมดบทบาทสิ้นอำนาจ ซึ่งอาจกลายเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์ชาติตนเลยทีเดียว ….
กล่าวโดยสรุปได้ว่า แม้มุมมองการตีความทางศาสนาในแต่ละนิกายจะแตกต่างกันสักเพียงใด แต่ละความต่างนั้นก็ยังคงมีจุดเชื่อมโยงในความเป็นมุสลิมเหมือนกัน แต่เกมแห่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางต่างหากที่มีเดิมพันสูงมาก จนกลายเป็นสมรภูมิแห่งอำนาจที่ต่างคนต่างก็ถอยไม่ได้….!!!!