หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง จนถึงวันนี้เป็นเวลาสองเดือนเต็มที่หลายหน่วยงานต้องเข้ามาร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (พีทีทีจีซี) ต้นเหตุของเรื่อง ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของอ่าวพร้าว และบริเวณโดยรอบเกาะเสม็ด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในหมู่นักท่องเที่ยวให้กลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งปฎิเสธไม่ได้ว่างานนี้ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูธรรมชาติบริเวณอ่าวพร้าว นานนับปี และจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องด้วย
แต่ ที่ฟื้นฟูได้ยากยิ่งกว่าก็คือ ความมั่นใจของนักท่องเที่ยว ซึ่งปรากฏว่า แทนที่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยาดกลัว แต่กลับเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยเองมากกว่าที่หวาดกลัวและไม่มั่นใจในการมา เที่ยวเกาะเสม็ด อันเป็นผลมาจากข่าวคราวที่เผยแพร่ออกมาทางโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คมีความรุนแรงจน เกินไปจากความเป็นจริงที่มีอยู่ในพื้นที่ กระทั่งก่อผลกระทบอย่างมากมายต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไม่เฉพาะแค่บนเกาะ เสม็ดเท่านั้น แต่ยังกระทบไปทั้งจังหวัดระยองอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต ร้านค้าร้านอาหาร กลุ่มประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่เกาะเสม็ด ถึงกับโอดครวญว่า ช่วงเวลานี้แม้เป็นช่วงที่ไม่ใช่หน้าท่องเที่ยวแต่เมื่อก่อนก็ยังอยู่ได้ แต่ ณ เวลานี้แทบจะเรียกว่าเป็นเกาะร้าง!
คำถามก็คือ แล้วข้อเท็จจริงในวันนี้ สภาพของเกาะเสม็ดเป็นอย่างไรกันแน่?
ทีม ข่าวได้มีการลงพื้นที่ร่วมค้นหา “ความจริง” กับคณะทำงานและทีมนักวิจัยของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ที่เข้าไปทำงานสำรวจและศึกษาระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขา แหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด มานานหลายปีแล้ว ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่ว จนมาถึงช่วงที่เกิดเหตุไปจนกระทั่งหลังเหตุการณ์ ทีมงานของ ดร.ธรณ์ จึงมีความชำนาญในพื้นที่ท้องทะเลย่านนี้ แต่การปฎิบัติหน้าที่เข้มข้นกว่าเดิมมาก ทั้งการติดตามผล และการฟื้นฟูอ่าวพร้าว รวมถึงบริเวณโดยรอบเกาะเสม็ดมาตลอดสองเดือนที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง
“อ่าว พร้าว” นั้นถือเป็นหาดที่มีขนาดเล็กมากของเสม็ด หากวัดความยาวจากหน้าหาดด้านเหนือไปจรดด้านใต้ มีความยาวเพียง 200 เมตรเท่านั้น ดร.ธรณ์ กล่าวว่า จุดที่มีปัญหาจริงๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันดิบรั่วแบบเต็มๆ คือ บริเวณด้านใต้ของหาด ส่วนด้านเหนือหาดผลกระทบมีน้อยกว่า
“ช่วง แรกของการลงสำรวจ เราพบว่ามีปริมาณสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนสูงในบริเวณอ่าวพร้าว เนื่องจากคราบน้ำมันที่เข้ามาสะสม แต่จากการสำรวจต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เราพบว่าปริมาณไฮโดรคาร์บอนลดลงตามลำดับ แต่ก็อยากให้ติดตามการแถลงของกรมควบคุมมลพิษเป็นหลัก ในส่วนของทีมผมได้มีการสำรวจสารปนเปื้อนในน้ำทะเลโดยรอบเกาะเสม็ด เช่น สารปรอท ตอนนี้ไม่พบว่ามีค่าปนเปื้อนเกินมาตรฐาน จึงสรุปได้ว่าไม่มีปัญหาต่อการเล่นน้ำบริเวณทะเลระยอง รวมถึงยังไม่พบว่า มีการปนเปื้อนของสารที่เป็นอันตรายในสัตว์น้ำที่ใช้บริโภคเกินเกณฑ์มาตรฐาน ข้อมูลที่เราได้ไม่ใช่เฉพาะที่เราไปสำรวจเองเท่านั้น แต่มีการรวบรวมจากหลายส่วนด้วย โดยเฉพาะของกรมประมง จึงสรุปว่าสามารถกินอาหารทะเลจากระยองได้ครับ” ดร.ธรณ์ ยืนยัน
ทีม สำรวจและวิจัยของ ดร.ธรณ์ ได้มีการศึกษาระบบนิเวศในบริเวณอ่าวพร้าว และโดยรอบเกาะเสม็ดอย่างรอบด้าน ครอบคลุมระบบนิเวศ 6 แบบ ได้แก่ มวลน้ำ พื้นท้องทะเล หาดทราย หาดหิน แนวปะการัง และแหล่งหญ้าทะเล โดยเน้นในบริเวณที่คราบน้ำมันเคลื่อนผ่าน เป็นพื้นที่กว่า 50 ตารางกิโลเมตร พบความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศหาดทราย หาดหิน และแนวปะการังในบริเวณอ่าวพร้าว ยังพบด้วยว่า กลุ่มปะการังน้ำตื้นทางด้านใต้ของอ่าวแสดงอาการ “ฟอกขาว” ในช่วงแรก เมื่อคณะนักวิจัยได้สำรวจในรายละเอียดของพื้นที่อ่าวพร้าว และบริเวณใกล้เคียง ความเปลี่ยนแปลงที่พบคือ การฟอกขาวของปะการัง เป็น “ภาวะฟอกขาวแบบเฉียบพลัน” ซึ่งเพียง 2-3 วันหลังคราบน้ำมันเข้าหาดก็แสดงอาการฟื้นตัว แต่มีบางจุดที่ตายไป และมีสาหร่ายขนาดเล็กขึ้น แสดงให้เห็นว่า ภาวะปะการังฟอกขาวเฉียบพลันได้ผ่านพ้นไปแล้ว

อย่างไร ก็ตาม ดร.ธรณ์เผยว่า “นับจากนี้ไปจำเป็นต้องมีการติดตามในระยะยาว เพื่ออธิบายการฟอกขาวในลักษณะนี้ ให้เป็นบทเรียนหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวในอนาคต แต่ก็อยากเรียนว่า จุดที่มีปัญหาจริงๆ จากเหตุการณ์นี้มันเป็นพื้นที่ซึ่งเล็กมาก แค่ตรงอ่าวพร้าวด้านทิศใต้ ซึ่งอ่าวนี้ไม่ใช่แหล่งเที่ยวหลักๆ ยอดฮิตของเสม็ดอยู่แล้ว เพราะเป็นหาดส่วนตัว ขณะที่หาดอื่นมีนักท่องเที่ยวมากกว่า ได้รับความนิยมมากกว่า ถ้าเกิดตรงนั้นจะส่งผลกระทบกว่านี้มาก อีกอย่างทะเลบริเวณอ่าวพร้าวก็ไม่ใช่พื้นที่ซึ่งเขาทำประมงกัน ไม่มีใครไปจับปลากันตรงนั้นอยู่แล้ว และก็ไม่ใช่จุดดำน้ำที่นักท่องเที่ยวเขาไปดำกัน ดังนั้นการปิดอ่าวพร้าวเพื่อการฟื้นฟู ผมถือว่าเป็นการดีในแง่ของการดูแลระบบนิเวศ ไม่ให้ช้ำไปกว่าเดิม ไม่น่ากระทบต่อหาดหรืออ่าวอื่นบนเกาะเสม็ดซึ่งสามารถไปเที่ยวกันตามปกติได้ เพราะไม่เกี่ยวกันเลย พอผู้ที่ไม่รู้ข้อมูลจริงๆ ออกมาพูดกันไป ก็เลยกลายเป็นเสม็ดแย่แล้วทั้งเกาะซึ่งมันไม่ใช่ บรรยากาศการท่องเที่ยวก็เสียไป กระทบไปทั้งเกาะ ก็อยากพูดในมุมของวิชาการว่า สภาพโดยรวมของเสม็ดยังเที่ยวได้ ส่วนงานฟื้นฟูอ่าวพร้าวเราก็ทำควบคู่กันไป ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไปตามความรับผิดชอบที่มีกันอยู่แล้ว”
การ สำรวจของทีมวิจัย ดร.ธรณ์ ยังพบด้วยว่า ปลาในแนวปะการัง ไม่พบการผิดปกติของประชากรปลา ส่วนระบบนิเวศในบริเวณใกล้เคียง เช่น เกาะกุฎี อ่าวบ้านเพ แหล่งหญ้าทะเล ฯลฯ ไม่พบความผิดปกติของคุณภาพน้ำและแพลงก์ตอน แต่ต้องติดตามด้านพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตในน้ำซึ่งอาจมีความเปลี่ยนแปลงใน อนาคตต่อไปอย่างน้อย 1 ปี หรือจนกว่าระบบนิเวศจะฟื้นตัว ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณรอบ เกาะเสม็ด ของ “กรมควบคุมมลพิษ” โดยสรุปจากการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลมาตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์หลายครั้งตั้งแต่ เดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน ที่ผ่านมา เพื่อหาค่าความเป็นกรด-ด่าง ค่าออกซิเจนละลายน้ำ โลหะหนัก สารหนู โครเมียม โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน พบว่าทั้งหมดอยู่ในระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ส่วนค่าปรอท และค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน พบว่าอ่าวและชายหาดรอบเกาะเสม็ดเกือบทุกหาดมีค่าอยู่ระหว่าง 0.05-0.29 ไมโครกรัมต่อลิตร (ค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 1 ไมโครกรัมต่อลิตร) ซึ่งเท่ากับว่าอยู่ในระดับปกติ มีเพียงค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเลบริเวณอ่าวพร้าวเพียงจุดเดียว เท่านั้น ที่มีค่าเกินมาตรฐาน คือ 3.30 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นการวัดตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน ซึ่งเป็นผลให้กรมควบคุมมลพิษ และกรมป่าไม้ประกาศปิดอ่าวพร้าวและจัดการฟื้นฟูอยู่ในขณะนี้ ส่วนคุณภาพน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งจ.ระยอง ประชาชนและนักท่องเที่ยวสบายใจได้ เพราะผลการตรวจสอบจากกรมควบคุมมลพิษพบว่า คุณภาพน้ำทะเลอยู่ในค่ามาตรฐาน
อย่างไร ก็ตามจนถึงขณะนี้ กรมควบคุมมลพิษ ยังไม่มีการประกาศแจ้งผลการวิเคราะห์น้ำทะเลบริเวณอ่าวพร้าวครั้งล่าสุดออก มาแต่อย่างใด จึงส่งผลให้เกิดความคลุมเครือในหมู่ผู้ประกอบการบนเกาะ และยังคงสร้างความไม่มั่นใจในกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยอยู่ แม้ว่าผลการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์จะปรากฎออกมาชัดเจน ทุกฝ่ายก็น่าจะคลายกังวลลงได้ แต่การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะข่าวสารที่กระจัดกระจายไร้ข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้เกิดข่าวลือมากมายจนส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดที่ถึงขั้นวูบ มีเพียงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวกันบางตาในหาดหลักๆ เช่น หาดทรายแก้ว อ่าววงเดือน เป็นต้น นางรำภา ฟุ้งเฟื่อง ชาวระยองเจ้าของ “แสงเทียน บีช รีสอร์ต” บนเกาะเสม็ด เปิดใจกับทีมข่าวถึงกรณีนี้ว่า
“ผลก ระทบกับโดยตรง ไม่ได้อยู่ที่สภาพแวดล้อมหรือธรรมชาติที่นี่ แต่เป็นข่าวมากกว่าที่ทำให้คนกลัวเกินจริง ทำให้ตอนนี้ถึงแม้จะไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว แต่เมื่อก่อนรีสอร์ตเราเคยมีคนเข้าพักตลอด รีสอร์ตมีห้องพัก 50 ห้อง อย่างไม่มีๆ ช่วงโลซีซั่นก็ยังขายได้เป็นสิบห้อง แต่ตอนนี้ลูกค้าหายไปหมดเลย ไม่มีสักห้อง ก็อยากให้ภาครัฐช่วยโปรโมทท่องเที่ยว ให้กรมป่าไม้ช่วยเปิดฟรีค่าธรรมเนียมเข้าเกาะสัก 3-6 เดือนเพื่อดึงคนเข้ามาเที่ยว ส่วนกรมสรรพากรก็อยากให้ช่วยลดหย่อนภาษีโรงเรือนให้พวกเราด้วย ค่าเช่าที่ดินก็อยากให้กรมธนารักษ์ช่วยผ่อนปรนให้ในช่วงเวลาที่เรากำลัง ลำบากนี้ ในส่วนของ ปตท.ก็ได้ช่วยเรื่องเงินเยียวยามาแล้วในช่วงแรกที่เกิดเหตุ คือช่วงเดือนสิงหาคม ก็ขอบคุณมากที่ช่วยเรา แต่ว่าในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการก็ยังโดนผลกระทบอยู่ อย่างที่บอกว่ามันเงียบมาก ไม่มีลูกค้าเลย เราขาดทุนเพราะยังต้องเลี้ยงลูกน้องหลายชีวิต ก็อยากจะให้ ปตท.ช่วยเงินเยียวยารอบ 2 มาให้อีกในส่วนของเดือนกันยายน ที่สำคัญคืออยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างกรมควบคุมมลพิษประกาศออกมาให้ ชัดเจนเลยว่า เกาะเสม็ดปลอดภัยมาเที่ยวได้ หรือไม่ปลอดภัยจุดไหนบ้าง ความจริงหาดอื่นๆ ในเสม็ดไม่มีปัญหาเลย เรื่องอาหารการกินโดยเฉพาะอาหารทะเล รับรองว่าไม่มีปัญหา กุ้ง หอย หมึก ปลา ปู ติดคราบน้ำมันมาหรือไม่มันดูง่ายมาก แค่ผ่าท้องออกดู ถ้าติดน้ำมันมาก็เห็นแล้ว เราก็กินของเราทุกวัน มันไม่ได้น่ากลัวแบบที่พูดๆ กันเลย พอพูดกันมากๆ กลายเป็นพวกอาหารทะเลจากระยองนี่ขายไม่ได้เลย คนกลัวกันหมด กระทบกับคนทำประมง คนที่เอามาขาย เรียกว่าขายไม่ออก วางเหลือกันทุกเจ้า จนต้องเอามาทำปลาเค็ม เอามาตากแห้งกัน….ลำบากมากๆ”
ความ เดือดร้อนของกลุ่มประมงพื้นบ้านดังกล่าว มีเสียงสะท้อนออกมาเป็นระยะ ล่าสุด นายจตุรัส เอี่ยมวรนิรันดร์ นายกสมาคมพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยอง และกลุ่มชาวประมงชายฝั่งอ่าวไทยกว่าร้อยคน ได้ไปยื่น “แผนการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้ผลกระทบจากน้ำมันรั่ว ฉบับประชาชน” แก่ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งรับผิดชอบดูแลกรมประมง เนื่องจากทางกลุ่มประมงพื้นบ้านเห็นว่าที่ผ่านมา บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรมเพียงพอ โดยกลุ่มดังกล่าวชี้ว่า บริเวณที่คราบน้ำมันดิบปนเปื้อน และพื้นที่ที่ฉีดสารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน น่าจะเป็นพื้นที่อันตรายที่สุด ชาวบ้านมีความกังวลว่า อาจมีสารเคมีอันตรายที่ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ ทั้งนี้กลุ่มประมงได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนชายฝั่งและชาวประมง” ด้วยการส่งเสริมอาชีพจนกว่าวิถีชีวิตจะคืนสู่สภาพปกติ
“รัฐบาล และ PTTGC ควรแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและใส่ใจมากกว่านี้ ต้องมีการตั้งกรรมการฟื้นฟูขึ้นมาอย่างจริงจัง และเปิดทางให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ทุกวันนี้รายได้ของชาวประมงหายไป ปลาที่เคยจับได้ 40-50 กก.ต่อวัน ลดลงเหลือไม่ถึง 10 กก.บางวันเหลือแค่ 2-3 กก.เท่านั้น พอนำไปขายก็ไม่ได้ราคาอีก เพราะโดนกดราคาเนื่องจากผู้ซื้อไม่มั่นใจว่ามีสารปนเปื้อนหรือไม่ จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อย่างละเอียดจนมั่นใจว่าทั้งน้ำทะเล อาหารทะเลของที่นี่ปลอดภัยจริงๆ” นายจตุรัส กล่าว
ด้าน นายชัยรัตน์ ไตรรัตน์จรัสพร นายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง ให้ข้อมูลว่า “ปกติช่วงนี้เป็นช่วงโลซีซั่นอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวก็น้อยเป็นปกติทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวภายในประเทศหรือจากต่างประเทศ แต่ว่าสำหรับระยองพอมีเหตุการณ์นี้มันเลยทำให้เงียบลงไปอีก เราก็พยายามเร่งฟื้นฟูกันอยู่ให้นักท่องเที่ยวเกิดความเชื่อมั่นและกลับมา เที่ยว ในปีหน้าก็คาดหวังว่ามันจะดีขึ้น แต่เนื่องจากว่าข่าวที่ออกไปมันค่อนข้างรุนแรง ในความเป็นจริงคือ เกาะเสม็ดมีแค่อ่าวพร้าว…อ่าวเดียวเท่านั้นที่มีปัญหา แต่อ่าวหรือหาดอื่นไม่มีปัญหาเลย ยังสามารถไปเที่ยวกันได้ตามปกติทุกหาด สมาคมฯเราพยายามเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวกลับคืนมา อย่างปลายกันยายนที่ผ่านมา ทางสมาคมฯได้เชิญเอเย่นต์ท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศ สมาคมจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และเกาหลี ทั้งหมด 560 คน มาร่วมทริปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะเสม็ด มีการทานอาหารทะเลกัน พาเอเย่นต์ไปดูน้ำทะเลว่ามันใสสะอาดแล้วจริงๆ แล้วเราก็มีการซื้อขายแพคเกจท่องเที่ยวเสม็ด ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจซื้อแพคเกจกันมาก ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะเขาได้มาเห็นสภาพจริงว่ามันไม่มีอะไรอย่างที่เป็นข่าว แล้วเราก็มีแพคเกจแถม อย่างนักท่องเที่ยวกลุ่มจีนที่ได้ชื่อว่าอ่อนไหวเรื่องพวกนี้มาก แต่เขาก็ยังซื้อทัวร์มาเที่ยวกันอยู่ อย่างที่อ่าววงเดือน หาดทรายแก้ว ตอนนี้ก็ยังมีนักท่องเที่ยวจีนมาเล่นน้ำกันเป็นปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เลย“
นายก สมาคมท่องเที่ยวระยอง เผยว่า “ช่วงนี้เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการก็คือ ผลกระทบจากความไม่มั่นใจในการมาเที่ยวทำให้การท่องเที่ยวเสม็ดตกลงไปเยอะมาก สมาคมฯ พยายามจะเดินสายไปบอกความจริงให้ทราบโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในประเทศเราเอง นี่แหละที่หวาดกลัวมากกว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุดผมมองว่า ปตท.ในฐานะที่เป็นต้นเหตุจะต้องช่วยสนับสนุนในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่าง ต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่เสียไปครั้งนี้จะเรียกกลับคืนมามันก็ยาก สิ่งที่ควรทำตอนนี้ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวจะในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม ขอให้ทำอย่างต่อเนื่อง อย่าเพิ่งหยุด ทำต่อไปจนแน่ใจแล้วว่าการท่องเที่ยวมันกลับคืนมาจริงๆ แล้วค่อยชะลอลงไป ตอนนี้อยากให้ ปตท.และภาครัฐทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันก่อน ช่วยเป็นปากเสียงให้ชาวระยองว่า ปัจจุบันนี้ระยองคืนสู่สภาพปกติแล้ว ผู้เกี่ยวข้องต้องช่วยออกมาพูด ออกมาการันตีเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เราได้มั่นใจว่า เราขายการท่องเที่ยวได้จริงๆ ตรงไหนไม่ได้ก็บอกเรามาให้ชัดว่าไม่ได้ เราจะได้หยุดโปรโมทตรงจุดนั้น ตรงไหนที่ได้ก็ชี้แจงกันมาตรงๆ ”
ส่วน ผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่เกาะเสม็ด อย่างหัวหน้าอุทยานเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด นายสุเมธ สายทอง เผยข้อเท็จจริงว่า “พูดถึงในช่วงนี้ มันเป็นปกติที่นักท่องเที่ยวจะน้อยอยู่แล้ว เพราะเป็นช่วงฤดูมรสุม แต่ก็มีบ้างที่ตื่นตระหนกจากการที่มีข่าวออกไปเรื่องคราบน้ำมัน แต่ชาวต่างชาติเขาจะมีความเข้าใจในเรื่องพวกนี้ ก็ยังมาเล่นน้ำกันในอ่าวอื่นๆ ตามปกติเหมือนเดิม ใช้ชีวิตกันตามปกติเหมือนเดิม แต่ที่ตื่นตระหนกจะเป็นในหมู่นักท่องเที่ยวไทยซะส่วนมาก ต่างชาติไม่เท่าไหร่ ซึ่งอาจมาจากการที่ได้รับข่าวสารที่คลาดเคลื่อนว่า ปิดหมดทั้งเกาะ ที่จริงไม่ใช่ เราปิดแค่อ่าวพร้าวแค่อ่าวเดียว ซึ่งเป็นอ่าวที่เล็กมาก แล้วก็อยู่ทางฝั่งตะวันตกซึ่งไม่ได้เป็นที่นิยมเที่ยวกันอยู่แล้ว ปกตินักท่องเที่ยวก็ไม่ค่อยจะมาที่อ่าวนี้ ปริมาณนักท่องเที่ยวจึงน้อยกว่าหาดอื่นมาก เนื่องจากเป็นอ่าวส่วนตัว มีรีสอร์ตที่เช่าที่จากกรมธนารักษ์ อยู่แค่ 2 แห่งเท่านั้นเอง ส่วนมากนักท่องเที่ยวจะนิยมเที่ยวกันทางทิศตะวันออก อย่าง หาดทรายแก้ว อ่าววงเดือน อ่าวช่อ อ่าวไผ่ พวกนี้ ตอนนี้ทางอุทยานฯ ก็พยายามดูแลสำรวจเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวในจุดของอ่าวพร้าว เราก็ปิดไว้ก่อน ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็มีการทำแผนเพื่อฟื้นฟูเยียวยา กันอยู่แล้วในเรื่องของทรัพยากรที่นี่ เพราะฉะนั้นภาพโดยรวมของเกาะเสม็ดจึงไม่มีอะไรน่าวิตกมาก”
ใน มุมของเอ็นจีโอในพื้นที่ อย่าง นายฐิติพงษ์ นวลมณี นายกสมาคมสิ่งแวดล้อมเพื่อสิทธิมนุษยชน มองว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ถ้ามองในแง่การฟื้นฟูเสม็ด ทุกฝ่ายก็ทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่ปัญหาอยู่ที่การพูดกันไปพูดกันมาของคนนอกพื้นที่ หรือกลุ่มที่ไม่ได้มาเห็นพื้นที่จริงแต่พูดกันไปก่อนแล้ว จนวันนี้ส่งผลให้สะเทือนเป็นลูกโซ่ไปทั้งเกาะ อย่างกลุ่มประมงเขาก็เดือดร้อน ยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยว พอเกิดปัญหาคนก็ไม่มาเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรมรีสอร์ต ร้านค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิงลูกจ้าง คนรับจ้างทั่วไปบนเกาะก็กระทบหมด ถามว่าแล้วสิ่งแวดล้อมมันเสียหายย่อยยับไปจากเหตุการณ์นี้เลยหรือ? ความจริงก็คือ เกาะเสม็ดก็มีปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เช่น ในเรื่องของขยะ เรื่องของคราบน้ำมันจากเรือประมง ซึ่งก็เป็นปัญหาที่พบทั่วไปในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล และแหล่งประมง เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ต้องแก้ไขกันต่อไป ส่วนเรื่องของการฟื้นฟูอ่าวพร้าวจากคราบน้ำมันก็มีหน่วยงานของ ดร.ธรณ์ ที่เข้ามาสำรวจและศึกษาผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทางอุทยานฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ผมก็เห็นทางหัวหน้าอุทยานลงมาดูแลอยู่ตลอด เชื่อว่าปีหน้านี้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ความคึกคักของเกาะเสม็ดจะต้องกลับมาแน่นอน”
เขา ปิดท้ายด้วยประโยคน่าคิดว่า “ขอแค่อย่าให้กลายเป็นว่า มีแต่คนต่างชาติที่เข้าใจจึงเข้ามาเที่ยว แต่คนไทยด้วยกันเองกลับไม่พยายามเข้าใจ เชื่อแต่ข่าวลือทั้งที่ยังไม่ได้มาเห็นหาดสวยทะเลใสกับตาตัวเองเลย เสม็ดจะฟื้นหรือไม่จึงอยู่ที่คนไทยนี่แหละ ถ้าระแวงจนไม่มาเที่ยวกัน แล้วจะไปหวังให้ชาวต่างชาติเขามาเที่ยวบ้านเราได้อย่างไร?”