หนึ่งในยุทโธปกรณ์สำคัญที่สหรัฐอเมริกาเลือกใช้ในปฏิบัติการสงครามต่อต้านการก่อการร้ายตลอดทศวรรษที่ผ่าน คือ อากาศยานรบไร้นักบิน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โดรน” (Drone) ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และสร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อโลกมุสลิมที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง สหรัฐเริ่มใช้โดรนหรือการโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายฝ่ายตรงข้ามใน อัฟกานิสถานมาตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9/11 ในยุคของอดีตประธานาธิบดี “จอร์จ ดับเบิลยู บุช” และใช้ถี่ขึ้นในสมัยของประธานาธิบดี “บารัก โอบามา” นอกจากสหรัฐแล้ว ยังมีอังกฤษกับอิสราเอล ที่นิยมใช้โดรนเพื่อการโจมตีทางอากาศนอกอาณาเขตของตัวเอง ทำให้ปัจจุบันปฏิบัติการโจมตีเช่นนี้ได้แพร่ขยายไปในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในอิรัก ปากีสถาน เยเมน อียิปต์ บอสเนีย เซอร์เบีย โซมาเลีย ซูดาน ลิเบีย หรือแม้แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฟิลิปปินส์
ความจริงเรื่องอากาศยานไร้คนขับไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ก็เริ่มมีการพัฒนากันเรื่อยมาเพื่อเอามาใช้ในการสอดแนมและสำรวจพื้นที่เสีย เป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยจุดเด่นที่ทำให้ลดการสูญเสียนักบิน ใช้ระบบที่ไม่ซับซ้อนมากนัก มีขนาดเล็กคล่องตัวสูง และทำการตรวจจับได้ยาก จึงมีการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับที่ทันสมัยขึ้น และใช้ในภารกิจที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การค้นหาเพื่อชี้เป้าโจมตีทางอากาศ การสำรวจพลังงานและทรัพยากร ฯลฯ ต่อมาจึงพัฒนาเป็นโดรนที่ใช้ในภารกิจจู่โจมทางอากาศด้วยขีปนาวุธ ซึ่งเพิ่งถูกนำมาใช้จริงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง
“โดรน” ผงาดขึ้นเป็นเพชฌฆาตทางอากาศที่สำคัญในหลายสมรภูมิในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะในตะวันออก กลางและเอเชียใต้ โดยสหรัฐอ้างว่าที่ผ่านมาโดรนได้สังหารแกนนำกลุ่มก่อการร้ายโดยเฉพาะกลุ่ม อัลกออิดะห์ไปแล้วหลายราย แต่ในขณะเดียวกันยังมีข้อถกเถียงถึงผลกระทบและชีวิตทรัพย์สินในแง่ของ สัดส่วนความสูญเสียที่เกิดขึ้น อันสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมและลักษณะของการโจมตี ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์ หรือแม้กระทั่งกลุ่มติดอาวุธที่ถูกสังหารโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม
จากแนวโน้มของการใช้โดรนและผลกระทบที่เพิ่มสูงขึ้น สหประชาชาติ (UN) ได้แสดงความวิตกกังวลและเริ่มให้ความสนใจในประเด็นนี้มากขึ้น โดยเฉพาะจะเห็นได้ว่าในรายงานหลายชิ้นของยูเอ็น ระบุว่าปฏิบัติการดังกล่าวของสหรัฐเป็นเรื่องท้าทายกฎหมายระหว่างประเทศ และอาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม ซึ่งยูเอ็นกำลังเร่งตรวจสอบและหาข้อสรุปเพื่อนำไปสู่ความชัดเจนว่าด้วยความ ชอบธรรมภายใต้หลักการสากล
ปฏิบัติการโจมตีในประเทศต่างๆ
นับจากศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ปฏิบัติการโจมตีของโดรนได้ขยายวงกว้างและถี่มากยิ่งขึ้นในประเทศต่างๆ ในหลายๆภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ แอฟริกา หรือแม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนใหญ่เป็นปฏิบัติการที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศเป้าหมาย ยกเว้นกรณีของฟิลิปปินส์ ที่รัฐบาลยอมให้กองทัพสหรัฐเข้ามาปฏิบัติการ
การโจมตีในอัฟกานิสถาน
จากเหตุการณ์ 9/11 ทำให้อัฟกานิสถานเป็นประเทศแรกๆ ที่ถูกโดรนของสหรัฐโจมตีอย่างเปิดเผย เพื่อโจมตีโค่นล้มรัฐบาลตอลิบัน และไล่ล่ากลุ่มอัลกออิดะห์ของนายอุซามะห์ บินลาเดน นอกจากสหรัฐแล้ว กองกำลังของอังกฤษในอัฟกานิสถาน ก็นำโดรนมาใช้โจมตีในลักษณะเดียว
จากรายงานของกองทัพอากาศสหรัฐ ระบุว่าในปี 2012 สหรัฐได้ใช้ โดรนโจมตีในอัฟกานิสถานกว่า 333 ครั้ง เฉลี่ยแล้ว 33 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นสูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ หรือ 294 ครั้งในปี 2011 และ 278 ครั้งในปี 2010 ทำให้อัฟกานิสถานในปี 2012 กลายเป็นพื้นที่ๆ ถูกโดรนโจมตีทางอากาศมากที่สุดในโลก ในขณะที่ปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรนของอังกฤษก็มียอดจำนวนครั้งที่สูงเช่นกัน โดยกองทัพอากาศของราชอาณาจักรอังกฤษ รายงานว่า ตั้งแต่อังกฤษเริ่มใช้โดรนในอัฟกานิสถานจนถึง 1 มีนาคม 2012 ปฏิบัติการไปแล้ว 248 ครั้ง ในจำนวนนี้มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดของการโจมตีเพียง 99 ครั้ง หรือร้อยละ 40 ที่เหลือถูกปกปิดเป็นความลับ
ทั้ง การโจมตีของสหรัฐและอังกฤษ ถูกสหประชาชาติตรวจสอบถึงความชอบธรรมและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพลเรือนซึ่งพบ ว่าปฏิบัติการที่ผ่านมาทำให้พลเรือนทั้งเด็กและสตรีจำนวนมากเสียชีวิต ปฏิบัติการเหล่านี้อาจขัดกับหลักมนุษยธรรมและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่าง ประเทศ
การโจมตีในปากีสถาน
ปฏิบัติการโจมตีของสหรัฐในปากีสถานเกิดขึ้นบ่อยครั้งและหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางกระแสความไม่พอใจของชาวปากีสถาน โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริสุทธิ์ ในขณะเดียวกันอดีตประธานาธิบดีปากีสถานในขณะนั้นหรือ “พลเอกมุชาร์ราฟ” ก็ไม่ได้แสดงการคัดค้านอย่างจริงจัง เนื่องจากตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐและจำเป็นต้องพึ่งพิงมหาอำนาจในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้เชื่อกันว่าปฏิบัติการโจมตีของโดรน เป็นผลมาจากข้อตกลงลับระหว่างรัฐบาลอิสลามาบัดในสมัยมุชาร์ราฟกับสหรัฐ
ปฏิบัติการในปากีสถานมีความถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นปฏิบัติการรายวันตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดีบุช และหนักมากขึ้นเรื่อยๆในสมัยของโอบามา โดยเฉลี่ย 3-4 ครั้งต่อวัน โดยเฉพาะในปี 2010 ถูกเรียกว่า “ปีแห่งการถูกโดรนถล่ม” (The Year of Drone Attacks)
ข้อมูล จาก Brokers Institute รายงานว่า อัตราส่วนของพลเรือนที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการโดรนนั้นสูงกว่าสมาชิกกลุ่ม ก่อการร้ายมาก และจากงานวิจัยก็ชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2005-2010 มีคนเสียชีวิตจากปฏิบัติการดังกล่าวทั้งสิ้น 2,043 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
การโจมตีในอิรัก
โดรนเริ่มเข้ามาปฏิบัติการในอิรักตั้งแต่ปี 2003 เป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการโค่นล้ม “ซัดดัม ฮุสเซ็น” ซึ่งหลังยึดครองอิรักสำเร็จ สหรัฐยังคงใช้โดรนในสมรภูมินี้อย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีกลุ่มติดอาวุธที่จงรักภักดีต่อซัดดัม เดินหน้าต่อต้านการยึดครองของสหรัฐ ปฏิบัติการโจมตีของโดรนเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปี 2006 –2008 ก่อนที่จะลดลงเป็นลำดับเนื่องจากสหรัฐได้เริ่มถอนทหารออกจากอิรักและเป็น ช่วงเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีในสหรัฐ โดยในปี 2009 มีเพียง 4 ครั้ง ปี 2010 ไม่มีการโจมตีเลย ส่วนปี 2011 มีเพียง 1 ครั้ง
การโจมตีในเยเมน
สหรัฐ เริ่มใช้โดรนโจมตีในเยเมนตั้งแต่ พฤศจิกายน 2002 โดยมีเป้าหมายการโจมตีคือยานพาหนะที่คาดว่ามี นาย Qaed Senyan Abu Ali al-Harithi แกนนำอัลกออิดะห์อยู่ภายใน การจูโจมส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอีก 5 คน รวมทั้งพลเรือนอเมริกัน ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์ ทั้งนี้การโจมตีในเยเมนไม่ปรากฏเป็นข่าวมากนัก จนกระทั่งมาถึงปรากฏการณ์ Arab Spring ซึ่งทำให้หลายเมืองทางตอนใต้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธ สหรัฐจึงตัดสินใจเปิดฉากโจมตีในพื้นที่เป้าหมายหลายแห่งในเยเมนตั้งแต่กลาง ปี 2011 เป็นต้นมา โดยพุ่งเป้าโจมตีกลุ่มอัลกออิดะห์ในคาบสมุทรอาระเบียและกลุ่ม Ansar al-Sharia ท่ามกลางความไม่พอใจของประชาชนชาวเยเมน
การโจมตีในลิเบีย
กรณีการโจมตีในลิเบียมีเป้าหมายที่ต่างออกไปจากกรณีอื่น สหรัฐพุ่งเป้าโจมตีไปที่กองกำลังของกัดดาฟี โดยอ้างเหตุผลความชอบธรรมด้านมนุษยธรรมที่สหรัฐมองว่าต้องเข้าสนับสนุนฝ่าย ต่อต้านที่กำลังถูกกองกำลังของกัดดาฟีถล่มอย่างหนักและมีคนเสียชีวิตเป็น จำนวนมาก ปฏิบัติการทางทหารในลิเบียนอกจากสหรัฐแล้วยังมีนาโต้ อังกฤษ และฝรั่งเศสที่มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการโจมตีทางอากาศ ซึ่งมีรายงายว่าทำให้ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากทั้งสตรีและเด็ก
กรณีของลิเบียเป็นกรณีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่มาพร้อมกับกระแส Arab Spring ในภาวะของสงครามกลางเมืองที่ยากต่อการเข้าถึงข้อมูลสถิติจำนวนครั้งของการ โจมตีที่ชัดเจน ทั้งนี้ จากข้อมูลบางแหล่งแสดงตัวเลขที่น่าตกใจโดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าภายในระยะ เวลาจากเดือน เมษายน (เริ่มมีโดรนโจมตี) – ตุลาคม 2011 มีการใช้โดรนโจมตีในลิเบีย 145 ครั้ง ซึ่งในรายงานชิ้นเดียวกันได้ระบุว่ามันเป็นสถิติที่สูงกว่าในปากีสถานเสีย อีก โดยในปีนั้นทั้งปีมีการใช้โดรนโจมตีในปากีสถาน 57 ครั้ง
การโจมตีในโซมาเลีย
การโจมตีในโซมาเลีย สหรัฐ มีเป้าหมายอยู่ที่กลุ่ม Al- Shabab ซึ่งควบคุมพื้นที่ทางส่วนใหญ่ทางใต้ของประเทศ ทั้งนี้ปฏิบัติการโดรนในพื้นที่นี้มักไม่ค่อยถูกเปิดเผยมากนัก แต่ข้อมูลจาก The Bureau of Investigative Journalism ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2007-2013 มีการใช้โดรนโจมตีราว 3-9 ครั้ง
การโจมตีในปาเลสไตน์
ในกรณีปาเลสไตน์มีลักษณะเฉพาะ เนื่องจากเป็นการโจมตีโดยอิสราเอลที่พุ่งเป้าไปที่กลุ่มฮามาสและกลุ่มติด อาวุธในพื้นที่โดยเฉพาะในฉนวนกาซา ที่สำคัญคือเป็นการโจมตีที่ไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม หลายครั้งอิสราเอลโจมตีเข้าไปยังพื้นที่ที่เป็นแหล่งชุมชนอย่างเปิดเผย ศูนย์สิทธิมนุษยชนปาเลสไตน์ (Palestinian Center for Human Rights) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2006 – 2011 เฉพาะปฏิบัติการการโจมตีทางอากาศด้วยโดรนของอิสราเอลในฉนวนกาซา ทำให้คนปาเลสไตน์เลียชีวิตไปแล้ว 825 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
ใน ช่วงเดือนตุลาคม 2012 ระหว่าง 8 วัน ของปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในการโจมตีปาเลสไตน์ ภายใต้รหัส Operation Pillars of Defence องค์กร Human Rights Watch รายงานว่าอิสราเอลได้โจมตีปาเลสไตน์ทางอากาศ 18 ครั้ง ในจำนวนนี้อย่างน้อย 7 ครั้งเป็นปฏิบัติการของโดรน ทำให้พลเรือนเสียชีวิต 43 คน เป็นเด็ก 12 คน ซึ่งทาง Human Right Watch มองว่าเป็นการละเมิดกฎหมายสงคราม (laws of war)
การโจมตีในอียิปต์
กรณีของอียิปต์ถูกโจมตีโดยโดรนของอิสราเอลเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2012 บริเวณชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือซีนาย (Sinai) 15 กิโลเมตรจากพรมแดนอิสราเอล ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อิสราเอลล้ำเข้ามาโจมตีทางอากาศในอียิปต์ โดยมีเป้าสังหารคือนาย Ibrahim Owida Madan นักรบท้องถิ่นชาวเบดูอิน ในขณะที่เขากำลังขับขี่รถจักรยานยนต์ เพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการลอบยิงขีปนาวุธในเมือง Eilat ของอิสราเอลเมือปี 2011
การโจมตีในซูดาน
ประเทศซูดานถูกโดรนโจมตีมาตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งเป็นการโจมตีโดยอิสราเอล ที่พุ่งเป้าโจมตีไปที่พาหนะลำเลียงอาวุธ ที่ทางการอิสราเอลเชื่อว่าเป็นของอิหร่านที่ส่งต่ออาวุธเหล่านี้ไปยัง ปาเลสไตน์ผ่านซูดาน ครั้งล่าสุดถูกโจมตีคลังอาวุธในเมืองหลวง Khartoum ในช่วงปลายปี 2012 ทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์กว่า 200 ตัน เพราะเชื่อว่าอาวุธเหล่านี้จะถูกลำเลียงเข้าไปในกาซา เหตุการณ์นี้ทำให้ซูดานไม่พอใจเป็นอย่างมากและเรียกร้องให้ UN ประณามอิสราเอล
การโจมตีในฟิลิปปินส์
กรณี ในฟิลิปปินส์ ถือเป็นครั้งแรกของการโจมตีด้วยโดรนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง เกิดขึ้นในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2012 เป็นปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐอเมริกาที่พุ่งเป้าโจมตีแกนนำกลุ่มอบูไซยาฟ (Abu Sayyaf) และกลุ่มญะมาอะห์ อิสลามียะห์ (JI) ในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 15 คน สร้างความหวาดกลัวและความไม่พอใจให้กับคนในพื้นที่เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังทำให้เกิดการถกเถียงของฝ่ายนิติบัญญัติฟิลิปปินส์ที่ประณามการ โจมตีเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยแห่งชาติ ยิ่งไปกว่านั้นท่ามกลางความไม่พอใจดังกล่าว สหรัฐกลับประกาศแผนการเสริมโดรนประจำการในฟิลิปปินส์อีก 30 % ทั้งนี้สหรัฐมีทหารอเมริกันประจำการอยู่แล้วหลายร้อยนายในเกาะโจโล (Jolo) ซึ่งโดยข้อตกลงแล้วทหารอเมริกันจะทำหน้าที่เพียงให้คำแนะนำและให้การอบรม ด้านการทหารเท่านั้นโดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้าย ส่วนการใช้โดรน รัฐบาลฟิลิปปินส์อนุญาตเฉพาะภารกิจลาดตระเวนเท่านั้น สหรัฐไม่สามารถดำเนินการใดๆ นอกเหนือจากนี้ ดังนั้นจึงกลายเป็นข้อถกเถียงภายในประเทศว่าสหรัฐได้ละเมิดอธิปไตยของ ฟิลิปปินส์และขอบเขตหน้าที่ตามสัญญาที่ให้ไว้
โดยภาพรวมหากดูจากกลุ่มหรือประเทศเป้าหมายที่ถูกโดรนโจมตีและลักษณะของปฏิบัติ การ จะพบข้อสังเกตที่สะท้อนถึงประเด็นน่าสนใจในหลายประการ ประการแรกหากมองจากประเทศที่นำโดรนมาใช้เพื่อการโจมตีนอกอาณาเขตของตน ซึ่งได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล จะเห็นว่านอกจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสูง ในทางการเมืองระหว่างประเทศยังถือเป็นกลุ่มพันธมิตรที่ใกล้ชิดกันและมี อิทธิพลสูงในเวทีโลกในลักษณะของขั้วอำนาจหนึ่ง ประการที่สอง หากมองจากกลุ่มและประเทศเป้าหมายที่ถูกโจมตี จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศมุสลิมเกือบทั้งหมด แม้กรณีของฟิลิปปินส์จะไม่ใช่ แต่เป้าหมายของการโจมตีก็เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวมุสลิมในพื้นที่ อีกทั้งเหตุของการโจมตีก็มีสองลักษณะคือ
1) ใช้เพื่อการสงครามระหว่างประเทศหรือโค่นอำนาจรัฐของอีกประเทศหนึ่ง เช่น กรณีอัฟกานิสถาน อิรัก ลิเบีย โดยทั้งหมดเป็นประเทศที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามมหาอำนาจ
และ 2) .ใช้เพื่อโจมตีกลุ่มเคลื่อนไหวติดอาวุธในต่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มขบวนการมุสลิมทั้งนั้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกขึ้นบัญชีของสหรัฐว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายและเป็นภัย คุกคามสหรัฐ
โดยในลักษณะหลังจะเห็นท่าทีและปฏิกิริยาของรัฐบาลที่ต่างกันออกไปตามเงื่อนไข ทางการเมืองในบริบทที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ บางประเทศแสดงความไม่พอใจและประณามการโจมตีอย่างเต็มที เช่นกรณีของซูดาน แต่บางประเทศก็ไม่แสดงถึงความไม่พอใจหรือต่อต้านอย่างจริงจัง เช่น ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อิรัก เป็นต้น จึงทำให้นักวิเคราะห์มองว่าส่วนหนึ่งผู้นำอาจแอบทำข้อตกลงหรือยินยอมให้ต่าง ชาติเข้ามาปฏิบัติการในประเทศตัวเอง
ท้ายที่สุด จะเห็นได้ว่าการโจมตีในลักษณะนี้ได้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในแง่ของผลกระทบนอกจากกลุ่มติดอาวุธแล้ว ปฏิบัติการส่วนใหญ่ยังทำให้ประชาชนพลเรือนทั่วไปเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากการโจมตีทางอากาศไม่สามารถแยกแยะระหว่างผู้บริสุทธิ์กับกลุ่มติด อาวุธ สิ่งที่ตามมาคือกระแสความโกรธแค้นของประชาชนในประเทศนั้นๆ ที่สำคัญเป็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายกฎหมายระหว่างประเทศอยู่ในขณะนี้

ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ