เข้ม ข้น ขึงขัง เข้ามาเรื่อยๆ สำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ นั่งแป้นเป็นประธาน นอกจากจะมีข้อสังเกตถึงที่มาของวุฒิสมาชิก (ส.ว.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส) และที่มาของนายกรัฐมนตรีที่หลายฝ่ายท้วงติงกันแล้วยังมีเรื่องที่ “น่าจับตา” ยิ่งกว่า..
โดยเฉาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ เห็นจะเป็น “ข้อเสนอและความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) 16ข้อ ที่ให้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แบ่งช่วงบังคับใช้รัฐธรรมนูญ เป็น 2 ช่วง คือ “ช่วงเฉพาะกิจ” เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และช่วงใช้ “รัฐธรรมนูญปกติ”
ข้อเสนอแนะ ของ ครม. ให้เหตุผลว่าขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญจำนวนมาก เป็นความไม่วางใจและไม่แน่ใจในระบบและตัวบุคคลที่จะเข้าสู่ระบบ อาจทำให้บ้านเมืองเกิดความโกลาหลและไม่สงบเรียบร้อย เข้าสู่ภาวะรัฐที่ล้มเหลวดังเช่นก่อนเดือน พ.ค. 2557ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดิน การสร้างความสามัคคี การสร้างความปรองดอง และการปฏิรูปประเทศสะดุดล้มเหลว ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ และความเป็นความตายของประเทศ
ข้อเสนอดังกล่าว นี้ถูกมองว่าเส้นทางนี้จะไปสู่การเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” และต้องจับตาดูว่า “เผือกร้อน” นี้เมื่อตกอยู่ในมือของกรธ.แล้ว จะมีการรับไม้ต่อกันอย่างไร หากกรธ.กล้าดันข้อเสนอนี้ จะตัดต่อพันธุกรรมแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไปจนสุดซอยอย่างไร จะมี “พิมพ์เขียว” จาก “ท็อปบู๊ท” โผล่กลางปล้องหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่หลาย ฝ่ายจับตามองเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่จะใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ และการเสนอร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ให้รัฐบาลบริหารประเทศ ให้สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และถูกขนานนามเป็น “อำนาจที่ 6”
ร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับมีชัย” เขียนไว้ว่า “รัฐพึงจัดให้มีแผนยุทธศาสตร์แห่ง ชาติ” เป็น เป้าหมายการพัฒนาประเทศและเป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆให้สอดคล้องและ บูรณาการ และให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน น่าสังเกตว่าใช้คำว่า “รัฐพึง” ไม่ใช่ “รัฐต้อง” เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แสดงว่ารัฐจะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่รายงานข่าวดูเหมือนจะ “บังคับ”
หมายความว่ารัฐบาลต่อๆ ไปใน อนาคต จะต้องบริหารประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจากที่คสช.วางเอาไว้ รัฐบาลใดฝ่าฝืนอาจจะได้รับโทษ ฐานจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ถึงขั้น “ถูกถอดถอน”
ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดให้มี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” จำนวน 25 คน ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ อีก 22 คนที่ต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านหนึ่งด้านใดไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือเป็นผู้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ ระดับกรม รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ไม่น้อยกว่า 2 ปีติดต่อกันหรือเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า พล.ท. พล.ร.ท. พล.อ.ท. พล.ต.ท. ไม่น้อยกว่า 2 ปี
สำหรับผู้ที่เข้ามานั่งใน ตำแหน่งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะมีวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี มาจากการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการสรรหาจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งจากปลัดกระทรวงกลาโหม, ผบ.สส.,และ ผบ.เหล่าทัพ โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องพิจารณาผลประโยชน์ชาติ และให้ประธานกรรมการฯ เสนอยุทธศาสตร์ชาติต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 20 ปี และอาจจะพิจารณาทบทวนทุก 5ปี หรือเมื่อมีสถานการณ์กระทบต่อวัตถุประสงค์หลักตามยุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็น นัยสำคัญ
นอกจากนั้นยังมีการกำหนดให้การจัดทำและการดำเนินนโยบายหรือ แผนงานของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งหน่วยงานและองค์กรของรัฐ “ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติตามพ.ร.บ.ฉบับนี้” และยุทธศาสตร์ชาติจะมี “ผลผูกพันรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีทุกสมัย” พร้อมทั้งต้องกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากร ทบทวนและปรับปรุงยุทธศาสตร์ได้ทุก 5 ปี
เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการ “เปิดช่อง”ให้ “บิ๊กทหาร” เข้ามานั่งในตำแหน่งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้แบบโจ่งแจ้งซึ่งทำให้หลายฝ่าย มองว่าเป็นการ “สืบทอดอำนาจ” หรือ “ต่อท่ออำนาจ” ให้ คสช.ในการควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต่อไปในอนาคต
แน่นอนว่า ย่อมมีเสียงคัดค้าน โดยเฉพาะจากนักการเมืองที่ไม่เห็นด้วย อาทิ “นายองอาจ คล้ามไพบูลย์” รอง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มองว่าข้อเสนอแนะของครม.ที่แนะนำให้แบ่งช่วงการใช้รัฐธรรมนูญและการจัด ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาตินั้นจะมองเป็นอย่างอื่นไมได้ นอกจากว่า ครม.และคสช.พยายามวางกลไกเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” หรืออยู่ยาวในรูปแบบพิเศษต่างๆ ที่วางกลไกไว้ รวมไปถึงคนกันเองอย่าง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีสปท.บางคนออกมาคัดค้านการตั้ง “กฎเหล็ก” 20 ปี เพราะปิดกั้น “สติปัญญา” ของผู้ที่มาจากเลือกตั้ง และเสรีภาพประชาชน
แต่ฮือฮามากก็เห็นจะเป็นความเห็นจากอดีตคนกันเอง ของคสช.-รัฐบาลอย่าง “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อดีตประธาน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “เรือแป๊ะ” ที่ถูกคว่ำไปออกมาตีแสกหน้า “บิ๊ก คสช.” ว่าทำไมจึงต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เพราะ “อยากอยู่ยาว” พร้อมกับกล่าวในทำนองว่าที่ผ่านมามีรายการ “ล้วงลูก” ในการร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด โดยเฉพาะ “ที่มาที่ไป” ของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการ ปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ที่ลอยมาตาม “ใบสั่ง” จนทำให้ “ร่างรธน.ฉบับบวรศักดิ์” ต้องร่วงไม่เป็นท่า
ที่ สำคัญกลายเป็นช่องให้ “คนแดนไกล” ที่ไม่รู้ว่าวันนี้สถานะของเขากลายเป็น “ศัตรูหมายเลข1” ของผู้กุมอำนาจรัฐหรือไม่ ได้จังหวะออกมากระตุหนวดเสือ โดยระบุว่า การร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นแค่การ “จัดฉาก” กับชาวโลกว่า ประเทศไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยประเทศไทยจะเป็นเหมือนประเทศเมียนมาก่อน การปฏิรูปทางการเมือง อำนาจที่แท้จริงจะอยู่กับองค์กรแบบ “โปลิตบูโร” เหนือรัฐบาล และเศรษฐกิจจะตกต่ำ พร้อมกับย้ำว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน ประเทศไทยจะเดินถอยหลัง!
แน่นอนว่า ผู้กุมอำนาจในประเทศไทยวันนี้ เรียงหน้าออกมาตอบโต้ ที่ปากจะออกมาบอกว่า “นายทักษิณ” นั้นก็แค่ “นักโทษหนีคดี” คำพูด คำจา ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีความหมาย แต่ลึกๆแล้วคง “เต้น” กันเป็นแถว แม้จะส่งบรรดาลิ่วล้อออกมาแก้ข่าวว่าคสช.และรัฐบาลไม่อยากอยู่ยาว
แต่เชื่อเถอะ คำโบราณที่ว่า “ไม่มีไฟ ย่อมไม่มีควัน” น่าจะยังใช้ได้กับสถานการณ์การเมืองของไทยในยามนี้!!