WHO ออกแถลงการณ์ เรียกร้องออกมาตรการคุมบุหรี่เข้มงวด

วิกฤตบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนัก WHO ออกแถลงการณ์ เรียกร้องทุกประเทศออกมาตรการคุมบุหรี่เข้มงวด ย้ำประเทศที่ห้ามอยู่แล้วต้องห้ามต่อ-บังคับใช้กม. เข้มงวด เตือนไม่ช่วยเลิกบุหรี่ได้จริง พร้อมขอห้ามแต่งรส คุมปริมาณนิโคติน ด้านสสส. เร่งเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์คุมบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ป้องกันเด็กไทยติดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า ชี้ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศสะอาดไร้ควันบุหรี่เข้าปอด

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 18 ธ.ค. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ นพ.จอส ฟอนเดลาร์ (Dr.Jos Vandelar) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาการแถลงการณ์องค์การอนามัยโลก เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าภัยคุกคามต่อเด็กและเยาวชน ข้อเสนอมาตรการในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าว่า เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ได้ออกแถลงการณ์ระบุถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อปกป้องสุขภาพของเด็กและผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และลดอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อสุขภาพของประชาชน ได้แก่ 1.ประเทศที่มีการห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้า ให้ดำเนินมาตรการห้ามการขายบุหรี่ไฟฟ้าและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยให้ติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างทันท่วงที 2.ประเทศที่อนุญาตให้มีการค้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้า (การขาย การนำเข้า การจัดจำหน่าย และการผลิต) ควรกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อลดความน่าดึงดูดและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อประชากร รวมถึงการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแต่งรสชาติทั้งหมด จำกัดความเข้มข้นและคุณภาพของนิโคติน และบังคับใช้มาตรการภาษีอย่างเข้มงวด

“องค์การอนามัยโลกสนับสนุนรัฐบาลไทยให้มีกฎหมายเรื่องการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป ขอให้รัฐบาลไทยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องคนรุ่นใหม่จากผลิตภัณฑ์ที่อันตรายเหล่านี้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งเสพติด อันตราย ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้สูบและผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและเยาวชน” นพ.จอส กล่าว

นพ.จอส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังออกคำเตือน ไม่แนะนำให้รัฐบาลทุกประเทศอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ ส่วนประเทศที่ดำเนินยุทธศาสตร์การเลิกบุหรี่โดยใช้บุหรี่ไฟฟ้าควรควบคุมเงื่อนไขในการเข้าถึง เพื่อให้มั่นใจว่ามีข้อบ่งชี้ทางคลินิกที่เหมาะสม และต้องควบคุมเป็นผลิตภัณฑ์โดยได้รับอนุญาตทางการค้าระบุเป็นยาเท่านั้น

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในไทยน่าเป็นห่วงอย่างมาก เด็กและเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากผลการสำรวจพฤติกรรมสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย 61,688 คน เมื่อวันที่ 25 เม.ย.-6 มิ.ย. ปี 2566 ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบเยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้า 9.1% ส่วนใหญ่ถูกเพื่อนชักชวนให้สูบ 92.2% สอดคล้องกับผลสำรวจเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 39 แห่งทั่วประเทศ เมื่อเดือน พ.ค. ปี 2566 พบ 95.4 % เคยสูบบุหรี่มวน และ 79.3% เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเริ่มใช้บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก 80.7% ในจำนวนนี้พัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่น76% ทั้งนี้ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย ไม่เสพติด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะมีหลักฐานยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นสารเสพติดรุนแรง มีสารก่อมะเร็ง ส่งผลเสียต่ออวัยวะต่างๆ ทั้งปอด หัวใจและหลอดเลือด ทำลายพัฒนาการของสมองเด็กและทารกในครรภ์ รวมถึงเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างที่ไม่สูบด้วย

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สสส. ได้เร่งดำเนินงานควบคุมยาสูบเพื่อสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ ผ่านยุทธศาสตร์ 4 ด้าน 1.พัฒนาระบบ/กลไกการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง เพื่อการป้องกันนักสูบหน้าใหม่และลดผู้สูบรายเดิม สนับสนุนการให้บริการเลิกบุหรี่ การรักษาการติดนิโคตินในหน่วยบริการสุขภาพ 2.พัฒนานโยบาย กฎหมายการควบคุมการบริโภคยาสูบ เช่น มาตรการควบคุมยาสูบในชุมชน การปกป้องการได้รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม และการรณรงค์บ้าน ครอบครัวปลอดบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้า 3.พัฒนาศักยภาพเครือข่ายดำเนินงานควบคุมยาสูบทั้งส่วนกลาง และภูมิภาค มุ่งเน้นการรู้เท่าทันธุรกิจยาสูบ การตลาดยาสูบรูปแบบใหม่ และพัฒนาให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ปลอดปัจจัยเสี่ยง 4.ส่งเสริมทักษะและความรอบรู้ทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบที่เหมาะสมเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะทักษะการปฏิเสธบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชน มาตรการทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างสังคมปลอดบุหรี่ ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับอากาศสะอาดไร้ควันบุหรี่อย่างแท้จริง

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สาระสำคัญของแถลงการณ์องค์การอนามัยโลกระบุว่า ตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าเติบโตขึ้นมากตั้งแต่ ปี 2561 บุหรี่ไฟฟ้ามีมากถึง 550,000 รูปแบบ มีรสชาติที่ดึงดูดเด็กมากกว่า 16,000 รสชาติ โดยพอตแบบใช้แล้วทิ้งเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นเติบโตขึ้นถึง 116% บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ออกแบบให้มีปริมาณนิโคตินสูง ราคาถูก เข้าถึงง่าย โดยเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 56-64% บอกว่า “ตนเองติดบุหรี่ไฟฟ้า” ทั้งที่บุหรี่ไฟฟ้ายังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการเลิกบุหรี่ และอาจนำไปสู่การติดนิโคตินอย่างต่อเนื่อง โดยบุหรี่ไฟฟ้ามักจะทำการตลาดผ่าน social media และ influencer ทำให้แพร่หลายในกลุ่มวัยรุ่น องค์การอนามัยโลกจึงได้ส่งสัญญาณให้ทุกประเทศเฝ้าระวังสถานการณ์การบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ มีมาตรการห้ามการโฆษณา ส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ ทุกช่องทาง รวมทั้งออนไลน์