- ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการประกาศพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานทางด้านยาเสพติดในประเทศไทย
- มีการกำหนดให้นำมาตรการลดอันตรายจากยาเสพติด และแนวทางการลดอันตรายจากการใช้ยามาใช้ในการดูแล จัดการ ปัญหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดของประเทศอย่างเป็นทางการ
- และให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันต่อต้านยาเสพติดโลก”
ในปีนี้ พ.ศ. 2567 มูลนิธิรักษ์ไทย ร่วมกับ ภาคประชาสังคม และ หน่วยงานรัฐ จัดงานประชุมสัมมนาเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกประจำปี พ.ศ. 2567 หัวข้อ “จากกฎหมายสู่การปฏิบัติ กับการลดอันตรายจากยาเสพติด” ที่มุ่งเน้นความสำคัญของการลดอันตรายจากยาเสพติดภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดโดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ประชาสังคม และหน่วยงานระหว่างประเทศที่ทำงานด้านยาเสพติด ภายในงานมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย อาทิ นิทรรศการการจัดบริการลดอันตรายจากยาเสพติดโดยหน่วยงานภาคประชาสังคม เวทีเสวนาหลัก หัวข้อ แนวทางตามประมวลกฎหมายยาเสพติด, การลดอันตรายจากยาเสพติด และการมีส่วนร่วมของชุมชน อีกทั้งเสวนาห้องย่อยต่างๆ ในหัวข้อ กลไกการเชื่อมต่อบริการลดอันตรายจากยาเสพติดในระดับท้องถิ่น, Harm Reduction ทางออกของปัญหายาเสพติด, การสื่อสารเพื่อลดอคติในการเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติด ฯลฯ ร่วมด้วยวิทยากรมากมายจากทุกภาคส่วน (วันที่ 25 มิถุนายน 2567 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน ถนน วิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร)
“ด้วยปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติด ยังคงเป็นปัญหาที่มีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของประชาชน รัฐบาลจึงกำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นนโยบายเร่งด่วนในการบริหารราชการ โดยยึดหลัก ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ผู้ค้า คือผู้ที่ต้องได้รับโทษตามกระบวนการยุติธรรม เร่งรัดปราบปรามยาเสพติด และป้องกันไม่ให้กลุ่มเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด โดยใช้การบูรณาการของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม
ประมวลกฏหมายยาเสพติดมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการปรับมุมมองของสังคมในการให้โอกาสผู้เสพกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขภายหลังการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน และลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดและพฤติกรรมของผู้ติดยาเสพติด ตลอดจนการศึกษาค้นคว้า วิจัย และพัฒนาแนวทางและมาตรการในการบำบัดรักษาทุกรูปแบบให้มีประสิทธิภาพ ร่วมถึงส่งเสริมการให้บริการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด(Harm reduction)” นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
สำหรับการประชุมสัมมนาเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลกประจำปี พ.ศ. 2567 ในหัวข้อ เรื่อง “จากกฎหมายสู่การปฏิบัติจริง กับการลดอันตรายจากยาเสพติด” แบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่ นิทรรศการและเยี่ยมชมการจัดบริการลดอันตรายจากยาเสพติด โดย หน่วยงานภาคประชาสังคม และเวทีเสวนา หัวข้อ เรื่อง “แนวทางตามประมวลกฎหมายยาเสพติด การลดอันตรายจากยาเสพติด และการมีส่วนร่วมของชุมชน” ผู้ร่วมเวทีเสวนา โดย นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี Ms. Karen Peters Regional Drug and Health Programme Officer – United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) นางสาวพัชริดา วรพงษ์ดี จิตอาสาและผู้มีประสบการณ์ดำเนินรายการ โดย นาย กฤษดากร สอทอง มูลนิธิรักษ์ไทย
จากนั้นช่วงบ่ายเป็นเสวนาห้องย่อย แบ่งเป็น ห้องย่อยที่ 1 หัวข้อ เรื่อง “กลไกการเชื่อมต่อบริการลดอันตรายจากยาเสพติดในระดับท้องถิ่น” โดย วิทยากรผู้ร่วมเวที พันตำรวจเอกพิเชษฐ์ กันทาส้ม ผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 3 กองบังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 9 สิบเอก เชาว์พิชาญ เตโช นักจิตวิทยาชำนาญการ สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร นายยุทธชัย บูทะ ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ต.แม่ทะลบ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ นางสาวสุพรรณี มาเยอะ กลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง จ.เชียงราย ดำเนินรายการ โดย นายณัฐพล วีระพัฒนวงศ์ กลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคมห้องย่อยที่ 2 หัวข้อเรื่อง Harm Reduction ทางออกของปัญหายาเสพติด โดย วิทยากรผู้ร่วมเวที นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดบรมราชชนนี นางสาวเกศรา สุขทรัพย์สิน สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กทม. นายพรหมมินทร์ กิตติคุณประเสริฐ กลุ่มมอบความหวัง จ.ตาก ดำเนินรายการ โดย นางสาวซูฮายนงค์ สมาเฮาะ กลุ่ม Care Team Songkhla ห้องย่อยที่ 3 หัวข้อเรื่อง “การสื่อสารเพื่อลดอคติในการเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติด” โดย วิทยากรผู้ร่วมเวที นายทายาท เดชเสถียร และ นายพิศาล แสงจันทร์ รายการไหนพาปัง นายจตุรงค์ สุขเอียด บรรณาธิการข่าว 3 มิติ นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวอิสระ นางสาวธนานุช สงวนศักดิ์ ผู้สื่อข่าวอิสระ ดำเนินรายการ โดย นางสาวณรดา ปุยจัตุรัส มูลนิธิเอ็มพลัส
ด้านภาคประชาสังคมที่เข้าร่วม อาทิ นางสาว ซูฮายนงค์ สมาเฮาะ กลุ่ม Care Team Songkhla กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการทำงานลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดในพื้นที่ คือการสร้างมุมมองทัศนคติเกี่ยวกับยาเสพติดแบบตรงไปตรงมากับผู้เกี่ยวข้องในระดับการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การรับฟัง ไม่ตัดสิน ทำความเข้าใจร่วม เปิดใจ พูดคุยอย่างสร้างสรรค์ สร้างกลไกสะท้อนปัญหาจากกลุ่มเป้าหมาย บูรณาการร่วม หน่วยงาน ภาคี ความร่วมมือ ชุมชน ผู้ปกครอง ต่อกลุ่มผู้ใช้สารเสพติด Care Team ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆในจังหวัดสงขลาจนเกิดการดำเนินงานร่วมกันในพื้นที่ เปิดศูนย์บริการสารทดแทนอนุพันธ์ฝิ่น(เมทาโดน) เกิดการดำเนินงานร่วมทุกภาคส่วนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในเป้าหมายเดียวกัน สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างการเปลี่ยนแปลง เกิดการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดกับผู้ใช้สารเสพติดทั้งที่พร้อมและไม่พร้อมจะหยุดใช้ยาได้อย่างปลอดภัย เช่นคำพูดหนึ่งจากเจ้าของปัญหา ได้รับโอกาสเข้ามาทำงานที่มีใจอยากช่วยเหลือเพื่อนที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน “เมทาโดนได้รับ เฮโรอีนไม่ใช้ เงินมีเหลือใช้ คุณภาพชีวิตดีขึ้น ครอบครัว ชุมชนให้การยอมรับ”
นาย พรหมมินทร์ กิตติคุณประเสริฐ ผู้จัดการกลุ่มมอบความหวัง ผลของนโยบายกฎหมายยาเสพติด ต่อการทำงาน กระบวนการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด ช่วยทำให้ผู้ใช้สารเสพติด ได้รับข้อมูลของยาเสพติดอย่างรอบด้าน เกิดความเข้าใจ ได้รับการเตรียมความพร้อม จากอาสาสมัครภาคประชาสังคม จนมีผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดยาเสพติดมากขึ้น อยู่ในระบบการบำบัดยาเสพติดได้ต่อเนื่องขึ้น จนมีผู้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงบวก และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น” “นโยบายกฎหมายยาเสพติด ที่มีการกำหนดรูปแบบการบำบัดยาเสพติด โดยแนวทางการลดอันตรายจากยาเสพติดนั้น ทำให้แนวคิด “ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย” ได้รับการปฏิบัติที่เป็นจริงมากขึ้น การจับกุมผู้ใช้ยาที่ไม่มีของกลางยาเสพติดในตัว จะถูกส่งต่อเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาล ซึ่งมีกระบวนการการคัดกรองว่า เป็นผู้เสพ ผู้ติด หรือผู้พึ่งพิง ประเมินอาการ ประเมินตัวยาที่ใช้ ประเมินสุขภาพ และใช้รูปแบบการบำบัด รักษา ที่เหมาะสมกับผู้ใช้ยาแต่ละราย ”