ลอบสังหารผู้นำฮามาส หนี้เลือดที่อิหร่านต้องตอบโต้ หลีกเลี่ยงไม่ได้!

    ผู้นำฮามาส และผู้นำอิสลามิกญิฮาด เข้าพบผู้นำสุงสุดอิหร่าน

    การลอบสังหาร “อิสมาอิล ฮานิยะห์” ผู้นำของขบวนการฮามาสกลางกรุงเตหะราน กลายเป็นเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้ตะวันออกกลางเข้าสู่ความตึงเครียดอย่างรุนแรงอีกครั้ง

    สำนักข่าวฟาร์ส ในเครือกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน หรือ IRGC รายงานว่า ฮานิยะห์ถูกสังหารพร้อมกับบอดี้การ์ดของเขาเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. เวลาอิหร่าน (05.30 น. ตามเวลาไทย) ในวันพุธที่ 31 ก.ค. ที่ “บ้านพักพิเศษสำหรับทหารผ่านศึกทางตอนเหนือของกรุงเตหะราน” เมืองหลวงอิหร่าน

    ผู้นำของขบวนการฮามาสเดินทางไปยังอิหร่านเพื่อเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ของ “นายมาซูด เพเซซกียอน” ปกติฮานิยะห์อาศัยอยู่ที่กาตาร์แต่เขาเดินทางไปอิหร่านบ่อยครั้ง

    รายงานจากอิหร่านระบุว่า ฮานิยะห์เสียชีวิตจาก “กระสุนปืนนำวิถีทางอากาศ” ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าหมายถึงขีปนาวุธที่ยิงจากเครื่องบินหรือโดรนที่บรรจุวัตถุระเบิด สื่อของรัฐอิหร่านและช่องทางโซเชียลมีเดียไม่มีการเผยแพร่ภาพที่แสดงถึงผลพวงของการโจมตี ทำให้ยังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจน

    อิหร่านกำลังอยู่ในห้วงใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด เนื่องจากพิธีเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ “มาซูด เพเซซกียอน” ดังนั้นเหตุการณ์ลอบสังหารนี้จึงเผยให้เห็นจุดอ่อนที่สำคัญภายในหน่วยงานรักษาความมั่นคงของสาธารณรัฐอิสลาม

    ชาวอิหร่านจำนวนมากบนโซเชียลมีเดียได้แสดงความคิดเห็นเน้นย้ำถึงความอ่อนแอที่เห็นได้ชัดของรัฐบาลอิหร่านในการปกป้องแขกต่างชาติระดับสูงของตนเอง

    การตอบโต้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของอิหร่าน

    การลอบสังหารผู้นำฮามาสกลางกรุงเตหะรานไม่เพียงแต่เป็นการโจมตีต่อบุคคลสำคัญของขบวนการต่อต้านอิสราเอล แต่ยังเป็นการแสดงถึงการละเมิดบูรณภาพและศักดิ์ศรีของอิหร่านในระดับสูงสุด ดังนั้น เตหะรานจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการตอบโต้ได้ด้วยเหตุผลหลายประการ ดังนี้:

    1.การเสียหน้าในระดับระหว่างประเทศ: การที่ผู้นำฮามาสถูกลอบสังหารในกรุงเตหะรานแสดงถึงความอ่อนแอและความล้มเหลวของระบบรักษาความปลอดภัยของอิหร่าน ซึ่งเป็นการเสียหน้าที่รุนแรงทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ อิหร่านจึงจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและการตอบโต้เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ของตน

    2.การรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของชาติ: ผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้กล่าวชัดเจนว่าการลอบสังหารฮานิเยห์เป็นการละเมิดความเป็นอธิปไตยของอิหร่านและเป็นการท้าทายศักดิ์ศรีของชาติ การตอบโต้จึงเป็นวิธีการที่อิหร่านจะปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง

    3.การรักษาความเชื่อมั่นของพันธมิตรและแนวร่วมต่อต้าน: อิหร่านเป็นผู้นำในแนวร่วมต่อต้านอิสราเอล การไม่ตอบโต้จะทำให้เสียความเชื่อมั่นจากพันธมิตรและกลุ่มต่อต้านต่างๆ เช่น ฮิซบุลเลาะห์ ซึ่งอาจนำไปสู่การเสื่อมสภาพของแนวร่วมและลดทอนอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาค

    4.การตอบสนองต่อการยั่วยุของอิสราเอล: การลอบสังหารครั้งนี้เป็นการยั่วยุที่อาจส่งผลให้เกิดการตอบโต้ทางทหาร อิหร่านจึงต้องตอบสนองด้วยการใช้กำลังเพื่อปกป้องตนเองและส่งสัญญาณชัดเจนว่าอิสราเอลจะต้องเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงหากยังคงดำเนินการยั่วยุต่อไป

    5.แรงกดดันจากภายในประเทศ: ประชาชนอิหร่านจำนวนมากแสดงความไม่พอใจและตั้งคำถามถึงความสามารถของรัฐบาลในการปกป้องแขกต่างชาติ การตอบโต้จะช่วยลดแรงกดดันและความไม่พอใจจากประชาชน และแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของรัฐบาลในการรับมือกับการโจมตี

    ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ อิหร่านจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการตอบโต้ได้ เนื่องจากเป็นการรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของชาติ ความเชื่อมั่นจากพันธมิตร และการตอบสนองต่อการยั่วยุจากอิสราเอลอย่างเหมาะสม

    ปฏิกิริยาของผู้นำอิหร่าน

    ปฏิกิริยาจากอิหร่านนั้นได้แสดงออกมาชัดเจนมากผ่านผู้นำในระดับต่างๆ

    มัสอูด เพเซซกียอน ประธานาธิบดีคนใหม่ของอิหร่านทวีตข้อความว่า “เมื่อวานนี้ ข้าพเจ้าได้ยกมือแห่งชัยชนะของเขาขึ้นมา แต่วันนี้ข้าพเจ้าต้องนำเขาไปสู่สุสานบนบ่าของข้าพเจ้า” พร้อมทั้งประกาศว่า “สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านจะปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน เกียรติ และศักดิ์ศรีของตน และทำให้ผู้รุกรานผู้ก่อการร้ายเสียใจกับการกระทำที่ขี้ขลาดของพวกเขา”

    ด้านผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ซัยยิด อาลี คาเมเนอี ได้แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของฮานิเยห์ เขาระบุว่า การสังหารครั้งนี้เป็นการเปิดทางไปสู่การลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้กระทำ

    “เราถือว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องแก้แค้นเลือดของเขาในเหตุการณ์อันขมขื่นและยากลำบากนี้ที่เกิดขึ้นในดินแดนของสาธารณรัฐอิสลาม” ผู้นำสูงสุดของอิหร่านย้ำ

    ขณะที่แถลงการณ์ฉบับที่ 2 ของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) เกี่ยวกับการลอบสังหารฮานิยะห์ ระบุว่า “อาชญากรรมของระบอบไซออนิสต์จะต้องเผชิญการตอบโต้ที่รุนแรงและเจ็บปวดจากแนวรบของขบวนการต่อสู้อิสลามที่ทรงพลังและยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน”

    การประเมินจากนักวิเคราะห์ระหว่างประเทศ

    ตามรายงานของนิวยอร์กไทมส์ หลังเหตุการณ์ลอบสังหารฮานียะห์ สภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่านได้จัดการประชุมฉุกเฉินที่บ้านพักของผู้นำสูงสุดของประเทศ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักและจะเกิดขึ้นเฉพาะในสถานการณ์พิเศษเท่านั้น

    มิดเดิลอีสต์อาย ตั้งข้อสังเกตว่า “การสังหารฮานียะห์อาจถือได้ว่าเป็นความอับอายครั้งใหญ่สำหรับเตหะราน และเสี่ยงต่อการที่สาธารณรัฐอิสลามจะตอบโต้ต่ออิสราเอล”

    แลร์รี จอห์น สัน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองซีไอเอ (CIA) และเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสปุตนิก สื่อรัสเซีย ว่า การลอบสังหารฮานียะห์อย่างโจ่งแจ้ง อาจเป็นการข้ามเส้นแดง ที่บังคับให้อิหร่านต้องตอบโต้

    “นี่เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง […] การโจมตี [ฮานียะห์] ครั้งนี้โจ่งแจ้งมากจนผมไม่คิดว่าอิหร่านหรือกลุ่มฮิซบอลเลาะห์จะยับยั้งชั่งใจได้เลย ผมเชื่อว่านี่อาจเป็นการข้ามเส้นแดง ซึ่งน่าเป็นห่วงมากเพราะอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ และตอนนี้เราก็อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรอคอยและดูกันต่อไป” จอห์นสันเน้นย้ำ

    การลอบสังหารผู้นำฮามาสกลางกรุงเตหะรานสะท้อนถึงความอ่อนแอในระบบความปลอดภัยของอิหร่าน และเป็นการท้าทายความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามเหตุการณ์นี้บังคับให้อิหร่านตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการตอบโต้ได้ ซึ่งอาจรุนแรงเกินกว่าที่เคยเกิดขึ้นหลังการโจมตีกงสุลอิหร่านในซีเรียเมื่อเดือนเมษายน อันจะทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคตึงเครียดมากยิ่งขึ้น เพิ่มความไม่แน่นอนและเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งในวงกว้าง

     

    โต๊ะข่าวต่างประเทศ, เดอพับลิกโพสต์ : รายงาน