เด็กไทยเจ๋ง! คว้ารางวัล “อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม” ระดับเอเชีย

นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คว้ารางวัล “โครงการริเริ่มด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม” ระดับเอเชีย จากผู้เข้าร่วมกว่า 100 โครงการทั่วเอเชีย

รศ.ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ รองคณบดีฝ่ายแผน วิจัย กิจการพิเศษและประกันคุณภาพ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า คณะนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง และหลักสูตรนานาชาติ สาขาวิชาการจัดการมรดกสถาปัตยกรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยว ได้นำเสนอโครงการว่าด้วยการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมบนโลกร่วมสมัยเพื่อส่งผ่านคุณค่าไปยังอนาคตและตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ Asian Cultural Heritage Youth Forum 2024 ระหว่างวันที่ 1-5 ตุลาคม พ.ศ. 2567 เมืองกูจิง รัฐซาราวัค สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยมีตัวแทนจากประเทศต่างๆ ส่งข้อเสนอเข้าร่วมกว่า 100 โครงการจากทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย

รศ.ดร. เกรียงไกร กล่าวต่อว่า คณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบ และได้รับทุนสนับสนุนให้เดินทางไปนำเสนอที่ Asian Cultural Heritage Youth Forum 2024 สหพันธรัฐมาเลเซีย จำนวน 2 โครงการ ซึ่งมีข้อเสนอที่ได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 20 โครงการ มีเยาวชนจากภูมิภาคเอเชีย 22 ประเทศ จำนวน 100 คน เข้าร่วมการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ในโครงการริเริ่มเพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมที่อยู่ในภาวะเสี่ยงให้ยังคงรักษาคุณค่า และส่งผ่านต้นทุนไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต ภายใต้การสนับสนุนและความร่วมมือระหว่าง China Cultural Relics Protection Foundation, Swinburne University of Technology, Fudan University, Sun Yat-Sen University, UNESCO Chair on Sustainable Tourism in UNESCO Designated Site และ Ministry of Tourism, Cretive Industry and Performing Arts Sarawak, Malaysia

ทั้งนี้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาไทย จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ภูฐาน ซึ่งเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และจากการนำเสนอข้อเสนอโครงการต่อสาธารณชนที่พิพิธภัณฑ์แห่งบอเนียว ได้รับรางวัล 2 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 และรางวัลข้อเสนอโครงการดีเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์ โดยมีรางวัล 20000 ริงกิตมาเลเซีย หรือประมาณ 150,000 บาท เพื่อให้เยาวชนที่ได้รับรางวัลได้พัฒนาโครงการริเริ่มนั้นให้เป็นจริงในอนาคต โดยรับรางวัลจาก โดยเข้ารับรางวัลจาก Dato Gerald Rentap Jabu, รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เยาวชน กีฬา และการพัฒนาผู้ประกอบการ (Ministry of Youth, Sports, and Entrepreneur Development) รัฐซาราวัค (Sarawak) สหพันธรัฐมาเลเซีย

ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ “From Local Wisdom to a Sea Salt-Based Construction Materials Economy for Intergenerational Sustainability” ที่มีเป้าหมายในการทำงาน 2 มิติ คือ การรักษาภูมิทัศน์วัฒนธรรมและอุตสาหกรรมการผลิดเกลือทะเลแบบโบราณที่จังหวัดสมุทรสงคราม และการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างโอกาสให้กับชุมชนท้องถิ่น ด้วยการสร้างด้วยข้อเสนอโครงการเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้างจากเกลือ ตลอดจนวัสดุเหลือใช้ และขยะจากท้องทะเล ซึ่งมีคณะทำงาน คือ ภูมิภัทร์ นรภูมิพิภัชน์, ณัฐกร อุตรารัชต์กิจ, เกียรติศักดิ์ เพ็งเล็งดี , Pham Le Gia Huy, และ Sainan Han

รางวัลข้อเสนอโครงการดีเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์ ในโครงการชื่อ “The Local Wisdom in Community Based Establishment” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งสร้างแพลทฟอร์มความร่วมมือในการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่ตกอยู่ในความท้าทายในระดับสากล เพื่อให้ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมสรรค์สร้างพื้นถิ่น ที่ในปัจจุบันอยู่ในสภาวะเสี่ยงได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้แบบสหวิทยาการของคนรุ่นใหม่ และสร้างให้เกิดโอกาสในการอนุรักษ์มรดกสภาพแวดล้อมสรรค์สร้างพื้นถิ่นบนฐานของความร่วมมือในระดับสากล ซึ่งมีคณะทำงาน คือ จอมขวัญ สุวรรณานนท์, กุลธิดา โพนิมิต, ศศิกานต์ ชายทวีป, Eisuke Shoji และ Thinley Jamtsho Tshering

ทั้งนี้ “กุลธิดา โพนิมิตร” กล่าวว่า จากการร่วมงาน Asian Cultural Heritage Youth Forum 2024 ที่ซาราวัก มาเลเซีย ครั้งนี้ รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก การเดินทางครั้งนี้ทำให้ได้รับโอกาสและความรู้มากมาย ได้มีโอกาสในการแลกเปลี่ยนและสนทนากับเพื่อนๆต่างชาติต่างภาษา ได้รู้จักวัฒนธรรมและภาษาของชาติอื่น ได้เห็นวิธีคิดและมุมมองที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการได้เห็นวัฒนธรรมและการเป็นอยู่ของผู้คนในเมือง ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างยิ่ง ที่ได้เปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกลและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นพลเมืองโลกที่ร่วมกันขับเคลื่อนโลกไปบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน”

“ณัฐกรณ์ อุตรารัชกิจ” กล่าวว่า “การเข้าร่วมกิจกรรมเยาวชนมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชีย 2024 ที่ ซาราวัก มาเลเซีย ถือเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่งและความสำเร็จขั้นเริ่มต้นของโครงการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมชาวนาเกลือ เป็นผลมาจากการได้ก้าวออกจากกรอบความคิดของตัวเองสู่ความเป็นสากล การได้รับฟังคอมเม้นต์ของคณะกรรมการนานาชาติและความสำเร็จครั้งนี้ จุดประกายให้โครงการเพื่อชาวนาเกลือที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต ขอขอบคุณ Asian Cultural Heritage Foundation ที่มอบโอกาสให้ได้พิสูจน์ความคิดต่อความเป็นสากล ความร่วมมือจากชุมชน สมาชิกในกลุ่มที่ยอดเยี่ยม และผู้จัดกิจกรรมเยาวชนมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชีย หากขาดการสนับสนุนดังกล่าวคงมิอาจประสบความสำเร็จไปได้”

ขณะที่ “เกียรติศักดิ์ เพ็งเล็งดี” “การได้รับโอกาสเดินทางที่เมืองกูจิง มาเลเซีย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ และเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของพื้นที่ ตลอดจนได้เรียนรู้มรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเรือนยาวที่เป็นตัวอย่างที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ทำให้เกิดความรัก ความเข้าใจ และการเคารพในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คน”

ด้าน “Pham Le Gia Huy” กล่าวว่า “การเข้าร่วมในกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดจนความคิดเห็น และข้อแนะนำอันมีค่าจากผู้เชี่ยวชาญและเพื่อนร่วมงานจากต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปประยุกต์ใช้กับงานมอบหมายและงานวิจัยในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังได้สร้างมิตรภาพระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อร่วมกันสร้างความร่วมมือในอนาคตในการอนุรักษ์ และการส่งผ่านคุณค่าของมรดกวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ในครั้งนี้จึงน่าตื่นเต้น สร้างสรรค์ และน่าจดจำอย่างแท้จริง ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้จัด และเพื่อนในคณะทำงานที่มุ่งมั่นในการทำงานที่ทำให้พวกเราประสบความสำเร็จในครั้งนี้”