~ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ (MFLF) เปิดตัวโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกล ในพื้นที่ปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นความก้าวหน้าในด้านการควบคุมการขยายตัวของป่าเศรษฐกิจ เทคโนโลยีนี้มีบทบาทสำคัญในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและช่วยให้การวัดปริมาณคาร์บอนเครดิตมีความแม่นยำและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีใหม่นี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการพื้นที่ป่าและการเกษตรแล้วยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชนท้องถิ่นอีกด้วย
~ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ สนับสนุนโครงการด้วยการมอบทุนจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งเป้าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้มอบทุนสนับสนุนจำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ (MFLF) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลที่สามารถติดตามการบุกรุกป่าไม้และพัฒนาแบบจำลองที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดและขยายผลในภูมิภาคอื่น ๆ ในขั้นต้นเทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาใช้เพื่อเฝ้าติดตามสังเกตการณ์ไร่กาแฟในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง (DTDP) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาบนที่ราบสูงในจังหวัดเชียงราย โดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะบริหารจัดการไร่กาแฟซึ่งปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ และเฝ้าติดตามการขยายตัวของป่าเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการบุกรุกป่า พร้อมทั้งยกระดับโครงการคาร์บอนเครดิตซึ่งใช้วิธีการทางธรรมชาติ (nature-based carbon credit) ของทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งเป็นโครงการคาร์บอนเครดิตซึ่งใช้วิธีการทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
นางดีปาลี คันนา รองประธาน สำนักงานภูมิภาคเอเชีย มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ กล่าวว่า “การสนับสนุนเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับชุมชนที่อยู่ในแนวหน้าของการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเกิดใหม่ (emerging technology) ความริเริ่มนี้มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน เสริมสร้างความเป็นผู้นำในท้องถิ่น กระตุ้นตลาดคาร์บอนให้มีสีสัน และยกระดับมาตรฐานตลาดคาร์บอนเครดิตให้มีความยั่งยืนโปร่งใส”
ด้วยทุนสนับสนุนนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะพัฒนาแอปพลิเคชันที่ผ่านการทดสอบภาคสนามในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง ซึ่งครอบคลุมหมู่บ้าน 29 แห่งและผู้อยู่อาศัยจำนวน 12,682 ราย แอปพลิเคชันนี้เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการแยกความแตกต่างระหว่างป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์ เนื่องจากต้นกาแฟนั้นมักปลูกใต้ร่มเงา จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันไม่ให้ไร่กาแฟขยายไปสู่เขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งจะเป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ในระยะยาว เทคโนโลยีนี้จะช่วยปกป้องป่าอนุรักษ์ โดยส่งเสริมการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่ทรงคุณค่าในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง นอกจากนี้ ศักยภาพในการคัดแยกระหว่างพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าอนุรักษ์จะช่วยทำให้โครงการคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการพัฒนาดอยตุงนั้นมีความแม่นยำโปร่งใสยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ทีมงานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนที่ปลูกกาแฟเพื่อสนับสนุนการใช้เทคนิคการสำรวจระยะไกลและการพัฒนาโซลูชันที่นำโดยชุมชนเพื่อจุดประสงค์การอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งจะสามารถช่วยลดต้นทุนการพัฒนาโครงการ ยกระดับความพยายามในการอนุรักษ์ป่าไม้ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีแผนที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับชุมชนอื่นๆ นอกพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงเพื่อขยายผลโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ต่างๆ ทั่วประเทศ
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีประสบการณ์มากกว่า 50 ปีในการดำเนินงานด้านการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน รวมถึงการปลูกป่าและการอนุรักษ์ป่า ทั้งนี้ โครงการล่าสุดคือการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ซึ่งช่วยให้ชุมชนขายคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมอนุรักษ์ป่าไม้ โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ โดยโครงการดังกล่าวช่วยกระจายจากภาคเอกชนกว่า 60% สู่ชุมชนโดยตรง ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้จดทะเบียนป่าชุมชนประมาณ 312,500 ไร่กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งเป็นระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิตของประเทศ ทำให้โครงการนี้เป็นโครงการคาร์บอนเครดิตซึ่งใช้วิธีการทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
องค์ความรู้จากการดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ร่วมกับชุมชนในการพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลนี้ จะถูกนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาและในกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้เกิดการขยายผลต่อยอดองค์ความรู้ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ และพืชพันธุ์ชนิดอื่นๆ ทุนสนับสนุนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับองค์กรที่มีความโดดเด่นในด้านความเป็นผู้นำและการสร้างผลกระทบเชิงบวกในการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน อันถือเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างตลาดคาร์บอนที่มีความโปร่งใสและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์มุ่งเน้นการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในด้านอาหาร สุขภาพ พลังงาน และการเงิน เพื่อแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศ การดำเนินงานนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีเกิดใหม่ในการส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงและแข่งขันในตลาดให้กับโครงการหรือความริเริ่มที่นำโดยชุมชนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม
หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ สามารถเยี่ยมชมได้ที่ https://www.maefahluang.org/en/homepage/ และ https://www.rockefellerfoundation.org/