สิ้น “หนังเคล้าน้อย” นายหนังตะลุง ศิลปินแห่งชาติ

สวธ. แจ้งการบำเพ็ญกุศล นายหนังตะลุงชั้นครู นายเคล้า โรจนเมธากุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) พ.ศ. 2555

นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า วงการศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้สุดเศร้า เมื่อได้รับแจ้งว่า นายเคล้า โรจนเมธากุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) พุทธศักราช 2555 ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน 2566 สิริอายุรวม 81 ปี ซึ่งทางญาติได้แจ้งว่าจะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันที่ 25 กันยายน 2566 ประชาชนทั่วไปรดน้ำศพ เวลา 14.00 – 16.00 น. พิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เวลา 16.00 น. และในเวลา 19.30 น. เป็นพิธีสวดอภิธรรมศพ ณ แหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านปักษ์ใต้ บ้านคลองเสียด หมู่ 6 ตำบลปกาศัย อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ และพิธีเก็บศพไว้ โดยกำหนดสวดอภิธรรมศพอีกครั้ง ในวันที่ 6 – 8 ตุลาคม 2566 และพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ต่อไป

อธิบดีสวธ. เปิดเผยอีกว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ตลอดจนเผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน แล้ว ในยามที่ศิลปินฯ เสียชีวิต สวธ. และคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม ยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการฌาปนกิจศพ คือ มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ จำนวน 20,000 บาท ค่าเครื่องเคารพศพ 3,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000 บาท อีกด้วย

ประวัติโดยสังเขป นายเคล้า โรจนเมธากุล หรือ หนังเคล้าน้อย เกิดวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2485 ณ ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อ ‘สีชุม’ มารดาชื่อ ‘เทียน’ มีพี่น้อง 8 คน สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาจากการศึกษานอกโรงเรียน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ สมรสกับนางฉลวย หรือ “โนราฉลวย” ศิลปินโนราแห่งจังหวัดกระบี่ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เลขที่ 66 หมู่ที่ 6 ตำปกาสัย อำเภอแเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ มีบุตรและธิดารวมกัน 3 คน

ท่านได้รับการฝึกฝนหนังตลุงจากหนังสีชุมผู้เป็นบิดา และหนังใหม่หรือปู่ใหม่เป็นครูหนังฝึกสอนให้เข้าใจการแสดงหนัง รวมทั้งติดตามหนังสีชุมเดินทางไปแสดงหนังในท้องถิ่นต่าง ๆ บางครั้งแสดงหนังแทนบิดา ได้ฝึกฝนกับนายหนังคณะต่าง ๆ เช่นหนังจันทร์แก้ว หนังประทินและหนังแคล้ว เมื่อมีประสบการณ์มากพอจึงประกอบพิธีครอบมือกับหนังจันทร์แก้ว บัวขวัญ จากนั้นก็ได้เล่นหนังตะลุงให้ครบสามวัด สามบ้านตามธรรมเนียมของหนังตะลุงใหญ่ หนังเคล้าน้อย เริ่มการแสดงเป็นอาชีพ เมื่อปี พ.ศ. 2502 และมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในช่วงปี 2507 – 2521 มีขันหมากว่าจ้างงานการแสดง เดือนละ 20 – 30 คืน หนังเคล้าน้อย มีความเป็นเลิศในการขับบทกลอนสดโดยไม่มีการร่างบทกลอนและเจรจารูปหนัง และเป็นยอดในการเชิดรูปหนัง เคยชนะในการแข่งขันเชิดรูปพระอิศวรทรงโค ของกรมประชาสัมพันธ์ เสน่ห์ของหนังเคล้าน้อย คือการนำเสนอนิยาย ที่สร้างความเพลิดเพลิน มีคติธรรมสอนใจ โดยเฉพาะเรื่องจักรๆวงศ์ๆ กว่า 40 เรื่อง นอกจากนี้ ยังมีตัวตลกประจำโรง คือ สีแก้ว และยอดทอง ที่เป็นที่ชื่นชอบและเป็นสัญลักษณ์ของหนังเคล้าน้อย ด้วยความสามารถในการแสดงหนังตะลุง จึงได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหนังตะลุงชั้นครู มีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก

ผลงานของนายหนังเคล้าน้อย เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ทำให้ได้รับพระราชทานโล่ เข็มประกาศเกียรติคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) พุทธศักราช 2555 โดยคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นเกียรติประวัติแก่ตนเอง ครอบครัวและวงการศิลปะการแสดงของภาคใต้