นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน เข้าพบผู้แทนฮามาส ประจำกรุงเตหะราน อิหร่าน หารือเร่งช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกควบคุมตัว ยันผลคุยเบื้องต้น “เป็นไปในทิศทางที่ดีมาก”
วานนี้ (จันทร์ 16 ต.ค.) ประมาณ 13.00 น. (ตามเวลาอิหร่าน) ที่สำนักงานฮามาสประจำกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน ได้เข้าพบ ดร.คอลิด กุดดูมี ผู้แทนฮามาส ประจำกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เพื่อพูดคุยหาแนวทางช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอลที่ถูกกองกำลังฮามาสในฉนวนกาซ่าควบคุมตัวหลังบุกโจมตีอิสราเอล
ดร.เลอพงษ์ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับเดอะพับลิกโพสต์ว่า การพบปะครั้งนี้ตนได้รับมอบหมายจากทางซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ผู้นำมุสลิมชีอะห์ไทย ให้มาประสานเบื้องต้น
“ด้วยซัยยิดสุไลมานทราบว่า ผมรู้จักกับดร.คอลิด กูดดูมี ผู้แทนฮามาส ประจำกรุงเตหะรานเป็นการส่วนตัว อีกปัจจุบันผมก็มาศึกษาต่อและพำนักอยุ่ในอิหร่าน ทางซัยยิดสุไลมานเล็งเห็นว่าเป็นโอกาส จึงให้มาประสานเบื้องต้นกับทางผู้แทนมาฮาสเพื่อหาทางออกและแนวทางช่วยเหลือแรงงานไทยที่ถูกควบคุมตัวเท่าที่จะเป็นไปได้” นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน กล่าว
ผลการพูดคุยเบื้องต้นกับผู้แทนฮามาส ประจำกรุงเตหะราน “เป็นไปในทิศทางที่ดีมาก” ดร.เลอพงษ์บอกกับเดอะพับลิกโพสต์ อย่างไรก็ตามเขาระบุว่า ยังไม่สามารถให้รายละเอียดอื่นและแนวทางดำเนินการต่อไป เนื่องจากยังเป็นการพูดคุยเบื้องต้น ต้องรอความคืบหน้าและเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากกว่านี้
ดร.เลอพงษ์ บอกกับเดอะพับลิกโพสต์ด้วยว่า ทางฮามาสได้รับประกันเรื่องความปลอดภัยของตัวประกันชาวไทยที่ควบคุมตัว แต่เฉพาะตัวประกันที่อยู่กับทางฮามาสเท่านั้น ซึ่งทางผู้แทนฮามาสก็ไม่ทราบจำนวนแน่ชัดเพราะเป็นเรื่องของฝ่ายปฏิบัติการ
“นอกจากนี้ในการพูดคุย ทางฮามาสแนะนำไม่ให้เรียกผู้ถูกควบตัวว่า “ตัวประกัน” แต่ให้เรียกว่า “เชลย” ซึ่งในมุมมองของผมถือว่าเป็นเรื่องดีมาก เพราะการที่ทางฮามาสรับว่าผู้ถูกควบคุมตัวเป็น “เชลย” เท่ากับว่าทางเขาจะต้องปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวตามหลักการแนวทางอิสลามที่มีข้อกำหนดเรื่องเชลยศึกชัดเจน ว่าจะต้องดูแลความปลอดภัย และปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมตามสมควร” ดร.เลอพงษ์ กล่าว
เดอะพับลิกโพสต์คาดว่าการที่ดร.เลอพงษ์ นายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน เข้าพบ ดร.คอลิด กูดดูมี ผู้แทนฮามาส ประจำกรุงเตหะราน นั้นเป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากการที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี นักการศาสนาผู้นำมุสลิมชีอะห์ไทย เข้าประชุมหารือที่รัฐสภา เมื่อวันพุธ 11 ต.ค. 66 ที่ผ่านมา อันเป็นความพยายามที่จะมองหาโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะช่วยเหลือคนไทยเหล่านี้ผ่านช่องทางประเทศมุสลิมที่มีสายสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อกลุ่มฮามาส
ทั้งนี้ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ก็ได้โพสต์เฟสบุ๊กเกี่ยวกับการเข้าพบครั้งนี้ด้วยว่า “หลังจากที่ผมได้มอบหมายให้ท่าน ดร.ซัยยิด มุบาร๊อก ฮูซัยนี เข้าพูดคุยเจรจา กับสำนักงานฮามาสประจำกรุงเตหะราน อีหร่าน เรื่องแรงงานไทยที่อยู่ในการดูแลของฮามาส วันนี้ ท่านซัยยิด มุบาร๊อก ได้พูดคุยเจรจากับ ดร.คอลิด กูดดูมี หัวหน้าสำนักงานฮามาสประจำกรุงเตหะราน ได้รายงานมาว่าการเจรจาคืบหน้าไปในทางที่ดีเป็นอย่างมาก หวังว่าปัญหาจะคลี่คลายไปในทางที่ดี”
สำหรับดร.เลอพงษ์ ซาร์ยีด หรือซัยยิดมุบาร๊อก ฮูซัยนี นั้นดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่าน เป็นนักการศาสนามุสลิมชีอะห์ไทยที่มีชื่อเสียง นักวิคราะห์ด้านโลกมุสลิม ปัจจุบันพำนักอยู่ในอิหร่านเพื่อศึกษาต่อและเป็นอาจารย์สาขาวิชาการเมืองอิสลามประจำคณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมุสตอฟานานาชาติ เมืองกุม ประเทศอิหร่าน เขาได้รู้จักกับ ดร.คาลิด อัลกุดดูมี หัวหน้าสำนักงานฮามาส ประจำกรุงเตหะราน เป็นการส่วนตัวจากการเข้าร่วมสัมมนาต่างๆ เกี่ยวกับปาเลสไตน์ในอิหร่าน อีกทั้งทางดร.คาลิด ก็ได้รับทราบเกี่ยวกับนายเลอพงษ์ว่าเป็นนักเคลื่อนไหวสนับสนุนปาเลสไตน์ในไทยมาอย่างยาวนาน
ส่วน ดร.คอลิด กูดดูมี นั้นเป็นผู้แทนขบวนการฮามาส ประจำกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน (Khalid al-Qaddumi, Hamas’s representative in Tehran, Iran) เว็บไซต์ counterextremism.com ระบุว่าเขามีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานผลประโยชน์กลุ่มฮามาสร่วมกับทางอิหร่าน นอกจากนี้เขายังทำหน้าที่เป็นโฆษกของกลุ่มฮามาสในการประสานและให้สัมภาษณ์กับสื่ออิหร่านและสื่อต่างประเทศอื่นๆ
ในฐานะผู้ประสานงานของกลุ่มฮามาสในอิหร่าน กัดดูมียืนยันความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างอิหร่าน-ฮามาส แม้เขาจะยืนยันว่าอิหร่านเป็น “หุ้นส่วน” “เพื่อน” และ “ผู้สนับสนุน” ของฮามาส แต่เขาก็ยืนยันด้วยว่ากลุ่มฮามาสนี้ไม่ใช่ “ตัวแทน” ของอิหร่าน ถึงกระนั้น กัดดูมีก็ยอมรับเป็นประจำว่าอิหร่านสนับสนุนกลุ่มฮามาส ทั้งทางการเมืองและการทหาร
ในช่วงความขัดแย้งกับอิสราเอลถึงขีดสุดเมื่อ 11 วันในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 กัดดูมีชื่นชมอิหร่านที่ถ่ายทอดความรู้และมอบอาวุธให้กับกลุ่มฮามาส
กัดดูมีทำงานเพื่อยกระดับสถานะของกลุ่มฮามาสต่ออิหร่าน โดยร่วมกับคณะผู้แทนของกลุ่มฮามาสเพื่อพบปะกับอยาตุลเลาะห์อะลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่านและเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆ ของอิหร่าน หลังจากที่อิหร่านตัดการสนับสนุนกลุ่มฮามาสเพื่อตอบโต้ที่ฮามาสสนับสนุนผู้ประท้วงในช่วงเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองในซีเรีย กัดดูมีเข้าร่วมการประชุมหลายครั้งซึ่งในที่สุดก็ทำให้อิหร่านฟื้นการสนับสนุนฮามาสอีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ประธานสภาฯ เชิญผู้นำชีอะห์ไทยหารือช่วยแรงงานไทยถูกฮามาสคุมตัว